xs
xsm
sm
md
lg

“ทูตสุรพงษ์” แนะไทยดำเนินนโยบายต่างประเทศเคารพตัวเอง ไม่เลือกข้างทั้งสหรัฐฯ-จีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“ทูตสุรพงษ์” แนะไทยดำเนินนโยบายต่างประเทศเคารพตัวเอง แล้วต่างชาติก็จะเคารพเรา ชี้ต้องรักษาจุดยืนไม่เลือกข้างทั้ง “สหรัฐฯ-จีน” แต่ต้องทำให้สองประเทศถ่วงดุลกัน



วันที่ 31 ก.ค. นายสุรพงษ์ ชัยนาม อดีตเอกอัครราชทูต ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่อง “นิวส์วัน” ในหัวข้อ “ความท้าทายนโยบายต่างประเทศ รัฐบาลประยุทธ์ 2”

โดยนายสุรพงษ์กล่าวช่วงหนึ่งว่า สหรัฐฯ สนับสนุนรัฐบาลก่อนปี 2549 ที่เกิดก่อนรัฐประหาร เพราะเขาต้องการประเทศที่เป็นนอมินีให้ทุนผูกขาดต่างชาติได้ แต่ถ้าไม่ได้อย่างน้อยที่สุดต้องเป็นรัฐบาลที่สามารถให้ประเทศไทยเป็นรัฐบริวารที่น่ารักได้ และมีนโยบายต่างประเทศ นโยบายเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์ต่อสหรัฐฯ แล้วแค่รักษาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน เขามองว่าจีนเป็นคู่แข่งที่น่าเกรงขามมากสุด กลัวว่าอาเซียนจะให้จีนเข้ามา แต่จริงๆ แล้วไม่มีประเทศไหนในอาเซียนที่ต้องการให้ทั้งจีนและสหรัฐฯ เข้ามา

10 ประเทศอาเซียน ต่างคนต่างมีนโยบายต่างประเทศที่ต่างกัน มีผลประโยชน์ต่อสหรัฐฯ ที่ต่างกัน และทั้ง 10 ประเทศมีนโยบาย ท่าที ผลประโยชน์ต่อจีนต่างกันเช่นกัน ฉะนั้น ไม่มีประเทศไหนอยากให้จีน หรือสหรัฐฯ มาผูกขาด และไม่ยอมให้ถูกบีบให้เลือกข้าง แต่ต้องการให้จีนและสหรัฐถ่วงดุลอำนาจกันและกัน แข่งขันกันโดยสันติวิธีตามกติกา

นายสุรพงษ์กล่าวอีกว่า เมื่อมหาอำนาจขัดแย้งกัน ประเทศเล็กต้องทำอย่างไร ต้องดูว่าได้ประโยชน์ไหมถ้าไม่ได้ก็อย่าให้เสียประโยชน์แค่นั้น เมื่อเราเคารพตัวเอง ต่างชาติก็เคารพเรา พอมเพโอ รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ จะเดินทางมาไทยคราวนี้ ส่งสัญญาณว่าที่ผ่านมา 10 ปีขอให้ลืมๆ ไป เขาเคารพไทย เข้าใจว่ามีเหตุผลของไทย เห็นแล้วว่านักการเมืองบางคนไปยุโรปประจานประเทศไทยไม่เป็นประชาธิปไตย แต่สหรัฐฯ ไม่ตอบสนองอะไรเลย ขณะเดียวกัน เขาดูว่าเรามีท่าทีอย่างไร ถ้าเราเปลี่ยนไปหาสหรัฐฯ เขาก็จะดูถูกเราเหมือนเดิม

“ดำเนินนโยบายอย่างเดิม ให้เห็นว่าเราเคาารพในตัวเองแล้วเขาก็จะเคารพเราด้วย แต่ถ้าบ้ายอเข้าไปหาเลยก็จะดูถูกเราเหมือนเดิม” นายสุรพงษ์กล่าว

นายสุรพงษ์ยังกล่าวอีกว่า รักษาจุดยืนไว้ในที่สุด ประเทศเล็กเวลามหาอำนาจมีปัญหากันมันยาก แต่ต้องทำเพื่อรักษาระยะห่างที่เหมาะสม แต่ไม่ใช่ต้องเป็นกลางในการรักษาผลประโยชน์ มันเกิดขึ้นไม่ได้ เช่น บอกว่าเราเป็นกลาง เป็นการทำลายผลประโยชน์ชาติ แต่ที่ถูกต้องดูว่าใครได้เปรียบ เช่น ก. กำลังได้เปรียบ ข. แล้วเราส่งเสริม ก. ก็จะยิ่งทำให้เหิมเกริม ครอบงำเราและประเทศอื่นได้ แต่ก็ไม่ใช่ประกาศอยู่ข้าง ข. สรุปคือต้องไม่ทำร้าย ข. และต้องไม่เป็นคุณประโยชน์แก่ ก. ต้องให้ถ่วงดุลได้


กำลังโหลดความคิดเห็น