xs
xsm
sm
md
lg

เปิดพื้นที่ เปิดใจ สร้างสังคมแห่งการให้...แบบไร้ข้อจำกัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


การ "ไม่มี" อาจไม่ได้เป็นอุปสรรคในการ "ให้" เพราะการช่วยเหลือ แบ่งปัน และหวังดีต่อผู้อื่น ทำให้เราสามารถมองเห็นคุณค่าในตนเองมากขึ้น โครงการ "ให้...โดยเฉพาะ" เป็นนิยามในความหมายนั้น

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมมือกับ บริษัท กล่องดินสอ จำกัด เปิดพื้นที่ให้ประชากรกลุ่มเฉพาะทั้ง คนพิการ ผู้สูงอายุ คนไร้บ้าน เด็กในสถานสงเคราะห์ และผู้ต้องขังในทันฑสถาน เปิดโอกาสจากการเป็นเพียงผู้รับมาเป็นผู้ให้ผ่านกิจกรรมอ่านหนังสือเสียง การฝึกอาชีพ และสร้างพลเมืองสู่การเป็นจิตอาสา ภายใต้แนวคิด "เปิดใจ ให้โดยเฉพาะ"

ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า การเปลี่ยนจากผู้รับเป็นผู้ให้เป็นการสร้างให้เกิดความสมดุลของสังคม เนื่องจากคนส่วนใหญ่จะมองว่าประชากรกลุ่มเฉพาะเป็นผู้รับมาโดยตลอด แต่แท้จริงแล้วคนเหล่านี้กลับมีมุมมองว่าพวกเขาก็สามารถเป็นผู้ให้ได้เช่นกัน จึงเกิดการรวมตัวกันทำสิ่งดี ๆ ผ่านโครงการเปิดใจ...ให้โดยเฉพาะ เพื่อทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เช่น อ่านหนังสือเสียงให้ผู้พิการทางสายตาฟัง ช่วยกันเก็บขยะ ขุดลอกคูคลอง ดูแลสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ใกล้เคียง เช่น บริเวณโดยรอบของศูนย์รวมโครงการ เรียนรู้การฝึกอาชีพในศาสตร์ต่าง ๆ เช่น นวดคลายกล้ามเนื้อ ทำงานศิลปะ รวมถึงทำกิจกรรมอื่น ๆ เพราะการได้ทำสิ่งดีๆ เป็นการตอบแทนสังคมที่นอกจากจะสร้างความสุขให้ผู้รับแล้ว ยังสร้างความภูมิใจให้กับตัวผู้ให้เอง ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้พวกเขามองเห็นคุณค่าในตนเองมากขึ้น



ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส.

"นอกจากนี้ สสส. ยังสนับสนุนการฝากเวลาทำความดีในรูปแบบธนาคารจิตอาสา เช่น โครงการจิตอาสาพลังแผ่นดิน โครงการต่างกายต่างวัยแต่ใจเดียวกัน หรือโครงการเพื่อนอาสา ที่สอนให้รู้จักการรับฟังมากกว่าการคิดแทน สิ่งเหล่านี้เป็นจุดเชื่อมโยงที่ดีของสังคมไทยทำให้มีพื้นที่ในการแสดงศักยภาพของประชากรกลุ่มเฉพาะมากขึ้น และเป็นการจุดประกายให้ทุกคนในสังคมเห็นคุณค่าของการให้และส่งต่อเรื่อยไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุด" ภรณี กล่าว

เช่นเดียวกับ ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล ผู้จัดตั้ง บริษัท กล่องดินสอ จำกัด ที่เล่าถึงแนวทางการทำงานกับประชากรกลุ่มเฉพาะว่า เป็นการเปิดมุมมองให้สังคมเห็นว่า กลุ่มคนเหล่านี้เป็นคนที่มีจิตใจดีและอยากส่งต่อความช่วยเหลือต่าง ๆ เช่นกัน กล่องดินสอจึงได้ร่วมมือกับ สสส. ในการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อแสดงพลังบวกที่ซ่อนอยู่ รวมถึงการเปลี่ยนทัศนคติมุมมองที่คนภายนอกที่มองเข้ามา ถึงแม้ว่าโครงการนี้จะขับเคลื่อนได้ไม่นาน แต่ก็มีผู้ร่วมโครงการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนปัจจุบันมีผู้ร่วมโครงการถึง 590 คน และตั้งเป้าหมายขยายการส่งต่อไปสู่พื้นที่ต่างจังหวัดเพื่อสร้างพลังของการให้สมบูรณ์แบบมากขึ้น



สำหรับ ชมพูนุท บุษราคำ หรือ เจินเจิน อายุ 26 ปี หนึ่งในอาสาสมัครโครงการให้โดยเฉพาะ กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า ประชากรกลุ่มเฉพาะก็เหมือนกับคนทั่ว ๆ ไป มีสิทธิ์ในการเสนอความเห็น เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตตัวเอง แต่สิ่งที่พวกเรายังต้องการจากสังคมคือโอกาสในการศึกษา การทำงาน การใช้ชีวิต และการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่เหมาะสม ถึงแม้ตนจะเป็นประชากรกลุ่มเฉพาะแต่ก็พิสูจน์ให้ตัวเองและทุกคนเห็นแล้วว่าสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ ไม่ใช่เป็นผู้รับเพียงอย่างเดียว

ตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา ความสุขที่มากมายได้เกิดขึ้นหลังจากมาเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือประชากรกลุ่มเฉพาะด้วยกัน เมื่อมีเวลาว่างจากการทำงานประจำตนมักจะเข้าร่วมกิจกรรมกับ สสส. และกล่องดินสอ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้พิการ เป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้พวกเขาใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในสังคม และปลุกศักยภาพที่ซ่อนภายในตัวเขาออกมาเช่นเดียวกับที่ตนสามารถลุกขึ้นมาเอาชนะสภาพร่างกายที่มีข้อจำกัดได้ จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้พิการและคนทั่วไปที่อาจรู้สึกท้อแท้หรือสิ้นหวัง




"วิธีการสื่อสารกับกลุ่มเฉพาะไม่ต้องใช้ความพยายามใด ๆ หากแต่ควรใช้หัวใจค่อย ๆ ทำให้พวกเขาออกมาจากคอมฟอร์ทโซนของตัวเอง เพราะพวกเขายังไม่มั่นใจว่าสังคมจะตอบโจทย์สิ่งที่ขาดหายไปในชีวิตได้หรือไม่ หรือสังคมจะตอบโจทย์พวกเขาในเป็นเชิงลบ ซึ่งอาจต้องลองเปลี่ยนคำสื่อสารให้เข้าใจกันทั้งสองฝ่าย" เจินเจิน ฝากทิ้งท้าย

นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งเสียงจากผู้ต้องขังที่ร่วมโครงการได้กล่าวความรู้สึกไว้สั้น ๆ ว่า ที่ผ่านมาตนเคยเป็นผู้รับจนมาวันนี้ได้มาเป็นผู้ให้ จากการอ่านหนังสือเสียงให้คนพิการทางสายตาฟัง ต่อจากนั้นได้ไปเรียนฝึกอาชีพการนวดแผนไทยทำให้ตนได้มีโอกาสออกไปแสดงฝีมือการนวดตามสถานที่ต่าง ๆ แม้ว่าการนวดแต่ละครั้งจะไม่มีรายได้ แต่โครงการนี้ถือเป็นสิ่งที่เติมเต็มความสุขในชีวิตได้อีกครั้ง เพราะอย่างน้อยก็ได้ช่วยคลายความเจ็บปวดให้คนที่มานวด และตนตั้งมั่นบอกกับตนเองว่า หากในวันข้างหน้าได้ออกจากเรือนจำจะไปประกอบอาชีพที่สุดจริตด้วยทักษะการนวดที่มีติดตัว เท่านี้ก็สร้างความสุขให้ตนมากพอแล้ว


ดังนั้น "การให้" จึงไม่จำเป็นต้องมีเงินมีทองอย่างเดียว แต่ยังหมายรวมถึงการใช้แรงกายแรงใจให้สิ่งดี ๆ กลับคืนสู่สังคม และแม้ว่าการให้นั้นอาจไม่ได้ยิ่งใหญ่ แต่ในทุก ๆ ครั้ง ผู้ให้จะมีความสุขที่ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในทางดีขึ้นกับผู้รับนั่นเอง

กำลังโหลดความคิดเห็น