xs
xsm
sm
md
lg

“เอนก เหล่าธรรมทัศน์” : รัฐบาลต้องเปิดให้ทำธุรกิจ ส่วนปัญหาไวรัส ก็สู้กันไป

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากสถานการณ์การระบาดของ ‘โรคโควิด-19’ ที่ส่งผลเสียทางด้านเศรษฐกิจไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยที่ก็โดนผลกระทบจากมันไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ มากมายตามมาด้วยเช่นเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตามที ชีวิตก็ต้องมีการเดินหน้าต่อไป รวมถึงในภาคของธุรกิจ ที่จะต้องต่อสู้กับไวรัสดังกล่าวให้จงได้ โดยทาง ศ.ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ นักวิชาการ และกรรมการบริหารพรรครวมพลังประชาชาติไทย ก็ได้ให้ทรรศนะต่อเรื่องดังกล่าวในสภาวการณ์ ณ ขณะนี้ โดยรวมว่า ยังไงก็ต้องเดินหน้าสู้กันต่อไป ไม่ว่าจะเป็นช่องทางใดก็ตามที...

ขณะนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหาสู้กับไวรัส ของรัฐบาล ในมุมมองของอาจารย์ คิดว่าเป็นยังไง

ดูจากสถิติเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ก็คงจัดว่าเป็นประเทศที่ทำได้ดีที่สุดประเทศหนึ่งในโลก เพราะว่าผู้ติดเชื้อไม่มาก แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือคนตายน้อยมาก ซึ่งสหรัฐอเมริกามีคนตายเป็นหมื่น ประเทศต่างๆ ของทวีปยุโรป หรือว่ากลับมาที่ทวีปเอเชีย ประเทศที่คนยกย่องมากอย่างประเทศญี่ปุ่น และสิงคโปร์ก็ไม่ได้ดีกว่าเรา เพราะตัวเลขมันฟ้องอยู่ เพราะฉะนั้นของเรามันก็เหมือนกับสังคมไทย หรือรัฐบาลไทย ทำอะไรก็เหมือนว่าจะไปไม่รอด มันจะไปไหวหรือเปล่า แต่ว่าพอทำทำเข้าไปมันก็ไปรอด คือมันก็ไม่ใช่ความเก่งของรัฐบาลอย่างเดียว แต่เป็นรัฐบาลที่รู้กาละ รู้ว่าเวลานี้บ้านเมืองไม่ปกติ ก็ทิ้งไปหมดวิชาบริหารประเทศ มีแต่นายกฯ คนเดียว หรือมีแต่คณะรัฐมนตรีเท่านั้น ก็กลายเป็นในเบื้องต้นก็รวบรวมเอาหมอ เอาพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เก่งๆ ข้าราชการที่เก่งๆออกมาเป็นแนวหน้า แล้วก็มีโฆษกซึ่งก็เป็นหมออีก มันก็ทำให้เริ่มมาทางที่ถูกแล้ว ให้คนที่เก่งและเป็นให้เขาได้ทำ ตอนนี้ผมว่าก็ทำถูกแล้ว

แล้วก็มีข่าวว่าจะเชิญนักธุรกิจใหญ่ของประเทศ 20 คน ซึ่งผมว่าอาจจะขยายเป็น 50 หรือ 100 คนก็ได้ แต่ว่าถ้าจะมีการประชุมหรือคุยกันครั้งแรก น่าจะคุย 20 คนก่อน แต่ก็มีประเด็นที่น่าตื่นเต้นดี เอามหาเศรษฐีมาช่วยกันคิด ผมคิดว่าเขามีความรู้และประสบการณ์ที่จะมาช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจกันทั้งนั้น ถ้ารัฐบาลทำเองผมว่าจะทำไม่ถูก ทำไม่เป็น

แต่ประเด็นหนึ่งที่น่าคิด คือ การเอาหมอในประเทศไทยที่เป็นผู้เชี่ยวชาญโรคระบาดต่างๆ มานั่ง ครม.ใหม่เลย ตรงนี้มันสะท้อนให้เห็นถึงพื้นฐานระบบสาธารณสุขของบ้านเรา ดีใช่มั้ยครับ

ดี ดีมาก แต่ว่ามันไม่ได้ดีมาอย่างงี้ตลอดนะครับ ตอนผมยังเด็กๆโรงพยาบาลรักในบางจังหวัด ยังไม่มีหมอเลย พอผมมาเริ่มรู้อะไรมากเข้า เขาพยายามให้ทุกอำเภอมีหมอ 1 คน แล้วก็มาเรื่อยๆจนมาถึงในปัจจุบัน แพทย์และการสาธารณสุขของเราจัดว่าดีทีเดียว แล้วก็ความรู้ของเราทางการแพทย์ก็จัดว่าอยู่ในระดับโลก ผู้แทนของเราใน who ก็ถือว่ามีบทบาทมาก เพราะฉะนั้นในประเทศไทย ผมกำลังจะบอกว่า ในประเทศไทยที่เราอยู่รอดกันได้เพราะว่า รัฐบาลมีส่วนไหมก็มี แต่ว่ารัฐบาลอาจจะดีบ้างไม่ดีดีบ้างไม่เป็นปัญหามากนัก เพราะว่าพื้นฐานเดิมของคนไทย มันดีอยู่แล้ว เช่น หมอ สาธารณสุข ข้าราชการของเราส่วนใหญ่ก็ใช้ได้ จนถึงเก่งมากๆ ธุรกิจเอกชนของเราก็ถือว่าเก่งมากๆ แล้วก็ภาคสังคมของเราก็ถือว่าเก่งมากๆ ดีมากๆ เที่ยวนี้เราก็เห็นว่า อสม. เป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ ตอนที่เขาเริ่มทำอสมผมก็รู้เรื่องอยู่ด้วยเลย ก็ไม่เคยคิดเลยว่า อสม. จะเก่งขนาดนี้

แล้วคนไทยในยามปกติก็ไม่แสดงใจที่ใหญ่ออกมาให้เห็น แต่ว่าเวลาที่วิกฤตขึ้นมาทีไร อย่างที่มีคำกล่าวว่ากรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี พอเวลาที่เกิดวิกฤตคนไทยก็เป็นคนดี เป็นคนกรุงศรีออกมาทั้งหมด อย่างตอนที่ผมขับรถแถวทองหล่อ ผมขับผ่านร้านอาหารคนรวยที่ขายอาหารฝรั่งแพงๆ เขาก็ทำข้าวห่อมาแจกวินมอเตอร์ไซค์ แจกแท็กซี่ คือมันเป็นประเทศที่คนใจใหญ่ แต่ว่าต้องมีวิกฤตหรือความลำบากก่อน แล้วเราจะรู้กาละ มาสามัคคี ในวาระเดียวกัน ผมคิดว่ามันเป็นภาพที่งดงาม เราเป็นชาติที่มีวินัยนะครับไม่ใช่ไม่มี หมายความว่าอย่ามาบังคับผมมากนัก แต่ถ้าเวลาลำบาก เวลาจำเป็น พวกผมมีวินัย อย่างสื่อมวลชนจากญี่ปุ่นมาถ่ายรูปคนไทย เขาก็ถึงนะครับเวลาคนไปนั่งรอรถขนส่งที่จะข้ามจังหวัด ก็มีการนั่งกันตามที่ขนส่งกำหนดให้ ต้องห่างกันกี่เมตร ซื้อข้าวซื้อของก็มีระยะห่างกัน 2 เมตร คนที่เอาของก็หยิบไม้ยาวๆยื่นให้คนซื้อ มันมีระเบียบวินัยมาก แล้วก็พระก็ทำอาหารมาแจก อย่างพระเวลาปกติก็จะรับบิณฑบาตจากของที่ประชาชนนำมาถวาย แต่เวลาลำบากเราเห็นน้ำใจของพระคุณเจ้าใหญ่มาก ท่านก็เอาอาหารมาแจกให้กับประชาชน แถมหยิบเงินมาให้คนละ 20 บาทด้วย


อันนี้คือรูปแบบพิเศษของสังคมไทย

ผมว่าพื้นฐานสังคมไทยมันดีมากแล้ว แต่ว่าที่ผ่านมาเรามัวแต่ไปดูเรื่องรัฐบาล ซึ่งผมว่ามันก็มีอะไรที่จริงอยู่แต่ก็ไม่จริงทั้งหมด และที่สำคัญคนยังไว้วางใจรัฐบาล อาจจะไม่ชอบ บางคนรับเงิน 5,000 บาทมา ยังบ่น แต่ว่าไว้ใจ บอกให้ทำอะไรก็ทำ ผมเห็นบ่นว่านายกเยอะแยะ แต่พอนายกประกาศว่าห้ามออกนอกบ้าน ก็มีน้อยคนที่จะออกนอกบ้าน หรือให้มารับเงินก็มารับ ก็รู้ว่าเป็นสิทธิ์อันชอบธรรมของพลเมือง รัฐมีหน้าที่ที่จะต้องดูแลพลเมืองในยามยากลำบาก แต่ว่า ความนิยมรัฐบาลอาจจะไม่มีก็ได้ ยังชอบใครคนเดิมของเขาซึ่งไม่ใช่รัฐบาล ก็ไม่เป็นไรก็ไม่ว่าอะไรกัน ซึ่งมันก็ดำเนินไปได้ แต่ก็ไม่ได้ราบรื่นซะทีเดียว

ตอนนี้ก็ใกล้เวลาที่จะครบกำหนด พรก. ฉุกเฉินแล้ว อาจารย์เห็นว่าหลังจากวันที่ 26 เป็นต้นไป รัฐบาลควรจะกำหนดการล็อคเมือง กำหนดกฎเกณฑ์อะไรต่างๆ หรือผ่อนคลายมั้ย เพราะอาจารย์ก็เห็นแล้วว่า คนไทยก็ให้ความร่วมมือ มีวินัย ในการต่อสู้กับไวรัสโควิดแล้ว

โดยทั่วไปก็ควรจะผ่อนคลาย แต่ว่าไม่ใช่ผ่อนคลายตามใจของรัฐบาลหรือประชาชน ต้องถามความเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิว่าผ่อนคลายแบบนี้มั้ย แต่ว่าต้องผ่อนคลายนะครับ เราไม่สามารถที่จะล็อคประเทศ หรือ ล็อคเมืองแบบนี้ได้ตลอดไป ขณะนี้ เพื่อตัดปัญหาตัดไฟแต่ต้นลม ควรที่จะทำให้ทำธุรกิจได้มั้ย

ธุรกิจไหนที่ต้องให้เปิดก็ต้องเปิด ผมคิดว่างั้น แต่ว่ามันมีรายละเอียดไง ซึ่งขอให้รัฐบาลและภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้มีเวลาคิดสักหน่อยนึง ก็เร่งคิดนะครับไม่ใช่มีเวลามากมาย แต่ว่าปล่อยมาแล้วสิ่งที่เราทำไว้จะไม่เสียหายไป ไม่ใช่ปล่อยแล้ว เป็นแบบสิงคโปร์และญี่ปุ่น ปล่อยแล้วขึ้นมาเยอะเลย เพราะฉะนั้นเราต้องระมัดระวังสักนิดนึง แต่ผมเห็นความสำคัญของเศรษฐกิจมาก เพราะบอกว่ารัฐบาลมีเงินมาจ่ายให้ แต่ถ้าไม่มีคนมาเสียภาษีเลย เนื่องจากไม่มีการทำธุรกิจเลย แล้วมันจะเอาเงินที่ไหนมา ถ้ากู้อย่างเดียว พอกู้ไปสักพักมันก็คือความว่างเปล่าแล้ว เพราะฉะนั้นมันต้องพยายามเอากลับมา ส่วนเชื้อโรคก็สู้กันไป แล้วเราก็คงเอาชนะได้ เหมือนกับตอนที่เราเอาชนะไข้หวัดใหญ่ เอาชนะซาร์ส

ถ้ารัฐบาลช่วยเหลือเยียวยาคนที่ตกงาน คนที่ได้รับผลกระทบต่างๆ จากวิกฤตการณ์ครั้งนี้ ควรจะทำอย่างไรต่อไป

เขาก็พยายามให้ทุกกระทรวงขุดเงินที่มีอยู่มาให้นะครับ อย่างกระทรวงแรงงานที่ผมพอจะรู้เรื่องอยู่บ้าง ทางพรรคก็บริหารจัดการจนกระทั่งกองทุนประกันสังคม ก็ปล่อยเงินออกมา เรียกว่าเป็นเหตุสุดวิสัย ทีแรกตามกฎหมาย ไวรัสนี้มันไม่ใช่เหตุสุดวิสัย เหตุที่ว่าก็ต้องมาจากดินน้ำลมไฟ แต่ว่าเราก็เอาเรื่องเข้า ครม. ซึ่งทางครมมีมติเห็นว่า ไวรัสดังกล่าวนี้เป็นเรื่องสุดวิสัย ขึ้นไปถามคนทั่วไปได้เลยว่าเรื่องนี้ยังไงก็เป็นเรื่องสุดวิสัย ให้แก้กฎกระทรวง และก็เอาเงินออกมาจ่ายให้ ได้ประมาณ 7,000 ถึง 9,000 บาท ซึ่งก็ประกันตนเองอยู่ประมาณ 17 ล้านคน เหตุจากสุดวิสัยก็ไม่ต่ำกว่า 8-9 แสนครอบครัว ซึ่งมีการจ่ายเป็นรายคน หมายความว่า อย่างประเภทโรงแรมมันสุดวิสัย หรืออย่างการท่องเที่ยวและร้านอาหารก็เข้าข่ายนี้

ซึ่งอันนี้ก็ไม่ใช่เอาออกมาใช้ได้ง่ายนะครับ เพราะผู้ประกันตนที่จ่ายเงินให้ เขาก็รู้สึกว่าเป็นเงินของเขา คนที่จะได้เขาก็ดีใจ แต่ว่าคนที่ไม่ได้ หรือคนที่ไม่ได้อยู่ในเหตุสุดวิสัย เขาก็จะคิดว่าทำไมเอาเงินไปจ่ายแบบนั้น มันจะทำให้กระทบถึงความมั่นคงของกองทุนอยู่หรือเปล่า ซึ่งเราก็ต้องชี้แจงว่าชื่อกองทุน มันคือประกันสังคม คือความมั่นคงของสังคม แล้วตอนนี้มันคือความมั่นคงของสังคมไหมล่ะ มันใช่เลยล่ะ เพราะฉะนั้นมันต้องเอาเงินก้อนนี้มาใช้ แต่เราก็จะต้องระมัดระวัง ไม่ให้ไปกระทบเรื่องอื่นจนเกินไป

ส่วนในเรื่องความช่วยเหลือทั่วๆ ไป ที่ไม่เกี่ยวกับรัฐ ยังไงก็ต้องทำกัน ที่นายกจะเชิญนักธุรกิจ 20 รายใหญ่ของประเทศมา ก็ดีแล้วล่ะ เพราะว่าต้องพยายามไม่ให้มีการว่างงานมากกว่านี้ จะต้องทำยังไงให้มีการฟื้นงานขึ้นมา ถ้างานแบบเดิมทำไม่ได้ก็จะต้องมีการเปลี่ยนรูปแบบของงาน ซึ่งผมว่าอันนี้จะเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องช่วยกันคิดนะครับ คือเมืองไทยถูกกระหน่ำด้วยเหตุการณ์ต่างๆหลายเรื่อง แต่เรื่องที่สำคัญ คือเรื่อง 4.0 5.0 มันจะไม่เป็นมนุษย์ที่ทำงานเท่าไหร่ มันจะเป็นมนุษย์บ้านมากขึ้น หมายความว่าทำงานจากบ้าน เมื่อทำงานที่บ้านแล้วเราจะหาวิธีทำอย่างไร ให้คนทำงานจากบ้านได้ดี อย่างมีประสิทธิภาพ แล้วก็สามารถแข่งกับประเทศในไหนก็ได้ทั้งนั้น อย่างคนรุ่นใหม่ที่ขายของออนไลน์ แทนที่จะมองว่าพวกนี้เป็นข้อยกเว้น ต้องมามองว่าเป็นกฎเกณฑ์ทั่วไปแล้ว เพราะสังคมมันเปลี่ยน ลองคิดดูสิครับว่า ผมมาที่ห้องส่งแล้วยังไม่ได้ทานอะไร ก็ต้องสั่งโรตีที่หน้าออฟฟิศ เดี๋ยวเขาก็ยกมาให้ที่รถ ทุกอย่างมันเปลี่ยนหมด


ที่ข่าวบอกมาว่า เงินในกระทรวงการคลังนี่ ไม่มีแล้ว เพราะเอาเอาไปลงทุน นึคือเป็นยังไงครับ

คือความจริงมันก็กระโดดไปทางนั้น แต่เราไม่เคยคิดว่าจะต้องมีการจ่ายเงินเยอะขนาดนี้ เพราะว่าเรื่องโควิด-19 มันเพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในโลก เรามีปัญหาทุกที อย่าง Social Security ของอเมริกาก็มีปัญหา หรือทางยุโรปก็มีปัญหา คือถ้านับถึงทรัพย์สินที่เรามีอยู่ด้วยนั้น รวมถึงเงินสดก็ถือว่ามีเกินพอ ทั้งหมดประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท แต่เนื่องด้วยถ้าเราเก็บไว้เฉยๆดอกเบี้ยมันก็ต่ำ ซึ่งการฟังเงินก็รู้อยู่ว่ามันไม่มีประโยชน์อะไรในการเก็บเงินไว้เยอะๆ แล้วเงินก็ไม่งอกไม่เลย เราก็คิดหาวิธีการต่างๆ มีการคิดจากบุคคลต่างๆ ไม่ใช่เพิ่งมาคิดเดี๋ยวนี้ ก็ไปลงทุนซื้อพันธบัตรรัฐบาล ไปซื้อหุ้นซื้ออะไรต่างๆ แต่คราวนี้พอถึงเวลาที่จะต้องใช้ขึ้นมา ก็มีปัญหาในเรื่องของเงินสด ก็ต้องมีวิธีทางการเงิน

ก็อาจจะขายพันธบัตรที่ซื้อไว้

ทีนี้ถ้ามันขายพันธบัตรหรือหุ้นมากเกินไป มันก็จะกระทบต่อตลาดหุ้น หรืออะไรด้วยเหมือนกันนะ เพราะว่าเราถือเอาไว้เยอะ เพราะฉะนั้นก็ต้องรอบคอบหน่อย แต่ว่ามันมีเงินที่รัฐบาลกู้มา อันนี้ก็เป็นเงินที่สามารถเอามาช่วยในการจ่ายเบื้องต้นได้ แต่ผมก็ไว้ใจนะครับว่า ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล ท่านเป็นถึงอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และเป็นอดีตปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งถือว่าโชคดีเหลือเกินที่ท่านเข้ามาเป็นเจ้ากระทรวงในตอนนี้ ท่านก็น่าจะมีวิธีการตรงนี้

แต่ก็ถือว่าช้าไปหน่อยรึเปล่า เพราะไม่มีข่าวจากกระทรวงแรงงานเลย

จริงๆแล้วท่านและทางพรรคก็คิดตั้งแต่แรกๆ แต่ว่าเรามาอยู่ในกระทรวงแรงงานซึ่งมีเงินประกันสังคมก่อนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศนะ 2.2 ล้านบาท เพราะฉะนั้นที่รักไทยได้วางเอาไว้ตลอดก็คือจะไม่ให้ฝ่ายการเมืองไปยุ่งเกี่ยวกับเงินก้อนนี้เกินความจำเป็น เพราะฉะนั้นประธานกรรมการประกันสังคม ซึ่งเป็นปลัดกระทรวงแรงงาน และเลขาธิการก็เป็นเลขานุการ แล้วก็ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และผู้ทรงคุณวุฒิที่เราแต่งตั้งขึ้นมาทั้งนั้น ที่เราแต่งตั้งเข้าไปอยู่ตรงนั้น มันไม่มีนักการเมืองอยู่เลย แล้วตามทฤษฎีรัฐมนตรีว่าการก็ไม่สามารถที่จะไปสั่งได้ ต้องอาศัยการโน้มน้าวและจูงใจให้เหตุให้ผล แล้วของเราก็ต้องอาศัยมติครมมาช่วยหนุนหลังให้ด้วย เขาถึงกล้าตัดสินใจว่าแบบนี้ให้เป็นเหตุสุดวิสัย


แต่มันมีแนวคิดของนักการเมืองว่า ผู้ประกอบการ หรือคนประกันตนจริงๆ เนี่ย ก็จะสามารถเอาเงินที่สะสมของแต่ละคน ซึ่งมีอยู่ไม่น้อยเป็นแสนๆ บาท มาค้ำประกันให้เขาไปกู้เงินกับธนาคารของรัฐได้ ตรงนี้พอจะเป็นไปได้มั้ยครับ

ผมว่าน่าสนใจ ซึ่งก่อนหน้านี้ทางท่านรัฐมนตรีคิดอยู่ว่าจะทำธนาคารผู้ประกันตนรายย่อย หมายความว่าเอาเงินประกันสังคมจำนวนหนึ่ง เข้ามาเป็นกองทุนเริ่มต้น แล้วก็จะทำเหมือนกับธุรกิจจริงๆ แล้วก็จะมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ดูแล แล้วก็จะมีคนที่กระทรวงการคลัง เห็นว่าเหมาะสม มาเป็นผู้จัดการธนาคาร อันนี้มันก็อยู่ในแนวคิดของเราที่ ทั้งที่จะให้ผู้ประกันตนได้รับประโยชน์จากเงินสมทบที่ตัวเองใส่ลงไป ทั้งจะทำให้กองทุนได้งอกเงยจากดอกเบี้ยของสมาชิก แทนที่จะรอแต่ดอกเบี้ยของพันธบัตรซึ่งมันน้อย ผลประกอบการก็คาดว่าน่าจะได้ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ต่อปี มันก็จะวินๆทั้งสองฝ่าย ไม่มีอัฐยายซื้อขนมยาย ซึ่งผมก็ขออนุญาตอวดท่านรัฐมนตรีของผมว่าท่านมีความรู้ทางด้านการธนาคารไม่น้อย รวมถึงธนาคารพาณิชย์ และเคยคุมธนาคารแห่งประเทศไทย ท่านรู้จักคนเยอะ แล้วถ้าท่านทำอะไร คนก็จะเชื่อถือ และไม่มอมแมมแน่

รวมถึงคนภายนอกก็สามารถทำธุรกรรมตรงนี้ได้ ตอนนี้เรื่องไปถึงไหนแล้ว

ก็เห็นว่าได้หารือกับทางท่านนายกรัฐมนตรีและทางท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไปบ้างแล้ว แต่พอดีมันเกิดเรื่องโควิดซะก่อน เรื่องมันก็เลยเกิดการมะรุมมะตุ้มกับเรื่องชดเชย คือทางกระทรวงแรงงานจะต้องคิดอะไรอีกหลายเรื่อง เป็นกระทรวงที่น่าตื่นเต้นมาก คือชื่อกระทรวงมันเป็นกระทรวงแรงงาน แต่ว่าตอนนี้แรงงานมันลดลงไปเรื่อยๆ เพราะมันเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของเศรษฐกิจใหม่ มันมี automation มันมี Robot มันมีอะไรต่างๆ มนุษย์แรงงานมันก็จะน้อยลง แต่งานก็จะคงอยู่เสมอ แต่รายงานก็จะลดลง มันน่าจะเป็นกระทรวงที่ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องงานและการเปลี่ยนแปลงของงานด้วย

แล้วมี function ตรงนี้ยังไงบ้างครับ

ท่านรัฐมนตรีก็คิดจะตั้ง สำนักงานเศรษฐกิจแรงงาน ขึ้นมา เพื่อที่จะมาคิดเรื่องตรงนี้ ซึ่งจริงๆมันควรจะเป็นกระทรวงเศรษฐกิจ แต่เป็นเศรษฐกิจเชิงสังคม ไม่ใช่เศรษฐกิจเชิงธุรกิจ ถามว่าทำยังไงถึงจะทำให้ผู้ใช้แรงงาน ทำยังไงถึงจะให้คนทำงานมีรายได้มากขึ้น และทำยังไงที่จะเอาเงินที่ผู้ประกันตนทั้งหลายใส่สมทบเข้ามาเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ ซึ่งเงิน 2.2 ล้านล้านบาทนั้น มันไม่น้อยนะถ้าทำเป็นมันจะไปได้ดีมาก


ดีกว่าเอาไปฝากไว้ในหุ้น หรือ ในพันธบัตรอะไรต่างๆ

ก็มันมีวิธีการ แค่จำนวนก็ทำให้มีผลกระทบต่อทางเศรษฐกิจแล้ว แต่ว่าตัวท่านรัฐมนตรีว่าการที่จะเป็นนักเศรษฐศาสตร์ระดับขั้นหม่อมราชวงศ์จัตุมงคล มันไม่ค่อยมีไงที่ผ่านมา งานมันก็หมดไปกับการจัดหาแรงงานไปต่างประเทศ หรือจัดหาแรงงานจากต่างประเทศมาใช้ ทำยังไงถึงจะคุมแรงงานต่างด้าว หรือแรงงานต่างด้าวก่อปัญหาอีกแล้ว มันก็กลายเป็นเรื่องแบบนี้ไป

หลังจากนี้จะมีการเปิดในที่ต่างๆ ได้เหมือนเดิม แต่ขณะนี้อย่างที่บอกว่าแรงงานมันขาด แล้วแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมโดยส่วนใหญ่มันขาดไป กลไกต่างๆ มันจะขับเคลื่อนได้ หรือว่าเราจะต้องเปิดให้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามา
คือแรงงานต่างประเทศเพื่อนบ้าน เราก็บริการเขาดีขึ้นมาก เมื่อเร็วๆนี้เราก็คำปฏิบัติการข้อตกลงที่ให้เขามาอยู่เมืองไทย เป็นข้อตกลงระหว่างรัฐกับรัฐที่จะให้ชาวพม่า ชาวเขมรและชาวลาว สามารถที่จะเข้ามาทำงานที่เมืองไทยได้ อย่างถูกต้องตามกฎหมายนะครับ เราก็ต่ออายุให้เขา ที่นี่ ช่วงโควิด-19 ซึ่งเป็นช่วงที่จะต้องต่ออายุให้เสร็จภายในเดือนมีนาคม เราก็พยายามทำเต็มที่ แต่ว่ามันเกิดสภาวะการณ์ที่ว่า ทำให้ทางคณะรัฐมนตรีทำการเลื่อนออกไปอีกหลายเดือน ซึ่งในระหว่างนี้ก็ให้ทำงานไปก่อนก็ได้ ซึ่งก็ชี้ให้เห็นว่า แม้ว่าเราจะพูดกันว่า เราอยากที่จะเห็นคนไทยมีงานทำ แต่จริงๆคนไทยก็ไม่ทำงานแบบนี้แล้ว เราก็ต้องอาศัยคนต่างชาติจริงๆ ให้มาทำงานที่ลำบาก ทำงานที่หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน ตากแดดทั้งวัน ซึ่งมันก็เป็นธรรมชาติทั้งโลก ทำอะไรที่มันสบายขึ้น

ขณะนี้ อย่างทางสมุทรสาคร ก็กลายเป็น little Myanmar ไป

ใช่ครับ ซึ่งผมก็คิดว่าเราไม่ควรที่จะไปรังเกียจ แล้วเขาก็อยากจะเป็นคนไทยกันทั้งนั้น แล้วก็ที่สำคัญเขาก็ได้ภาษาไทย ได้ความนิยมไทย ได้ประสบการณ์จากไทย กลับไปทำงานในประเทศเขา ผมไปมะริด ทวาย และตะนาวศรี ไปที่ไหนก็พูดภาษาไทยได้ทั้งนั้น เพราะล้วนเคยมาทำงานในประเทศไทย กัมพูชายิ่งไม่ต้องพูดถึงเพราะ คนเกือบทั้งประเทศก็สามารถพูดไทยได้ ยิ่งลาวก็ไม่ต้องพูดถึงเพราะถือว่าเป็นภาษาใกล้เคียงกัน ซึ่งถ้าท่านนายกฯ คุยกับนักธุรกิจรุ่นใหม่ๆ หรือนักธุรกิจใหญ่ๆ มันน่าจะทำอะไรในชายแดนเราให้มันดีขึ้น มันจะเป็นธุรกิจใหญ่และสนามการค้าที่ใหญ่ เหมือนสมัยที่ พลเอก ชาติชาย ที่พยายามทำ


แล้วหลังจากนี้ แรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ที่ไหลกลับบ้านหมด เราจะเอากลับมาได้ยังไง ตรงนี้มีการคิดไว้รึยัง

คือถ้าเงื่อนไขหรือรายได้ที่เราให้ดีกว่า แล้วงานที่เราให้ทำเป็นงานที่สม่ำเสมอ และเขามีความมั่นใจว่ารายได้ที่ได้จะมีความสม่ำเสมอจากเรา ยังไงเขาก็มา ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องที่ว่าเราไปขูดรีดแรงงานนะ แต่ว่าผมได้ไปเห็นหลายรายมาก เช่นแรงงานชาวลาวที่มาทำงานที่นี่ มีรายได้ส่งกลับไปให้น้องเรียนหมอที่เมืองลาวจนจบ แล้วก็มีเงินให้แม่ไปซื้อที่ดินที่นั่นเอาไว้ ซึ่งมันไม่ใช่จิ๊บจ๊อยนะ

แต่กลัวว่าเขาจะเอาเชื้อกลับมาบ้านเรา

(หัวเราะเบาๆ) เราก็มีวิธีการคุมคนได้ ผมเห็นจากที่เราคัดกรองที่สุวรรณภูมิ ผมว่าเราทำได้ แล้วก็มันแปลกนะที่ตัวเลขในอาเซียน ที่ประเทศที่อยู่ติดเราส่วนใหญ่ มีผู้ติดเชื้อน้อย และคนตายก็น้อย ยกเว้นมาเลเซีย ส่วนที่อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ค่อนข้างเยอะหน่อย แต่มันก็ไกลจากเรา เพราะฉะนั้นผมยังคิดว่า ผู้ใช้แรงงานจาก 3 ประเทศที่ว่านี้ มีการติดเชื้อน้อย แต่ผมว่าระยะเวลาไม่เกินปีหรือ 2 ปี เราจะต้องผลิตยาและวัคซีนได้ ที่พูดอย่างนี้ไม่ใช่ว่าไม่มีหลักฐาน อย่างโรคระบาดแทบทุกชนิดที่เคยมีมา ในที่สุดแล้วเราก็สามารถพบวัคซีนและยา เพราะฉะนั้นยุทธศาสตร์ของประเทศไทย เป็นยุทธศาสตร์หน่วง คือเราก็ไม่ปล่อยแบบอังกฤษปล่อย จนกระทั่ง บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีที่นั่นติดเชื้อไปด้วย เช่นเดียวกับทางสหรัฐอเมริกา และทางฝรั่งเศสทำการปล่อย ส่วนของจีนนี่คือคุมมิดเลย ซึ่งดีแต่เราทำไม่ได้หรอก และคนไทยก็ไม่ยอมให้ทำ เราก็ทำแบบไทยแท้ๆ กลางๆ เราก็สามารถคุมได้




เรียบเรียงโดย : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : Facebook Fan Page : เอนก เหล่าธรรมทัศน์ Anek Laothamatas



กำลังโหลดความคิดเห็น