xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 21-27 เม.ย.2562

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

1.ศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก “ทักษิณ” 3 ปี คดีเอี่ยวเอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้พม่า 4,000 ล้าน เอื้อธุรกิจ “ชินคอร์ป”!
นายทักษิณ ชินวัตร ผู้หลบหนีคำพิพากษาศาลฎีกาฯ จำคุก 2 ปี คดีซื้อที่ดินรัชดาฯ
เมื่อวันที่ 23 เม.ย. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้อ่านคำพิพากษาคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร เป็นจำเลย ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตัวเองหรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการนั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมาอาญา มาตรา 157

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า นายทักษิณ ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้เห็นชอบให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) อนุมัติปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำอัตรา 3% ต่อปี ให้แก่รัฐบาลพม่าวงเงิน 4,000 ล้านบาท ในโครงการพัฒนาระบบโทรคมนาคมของพม่า ซึ่งดอกเบี้ยนั้นต่ำกว่าราคาต้นทุนของเอ็กซิมแบงก์ โดยการเห็นชอบให้เอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้แก่พม่า นายทักษิณหวังประโยชน์ในธุรกิจดาวเทียม ที่พม่ามีการสั่งซื้ออุปกรณ์จากบริษัท ชินแซทเทลไลท์ ที่เป็นบริษัทในเครือชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ของตระกูลชินวัตร

ทั้งนี้ ศาลฎีกาฯ ได้มีคำสั่งประทับรับฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2551 และนัดพิจารณาครั้งแรกเพื่อจะสอบคำให้การนายทักษิณในวันที่ 16 ก.ย. 2551 แต่ปรากฏว่า ขณะนั้นนายทักษิณไม่มาศาล เนื่องจากหลบหนีไปต่างประเทศในคดีอื่นแล้ว ศาลฎีกาฯ จึงออกมายจับ

กระทั่งปี 2561 ป.ป.ช.ได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาฯ ให้นำคดีดังกล่าว ที่ศาลสั่งจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว เนื่องจากนายทักษิณหลบหนีไปต่างประเทศ ให้นำขึ้นมาพิจารณาลับหลังโดยไม่มีตัวจำเลยมาศาล ซึ่งสามารถทำได้ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 ซึ่งกฎหมายดังกล่าวเปิดช่องให้จำเลยที่ไม่มาศาล สามารถตั้งทนายความมาดำเนินการแทนตนได้ และไม่ตัดสิทธิจำเลยที่จะมาต่อสู้คดีเมื่อใดก็ได้ ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา

ต่อมา วันที่ 4 ก.ค.2561 ศาลฎีกาฯ ได้พิจารณาคดีครั้งแรก โดยนายทักษิณไม่มาศาล และไม่แต่งตั้งหรือมอบอำนาจให้ผู้ใดมาศาลแทน ศาลจึงถือว่าจำเลยให้การปฏิเสธ

เมื่อถึงกำหนดนัดฟังคำพิพากษา 23 เม.ย. ศาลฎีกาฯ พิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า นายทักษิณกระทำความผิดตามฟ้อง ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตัวเองหรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการนั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 ให้จำคุกเป็นเวลา 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา และให้ออกหมายจับจำเลยมารับโทษตามคำพิพากษาของศาลฯ ต่อไป

2.กกต.แจ้งข้อกล่าวหา “ธนาธร” ถือครองหุ้นสื่อ ขาดคุณสมบัติลงสมัคร ส.ส. ให้เวลาชี้แจง 7 วัน ด้านเจ้าตัวเตรียมแจง 30 เม.ย.นี้!
(บน) นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) แถลงเรื่องการโอนหุ้นสื่อของนายธนาธร (ล่าง) นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค อนค.
ความคืบหน้ากรณีที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ถูกสื่อมวลชนจับโกหกเรื่องโอนหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับสื่อ ให้แม่ หลังสำนักข่าวอิศรานำเอกสารมาเปิดเผยว่า นายธนาธรโอนหุ้นให้แม่วันที่ 21 มี.ค.2562 ซึ่งเป็นวันหลังจากลงสมัคร ส.ส.แล้ว ซึ่งจะส่งผลให้นายธนาธรขาดคุณสมบัติในการลงสมัคร ส.ส. ด้านเจ้าตัวโชว์หลักฐานอ้างว่า โอนหุ้นให้แม่ตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.2562 ก่อนลงสมัคร ส.ส. ต่อมา สำนักข่าวอิศรานำภาพข่าวจากสื่อหลายสำนักมายืนยันว่า วันที่ 8 ม.ค. นายธนาธรช่วยผู้สมัครหาเสียงอยู่ที่ จ.บุรีรัมย์ ไม่ได้อยู่ กทม. แล้วจะโอนหุ้นให้แม่ในวันดังกล่าวได้อย่าง ไร ซึ่งเรื่องโอนหุ้นสื่อนี้ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบว่า นายธนาธรขาดคุณสมบัติในการลงสมัคร ส.ส.หรือไม่

ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 22 เม.ย.นายวรวุฒิ บัตรมาตร ฝ่ายกฎหมาย อนค. พร้อมทีมทนายความ ได้ยื่นหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการโอนหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย ของนายธนาธร ให้แม่ โดยยืนยันว่า การดำเนินการทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมายทุกประการ ไม่สามารถทำให้ถูกกฎหมายกว่านี้ได้แล้ว

วันเดียวกัน (22 เม.ย.) นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค อนค.ได้เปิดแถลงเรื่องการโอนหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย ของนายธนาธร โดยยืนยันว่า นายธนาธรและนางรวิพรรณ ภรรยา ได้โอนหุ้นให้มารดานายธนาธรเสร็จสิ้นตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.2562 ส่วนที่สื่อรายงานว่า วันที่ 8 ม.ค. นายธนาธรช่วยผู้สมัครหาเสียงอยู่ที่ จ.บุรีรัมย์นั้น นายปิยบุตรอ้างว่า นายธนาธรอยู่บุรีรัมย์แค่ช่วงเช้า ส่วนช่วงบ่ายเดินทางกลับ กทม.ด้วยรถตู้ โดยเดินทางถึง กทม.ประมาณ 16.00 น. ทั้งนี้ นายปิยบุตรกล่าวว่า ถ้าไม่เชื่อ ให้ดูใบเสร็จอีซี่พาสในการเดินทางในช่วงเวลา 15.00 น.

อย่างไรก็ตาม หลังหลายฝ่ายได้ออกมาจับผิดนายปิยบุตรว่า หากนายธนาธรเดินทางจากบุรีรัมย์ในช่วงบ่ายจริง เป็นไปไม่ได้ที่จะใช้เวลาแค่ 2-3 ชั่วโมงในการมาถึง กทม.เพื่อโอนหุ้นให้แม่ เพราะระยะทางจากบุรีรัมย์ถึง กทม. ต้องใช้เวลา 5-6 ชั่วโมง

หลังถูกหลายฝ่ายจับพิรุธ วันต่อมา (23 เม.ย.) นายปิยบุตรได้ออกมาพูดใหม่ว่า วันที่ 8 ม.ค. นายธนาธรเดินทางออกจากบุรีรัมย์เวลา 10.30 น.

ด้านนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เห็นพิรุธจากการแถลงของนายปิยบุตรเรื่องหุ้นของนายธนาธร จึงได้ยื่นหลักฐานเพิ่มเติมต่อ กกต. โดยมองว่า หลักฐานอีซี่พาสที่นายปิยบุตรนำมาแสดง ไม่สมเหตุสมผลและอาจเข้าข่ายสร้างหลักฐานเท็จ เพราะการเดินทางจากบุรีรัมย์ถึง กทม.ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5 ชม. และว่า “คำแถลงข่าวของนายปิยบุตรที่กล่าวถึงการโอนหุ้นไปมาระหว่างนายธนาธรไปให้กับนางสมพร แม่ของนายธนาธร และโอนต่อไปให้หลาน 2 คน โดยอ้างว่าเพื่อให้หลานได้เรียนรู้เรื่องการทวงหนี้ แล้วมีการโอนหุ้นกลับมาให้แม่ของนายธนาธรอีกครั้ง โดยไม่มีการนำเช็คหรือหลักฐานการจ่ายเงินค่าหุ้นมาเปิดเผย ต่อมาก็อ้างว่า มารดาของนายธนาธรมีอายุมาก จึงต้องการประชุมปิดบริษัท แต่บริษัทดังกล่าวมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อยู่ 10 ล้านบาท ซึ่งตามประมวลรัษฎากร การจะแทงหนี้เป็นสูญ ต้องฟ้องคดีต่อศาลและให้ผู้ตรวจสอบบัญชีรับรอง จึงจะสามารถหักกลบลบหนี้ได้ หากไม่ดำเนินการตามขั้นตอน อาจเข้าข่ายความผิดฐานฟอกเงินได้ จึงนำหลักฐานข้อพิรุธทั้ง 2 ประเด็นมาเสนอให้ กกต.พิจารณา”

ด้าน กกต.ได้ประชุมพิจารณาเรื่องการโอนหุ้นสื่อของนายธนาธรเมื่อวันที่ 22 เม.ย. และประชุมต่อในวันที่ 23 เม.ย. หลังประชุม นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต.แถลงผลประชุม กกต.ว่า กกต.ได้มีมติให้แจ้งข้อกล่าวหานายธนาธร เนื่องจากคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนได้รวบรวมพยานหลักฐานแล้ว มีหลักฐานเบื้องต้นฟังได้ว่า นายธนาธรเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในบริษัท วี-ลัค มีเดีย ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ จำนวน 675,000 หุ้น เลขหมายใบหุ้นตั้งแต่ 1350001-2025000 กกต.จึงมีมติให้แจ้งข้อกล่าวหาแก่นายธนาธร

โดยมอบหมายให้เลขาธิการ กกต.เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาและรับฟังพยานหลักฐานแทน ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต.พ.ศ.2561 ข้อ 64 และให้ดำเนินการไต่สวนให้สิ้นกระแสความต่อไป ทั้งนี้ นายธนาธรมีสิทธิที่จะไม่ให้ถ้อยคำหรือมีหนังสือชี้แจงแสดงพยานหลักฐานแก้ข้อกล่าวหา และมีสิทธิที่จะให้ทนายความหรือบุคคลซึ่งไว้วางใจเข้าร่วมฟังการชี้แจงแสดงหลักฐานแก้ข้อกล่าวหาได้ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งข้อกล่าวหา

ด้านนายธนาธร ซึ่งอยู่ระหว่างเดินทางไปหลายประเทศในทวีปยุโรป หลังทราบว่าถูก กกต.แจ้งข้อกล่าวหาว่าถือครองหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย ได้รีบเดินทางกลับประเทศไทยเมื่อช่วงค่ำวันที่ 25 เม.ย. พร้อมกล่าวว่า เชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ ไม่มีอะไร้องกังวล และว่า จะขอดูเอกสารจาก กกต.ก่อน และจะเข้าชี้แจง กกต.ในวันที่ 29 เม.ย. อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 26 เม.ย. น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรค อนค. เผยว่า นายธนาธรจะเข้าชี้แจง กกต.ในวันที่ 30 เม.ย. จากเดิมที่ตั้งใจจะเข้าชี้แจงวันที่ 29 เม.ย.

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 เม.ย.นายสุรวัชร สังขฤกษ์ กลุ่มการเมืองภาคประชาชน ได้เข้ายื่นหนังสือถึงประธาน กกต.เพื่อขอให้ กกต.ระงับการรับรองผลเลือกตั้งของว่าที่ ส.ส.พรรค อนค. เนื่องจาก กกต.มีมติแจ้งข้อกล่าวหานายธนาธรกรณีถือหุ้นเข้าลักษณะต้องห้ามเป็นผู้สมัคร ส.ส.ดังนั้นถือว่าการเลือกตั้งของพรรค อนค.ทั้งหมดเป็นโมฆะ เพราะนายธนาธรเป็นผู้ออกหนังสือรับรองในนามหัวหน้าพรรค อนค.ให้กับผู้สมัครของพรรค มีความผิดทั้งในนามหัวหน้าพรรค และนิติบุคคล ซึ่งถือเป็นเอกสารเท็จ เนื่องจากนายธนาธรขาดคุณสมบัติ จึงขอให้ กกต.ตรวจสอบและส่งคำร้องยุบพรรค อนค.ไปยังศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมส่งคำร้องไปยังศาลฎีกาให้ดำเนินคดีอาญากับนายธนาธร หัวหน้าพรรค อนค.รวมถึงคณะกรรมการบริหารพรรค และเลขาธิการพรรคตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองด้วย

ล่าสุด 26 เม.ย. นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เข้าให้ถ้อยคำต่อ กกต.เพิ่มเติม พร้อมแนะให้ กกต.นำเอกสารบางอย่างมาใช้ในการตรวจสอบเพิ่มเติม เช่น การใช้โทรศัพท์ของนายธนาธรในวันที่ 8 ม.ค.62 เพื่อบ่งชี้ว่านายธนาธรอยู่ต่างจังหวัดหรือกรุงเทพฯ รวมทั้งการออกเช็คโอนหุ้น ซึ่งตนยังมีข้อสงสัยว่ามีการกระทำจริงหรือไม่ จึงอยากให้นำต้นขั้วเช็คของนางสมพร มารดานายธนาธร มาตรวจสอบรันนัมเบอร์เช็คว่ากระโดดไปมาหรือไม่ ซึ่งจะทำให้ทราบวันเวลาออกเช็คที่แท้จริง รวมถึงเช็คดังกล่าวได้มีการนำเข้าธนาคารแล้วหรือไม่ ช่วงเดือนธันวาคมถึงปัจจุบัน จะทำให้ทราบว่านำเช็คเข้าทำธุรกรรมจริงหรือไม่ “กกต.ต้องดำเนินการนำเอาเอกสารต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นมาใช้ในการตรวจสอบเพิ่มเติม หาก กกต.ตรวจสอบแล้วพบความจริงก็ต้องส่งเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาทางการเมือง เพิกถอนสิทธิการรับสมัครเลือกตั้งของนายธนาธร และดำเนินการเอาผิดทางอาญา โทษจำคุก 1-10 ปี พร้อมถอนเลือกตั้ง 20 ปี และอาจโทษหนักขัด พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ตามมาตรา 132 จะต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคหรือไม่”

3.กกต.ประเดิมแจก “ใบส้ม” ผู้สมัคร ส.ส.เพื่อไทย เชียงใหม่ ด้านศาล รธน.ไม่รับคำร้อง กกต.ขอให้วินิจฉัยสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์!
นายสุรพล เกียรติไชยากร ผู้สมัคร ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย โดน กกต.แจกใบส้ม
สถานการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับการเลือกตั้งที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 24 เม.ย. คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มีมติสั่งให้ยกเลิกการเลือกตั้ง ส.ส.เขตเลือกตั้งที่ 8 จ.เชียงใหม่ และให้มีการเลือกตั้งใหม่ หลังจากพิจารณากรณีมีการคัดค้านการเลือกตั้งในเขตดังกล่าว เนื่องจากมีเหตุอันควรสงสัยหรือความปรากฏต่อ กกต.ว่า นายสุรพล เกียรติไชยากร ผู้สมัคร ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ให้ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมแก่ชุมชน เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเอง ผิดมาตรา 73 (2) พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จึงสั่งระงับสิทธิรับสมัครเลือกตั้งของนายสุรพลเป็นการชั่วคราวเป็นระยะเวลา 1 ปี พร้อมยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งของนายสุรพล และดำเนินคดีอาญา รวมทั้งสั่งยกเลิกการเลือกตั้งและให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเขตดังกล่าว ส่วนจะเลือกตั้งใหม่ในวันใด กกต.อยู่ระหว่างพิจารณาวันที่เหมาะสม

ทั้งนี้ นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต.ไม่ได้เปิดเผยพฤติการณ์ของนายสุรพลที่ทำให้ กกต.มีมติดังกล่าว โดยระบุว่า เป็นเรื่องที่อยู่ในสำนวน แต่ กกต.ได้ให้โอกาสนายสุรพลมาชี้แจงแล้ว ส่วนที่มีการระบุว่า เป็นพฤติการณ์เรื่องการบริจาคเงินให้กับวัดนั้น ตามกฎหมายเลือกตั้ง บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ไม่ให้มีการให้ทรัพย์สินกับวัดและโรงเรียน

ด้านนายสุรพล เกียรติไชยากร ผู้สมัคร ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย กล่าวหลังทราบมติของ กกต.ที่แจกใบส้มให้ตนเองว่า “คาดไม่ถึงที่ กกต.จะมีมติเช่นนี้ ทั้งที่ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงทั้งหมดไปแล้ว และแปลกใจที่ กกต.ตั้งเป้าพิจารณาข้อร้องเรียนเฉพาะพรรคการเมืองบางพรรค อย่างไรก็ตาม เมื่อมีมติออกมาเช่นนี้ ก็ต้องยอมรับกติกาที่ออกมา”

ส่วนความคืบหน้ากรณีที่ กกต. ได้ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกี่ยวกับสูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อว่า ถ้า กกต.จะคำนวณหาจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 ซึ่งจะมีผลทำให้พรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส.ที่จะพึงมีได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ส.ส. 1 คน ได้รับการจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 1 คน จะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ และการดำเนินการดังกล่าวชอบด้วยรัฐธรรมนูญตามมาตรา 91 หรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องดังกล่าวเมื่อวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา

ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่เอกสารชี้แจงต่อสื่อมวลชนว่า ศาลฯ ไม่รับคำร้องของ กกต.ที่ขอให้วินิจฉัยปัญหาการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยมีมติเอกฉันท์ว่า กกต.ไม่สามารถใช้สิทธิยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (1) ได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญได้บัญญัติกระบวนการและขั้นตอนในการยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบทบัญญัติแห่งกฎหมายไว้เป็นการเฉพาะแล้ว โดยการใช้สิทธิทางศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 212 และการใช้สิทธิทางผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 231 (1)

ส่วนที่ กกต.ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กกต.จะสามารถคำนวณหาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 มาตรา 128 ได้หรือไม่ และการดำเนินการดังกล่าวชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 หรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 ว่า กรณีดังกล่าวเป็นหน้าที่และอำนาจของ กกต.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 ซึ่งต้องกระทำหลังจากมีการประกาศผลการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตแล้ว แต่ข้อเท็จจริงตามคำร้องยังไม่ปรากฏว่า กกต.ได้ใช้หน้าที่และอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายบัญญัติ จึงยังไม่ถือว่ามีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของ กกต.เกิดขึ้นแล้ว คำร้องของ กกต.ในส่วนนี้จึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 44 ที่ศาลฯ จะรับไว้วินิจฉัยได้

ด้านที่ประชุม กกต.ได้รับทราบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว และได้มอบหมายให้สำนักงาน กกต.ไปศึกษาวิธีคำนวณที่มีนักวิชาการหรือพรรคการเมืองได้เสนอ ว่าวิธีเหล่านั้นถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ขณะที่นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต.กล่าวว่า หาก กกต.ประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว มีผู้ที่เห็นว่า การคำนวณจัดสรร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ไม่ถูกต้อง ก็มีสิทธิไปร้องต่อศาลได้

4.ปิดฉาก “ค่าโง่โฮปเวลล์” หลังศาล ปค.สูงสุดพิพากษากลับ ให้รัฐจ่าย 1.2 หมื่นล้านตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ!

เมื่อวันที่ 22 เม.ย. ศาลปกครองกลางได้อ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เกี่ยวกับคดีพิพาทระหว่างบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ฟ้องคดี กับกระทรวงคมนาคม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กับพวกรวม 2 คน ซึ่งก่อนหน้านี้ กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ยื่นขอให้ศาลปกครองเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่สั่งให้กระทรวงฯ และ รฟท.ชดใช้ค่าเสียหายในการบอกเลิกสัญญาแก่บริษัท โฮปเวลล์ฯ จำนวน 1 หมื่นกว่าล้านบาท ต่อมา ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 13 มี.ค.2557 ให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการและให้ปฏิเสธการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งส่งผลให้กระทรวงคมนาคมและ รฟท.ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายแก่บริษัท โฮปเวลล์ฯ จากนั้น บริษัท โฮปเวลล์ฯ ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด

ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้ว พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง เป็นยกคำร้องของกระทรวงคมนาคมและ รฟท.ที่ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ และให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ให้กระทรวงคมนาคมและ รฟท.จ่ายค่าเสียหายจากการบอกเลิกสัญญาแก่บริษัท โฮปเวลล์ฯ เป็นเงิน 11,888.75 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย เงินค่าก่อสร้าง 9,000 ล้านบาท เงินค่าตอบแทนจากการใช้ประโยชน์ที่ดินที่บริษัทชำระไปแล้ว 2,850 ล้านบาท และเงินค่าออกหนังสือค้ำประกัน 38,749,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี และคืนหนังสือค้ำประกันมูลค่า 500 ล้านบาท โดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันนับแต่คดีถึงที่สุด

สำหรับคดีนี้ ศาลฯ มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัย 3 ประเด็น คือ 1. การบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ ซึ่งศาลฯ มองว่าไม่ขัด 2.บริษัท โฮปเวลล์ฯ มีสิทธิเสนอให้ระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการหรือไม่ ซึ่งกระทรวงคมนาคมและ รฟท.มองว่า บริษัท โฮปเวลล์ฯ ไม่มีสิทธิเสนอให้อนุญาโตตุลาการระงับข้อพิพาทคดีนี้ เพราะเลยระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดแล้ว แต่ศาลฯ เห็นว่า เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องตามกฎหมายคนละฉบับ และศาลฯ เห็นว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการไม่ปรากฏเหตุบกพร่องถึงขนาดทำให้เป็นคำชี้ขาดที่ฝ่าฝืนต่อตัวบทกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

และ 3.คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่กำหนดประเด็นว่า สัญญาสัมปทานเลิกกันไปโดยปริยายหรือโดยข้อกฎหมายหรือไม่ และกระทรวงคมนาคมและ รฟท.และบริษัท โฮปเวลล์ฯ จะกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม.391 หรือไม่นั้น ศาลฯ เห็นว่า เมื่อสัญญาเป็นอันเลิกกันแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะเดิม ขณะเดียวกัน ศาลฯ มองว่า ข้อโต้แย้งของกระทรวงคมนาคมและ รฟท.ที่อ้างเป็นเหตุให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้น ล้วนแต่เป็นการโต้แย้งดุลพินิจการพิจารณาข้อเท็จจริงและการปรับใช้กฎหมาย ซึ่งคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในประเด็นต่างๆ เป็นการวินิจฉัยว่า คู่สัญญาฝ่ายใดปฏิบัติตามสัญญาโดยถูกต้องหรือไม่ และคู่สัญญาแต่ละฝ่ายมีความรับผิดต่อกันหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องระหว่างคู่สัญญาเท่านั้น ไม่ได้มีลักษณะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใด จึงไม่ปรากฏเหตุให้อำนาจศาลปกครองเพิกถอนคำชี้ขาดในส่วนนี้ได้ จึงพิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองกลาง เป็นยกคำร้องของกระทรวงคมนาคมและ รฟท. และให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าว

ทั้งนี้ โครงการโฮปเวลล์ เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นโครงการก่อสร้างถนน ทางรถไฟ และรถไฟฟ้ายกระดับ บนพื้นที่ของ รฟท. ดำเนินการโดยบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) ในเครือโฮปเวลล์โฮลดิงส์ บริษัทสัญชาติฮ่องกง ของนายกอร์ดอน วู

แต่ต่อมาเกิดปัญหาการก่อสร้างล่าช้า เนื่องจากประสบปัญหาในการส่งมอบพื้นที่บริเวณริมทางรถไฟ ประกอบกับเศรษฐกิจของไทยในช่วงนั้นไม่เติบโตเท่าที่ควร ทำให้แนวโน้มการลงทุนธุรกิจในอสังหาริมทรัพย์ซบเซาลง อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องจุดตัดกับโครงการถนนยกระดับวิภาวดีรังสิต (ดอนเมืองโทลล์เวย์) และการก่อสร้างล่าช้าจนอัตราคืบหน้าของงานไม่เป็นไปตามสัญญาที่ทำไว้กับรัฐบาล

ภายหลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2534 รัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน เข้ามาตรวจสอบสัญญาสัมปทานทั้งหมดที่มีเงื่อนไขการผูกขาด โครงการโฮปเวลล์ ก็เป็นโครงการหนึ่งที่ถูกตรวจสอบ โดยนายนุกูล ประจวบเหมาะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น ได้ประกาศล้มโครงการโฮปเวลล์ พร้อมกับโครงการรถไฟฟ้าลาวาลิน และจัดตั้งองค์การรถไฟฟ้ามหานคร ขึ้นมาดำเนินการแทน เมื่อ พ.ศ. 2535

ต่อมาในรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2540 ให้ความเห็นชอบบอกเลิกสัญญากับโฮปเวลล์ หลังจากบริษัทโฮปเวลล์หยุดการก่อสร้างอย่างสิ้นเชิงตั้งแต่เดือน ส.ค. 2540

โครงการการก่อสร้างโครงการโฮปเวลล์สิ้นสุดลงในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย สมัยที่ 2 หลังดำเนินการก่อสร้างเป็นเวลา 7 ปี มีความคืบหน้าเพียง 13.77 % ขณะที่แผนงานกำหนดว่า ควรจะมีความคืบหน้า 89.75% กระทรวงคมนาคมได้บอกเลิกสัญญาสัมปทานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 ม.ค.2541 โดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

ด้านบริษัทโฮปเวลล์ฯ ได้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในการยกเลิกสัญญาจากกระทรวงคมนาคม และ รฟท.เป็นค่าใช้จ่ายจากการเข้ามาลงทุนเป็นเงิน 56,000 ล้านบาท ขณะที่ รฟท.ก็เรียกร้องค่าเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์จากโครงการ เป็นเงินกว่า 200,000 ล้านบาท

ต่อมา คณะอนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยชี้ขาดให้กระทรวงคมนาคมและ รฟท. จ่ายค่าเสียหายให้โฮปเวลล์ฯ เนื่องจากการบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรม เป็นเงิน 11,888.75 ล้านบาท หลังจากนั้น ทั้งสองฝ่ายต่างยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้ชี้ขาดคดีนี้อีกครั้ง

5.ศาลพิพากษาจำคุก 9 ผู้บริหาร ม.สันติภาพโลก 10 ปี ฐานตั้งมหาวิทยาลัยเถื่อน-ฉ้อโกง-ขายปริญญา!
นายสวัสดิ์ บรรเทิงสุข อธิการบดีผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยสันติภาพโลกที่ จ. เชียงใหม่
เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาคดีก่อตั้งมหาวิทยาลัยสันติภาพโลก (World Peace University : WPU) โดยมิชอบ ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสวัสดิ์ บรรเทิงสุข อธิการบดีผู้ก่อตั้ง WPU ที่ จ. เชียงใหม่ จำเลยที่ 1 พร้อมผู้บริหารอีก 8 คน ในความผิดฐานร่วมกันจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชนโดยไม่ชอบ ตามความผิด พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2526, ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343 และร่วมกันนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ฯ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 3 พ.ย.2555-21 ก.ค.2556 จำเลยทั้ง 9 คน ได้ร่วมกันจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ชื่อ "มหาวิทยาลัยสันติภาพโลก" อาคารที่ตั้งเลขที่ 19 ถ.เทพฤทธิ์ ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และหลอกลวงโดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่า มหาวิทยาลัยสันติภาพโลกเป็นมหาวิทยาลัยที่ถูกต้อง สามารถจัดการศึกษา การเรียนการสอนโดยบุคลากรที่มีคุณวุฒิ สามารถมอบใบปริญญาระดับต่างๆ และปริญญากิตติมศักดิ์ได้ มีสิทธิเท่าเทียมกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ซึ่งข้อความเท็จดังกล่าวได้ถูกนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และมีการบิดเบือนว่า มหาวิทยาลัยสันติภาพโลกเป็นมหาวิทยาลัยที่มีการจดทะเบียนที่รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา มีสำนักงานตั้งอยู่ที่ 506 ปาร์คไซต์เพลส อินเดียฮาเบอร์บีช รัฐฟลอริดา ทั้งที่ไม่ได้เป็นจริงตามอ้าง

ทำให้มีบุคคลนับร้อยคน ทั้งคนดังและนักแสดงเข้าร่วมรับปริญญาจากมหาวิทยาลัยดังกล่าว ทั้งที่ไม่มีการเรียนการสอน หรือการเรียนแบบอิสระตามแนวคิดที่จำเลยที่ 1 เคยอ้างไว้ ซึ่งการเข้ารับปริญญา ทางมหาวิทยาลัยได้ให้ผู้รับปริญญาชำระเงิน โดยอ้างเป็นค่าใช้จ่ายประมาณ 5,000-12,000 บาท ซึ่งมหาวิทยาจะทำเป็นกระเบื้องเซรามิกประทับตรา (โลโก้) มหาวิทยาลัย และชื่ออธิการบดีจำเลยที่ 1 ดังนั้นการกระทำของจำเลยทั้ง 9 คน จึงเป็นความผิดตามฟ้อง

พิพากษาให้จำคุกจำเลยที่ 1 รวม 60 กระทง กระทงละ 1 ปี รวม 60 ปี, จำคุกจำเลยที่ 4 จำนวน 61 ปี, จำคุกจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 คนละ 28 ปี 12 เดือน, จำคุกจำเลยที่ 5 และจำเลยที่ 6 คนละ 33 ปี 12 เดือน, จำคุกจำเลยที่ 7 จำนวน 10 ปี, จำคุกจำเลยที่ 8 และจำเลยที่ 9 คนละ 17 ปี

อย่างไรก็ตาม เมื่อรวมโทษทุกกระทงความผิดของจำเลยทั้งหมดแล้ว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (1) ให้จำคุกได้สูงสุดไม่เกิน 10 ปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 3 ปี จึงให้จำคุกจำเลยทั้ง 9 ได้คนละ 10 ปี และให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ได้รับใบปริญญาด้วย

ทั้งนี้ หลังฟังคำพิพากษา ทนายฝั่งจำเลยได้ยื่นขอประกันตัวจำเลยที่ 1 โดยยื่นหลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดินมูลค่า 4 ล้านบาท ส่วนจำเลยที่ 2-6 ยื่นหลักทรัพย์เป็นเงินสดคนละ 1 ล้านบาท ต่อมา ศาลอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้ง 6 คนระหว่างอุทธรณ์คดี โดยไม่กำหนดเงื่อนไขใดๆ ส่วนจำเลยที่ 7-9 ไม่สามารถหาหลักทรัพย์ 1 ล้านบาท เพื่อขอประกันตัวได้ทัน เจ้าหน้าที่จึงนำตัวจำเลยที่ 7 และจำเลยที่ 8 ไปคุมขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ส่วนจำเลยที่ 9 คุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง
กำลังโหลดความคิดเห็น