xs
xsm
sm
md
lg

สื่อแห่ร่วมอบรม Safety training หวังทีมข่าวลุยปลอดภัยในสถานการณ์ขัดแย้ง-ภัยพิบัติ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สมาคมนักข่าวฯ อบรมรายงานข่าวในสถานการณ์ขัดแย้งและภัยพิบัติรุ่นที่ 10 สื่อทุกแขนงร่วม 28 ชีวิต หวังทีมข่าวภาคสนามทำงานได้แม้อยู่ในสถานการณ์รุนแรง รักษาจริยธรรม ไม่ตกเป็นเครื่องมือ และต้องปลอดภัย เอาไปปรับใช้ทำข่าวเชิงลึก

เรียกได้ว่าเป็นโครงการที่มีประโยชน์สำหรับสื่อมวลชนจริงๆ สำหรับการจัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ การรายงานข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้งและภัยพิบัติ (Safety training) รุ่นที่ 10 ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ระหว่างวันที่ 20-23 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมทั้งนักข่าว , ช่างภาพ และผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการสื่อกว่า 28 คน จากหนังสือพิมพ์ , วิทยุ , โทรทัศน์ และ สำนักข่าวออนไลน์ รวมทั้งผู้สื่อข่าวจากผู้จัดการออนไลน์ ได้ร่วมเรียนรู้การบริหารจัดการความเสี่ยงในการเข้าพื้นที่ความขัดแย้งและภัยพิบัติ , ภาษาและการรายงานข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้ง , โครงสร้างความขัดแย้ง , การทำข่าวทางน้ำให้ปลอดภัย , และ การช่วยชีวิตและการปฐมพยาบาลเชิงยุทธวิธี

โดยมีนายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เป็นประธานในพิธีปิดการอบรมพร้อมกล่าวถึงจุดประสงค์หลักของการอบรมว่า ต้องการให้นักข่าวสามารถทำงานได้แม้จะอยู่ในสถานการณ์ความรุนแรง และรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ไม่ตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มความขัดแย้งใดๆ ที่ใช้วาทกรรมในการโต้ตอบไปมา ซึ่งสมาคมนักข่าวฯจะให้การสนับสนุนโครงการนี้ให้มีอยู่ต่อในรุ่นต่อๆไป แม้ว่าจะไม่มีการชุมนุม แต่นักข่าวก็ต้องเรียนรู้ทักษะติดตัวไว้

“การจัดอบรมโครงการนี้ต่อเนื่องเป็นปีที่ 10 ถือเป็นโครงการอบรมเชิงปฎิบัติที่สำคัญที่สุดโครงการหนึ่งของสมาคมนักข่าวฯ เพราะ ถือเป็นการเพิ่มองค์ความรู้ให้กับทีมข่าวภาคสนาม เพื่อให้สามารถทำงานได้แม้จะอยู่ในสถานการณ์ความรุนแรง เพื่อรักษาจริยธรรมสื่อ รวมถึงทีมข่าวต้องมีความปลอดภัยในการทำงานภายใต้ภาวะความรุนแรง สื่อมวลชนต้องไม่เป็นผู้ขยายความขัดแย้ง ไม่ส่งต่อวาทกรรมสร้างความเกลียดชัง (Hate speech) และต้องทำหน้าที่เป็น Gate keeper ในการกลั่นกรองข้อมูลข่าวสาร เพื่อแก้ปัญหาข่าวลือข่าวลวงด้วย”นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าว

ขณะที่ นายสถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา ผู้จัดการโครงการและหัวหน้าทีมวิทยากร กล่าวว่า โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ การรายงานข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้งและภัยพิบัติ Safety training เป็นโครงการที่ฝึกอบรมภาคปฏิบัติควบคู่กับการบรรยาย เนื่องจาก ต้องการให้ผู้เข้าอบรมมีโอกาสฝึกซ้อมในเหตุการณ์เสมือนจริง เพราะต้องการให้ซ้อมเสมือนจริง เพื่อที่หากเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งรุนแรง หรือ ภัยพิบัติ จริง จะได้ปฏิบัติได้เหมือนที่ซ้อมไว้ เนื่องจากจุดประสงค์หลักของการจัดการอบรม คือ ต้องการให้ผู้เข้าอบรมนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในการรายงานข่าวเพื่อให้ได้ข่าวเชิงลึกมากขึ้น นักข่าวต้องไม่เป็นอุปสรรคในการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ยามที่เกิดภัยพิบัติด้วย

ด้านนายจีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฎิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับโครงการนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่มีผู้สนับสนุนหลักในการจัดโครงการ ทั้ง 1.สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) 2.สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) 3.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ 4. สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย 5.บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด 6.บริษัท เทรนด์ วีจี 3 จำกัด หรือ ไทยรัฐออนไลน์ 7. สถานีโทรทัศน์พีพีทีวี 8.อาสาสมัครกู้ภัยใจถึงใจ และขอขอบคุณสถานที่หน่วยจัดการต้นน้ำเนินหอม จังหวัดนครนายก

สำหรับโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ การรายงานข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้งและภัยพิบัติ Safety training เริ่มอบรมมาตั้งแต่ปี 2553 หลังเหตุการณ์ความขัดแย้งในปีนั้น โดยมีจุดประสงค์ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมซึ่งเป็นนักข่าว นำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการรายงานข่าวอย่างปลอดภัย เนื่องจาก ในเหตุการณ์ความรุนแรงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นักข่าวถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง ทั้งที่จากเดิมที่เคยเป็นเพียงกลุ่มคนที่รายงานเหตุการณ์ โดยจุดเริ่มต้นของโครงการนี้เคยเชิญวิทยากรจากต่างชาติมาให้ความรู้ ก่อนจะปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เข้ากับสถานการณ์ความรุนแรงในประเทศโดยมีผู้ที่ผ่านการอบรมในชุดแรกเป็นวิทยากร จากเดิมที่อบรมเรื่องความขัดแย้งรุนแรง เพิ่มเป็นหลักสูตรการรายงานข่าว และช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการเพิ่มหลักสูตรเรื่องการรายงานข่าวในสถานการภัยพิบัติ และ การกู้ภัยทางน้ำเข้าไปด้วย เพราะ ในปัจจุบันมีภัยพิบัติเกิดขึ้นต่อเนื่องและมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะ อุทกภัย ทั้งนี้เพื่อยกระดับเป็นการรายงานข่าวเพื่อการเตือนภัย จากเดิมที่ส่วนใหญ่การรายงานข่าวจะเน้นเพียงการรายงานเหตุการณ์
นายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
นายสถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา ผู้จัดการโครงการและหัวหน้าทีมวิทยากร
นายจีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฎิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย




กำลังโหลดความคิดเห็น