xs
xsm
sm
md
lg

ลีลาชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของชายที่ไม่ไร้พิษ! ชาวประชาตื่นตาตื่นใจ แต่คู่แข่งหนาวสะท้าน!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

ลีลาจอมพล ป.แสดงความอาลัยเมื่อท่านผู้หญิงละเอียดจะไปนอก ที่ดอนเมือง
เมื่อ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา เอือมระอาตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ๕ สมัยเต็มทน ขอลาออกอีกครั้ง และไม่ยอมให้รบเร้าอ้อนวอนกลับมาเป็นสมัยที่ ๖ อีก เป็นที่รู้กันว่า ทายาททางการเมืองของพระยาพหลฯก็คือ พ.อ.หลวงพิบูลสงคราม ผู้บัญชาการทหารบกและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้กุมอำนาจทางการทหารอย่างเด็ดขาดในขณะนั้น แม้คณะราษฎรจะยอมรับการฝากฝังของพระยาพหลฯ แต่หลวงพิบูลฯก็มีศัตรูอยู่มากจนถูกพยายามลอบฆ่ามาหลายครั้งแล้ว
ฉะนั้นก่อนที่สภาจะประชุมเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๔๘๑ ฝ่ายปฏิปักษ์กับหลวงพิบูลฯจึงเคลื่อนไหวกันหนัก หว่านล้อม ส.ส.ในสภาให้ขัดขวางหลวงพิบูลฯ และชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาอยู่ฝ่ายตัวให้ได้ โดยส่ง พ.อ.พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) ลงสนามสู้

พระยาทรงฯจบจากโรงเรียนเสนาธิกาทหารเยอรมันเช่นเดียวกับพระยาพหลฯ เป็นเสนาธิการโรงเรียนนายร้อยทหารบก มีลูกศิษย์มากมาย และเป็นผู้วางแผนยึดอำนาจในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ แต่มาเกิดแตกคอกับคณะราษฎร หันไปเป็นกำลังให้กลุ่มอำนาจเก่า แต่ก็ไม่สามารถหัก พ.อ.หลวงพิบูลฯ บุรุษแกร่งผู้ก้าวขึ้นมาเป็นทหารเสือมือขวาของพระยาพหลฯแทนพระยาทรงฯ เป็นที่รู้กันว่าพระยาทรงฯเป็นศัตรูหมายเลข ๑ ของหลวงพิบูลฯ และมีบารมีเหนือกว่าหลวงพิบูลฯเสียอีก บรรดาคนที่เป็นปฏิปักษ์กับหลวงพิบูลฯ จึงรวมกันเข้าหนุนพระยาทรงฯเพื่อสกัดดาวรุ่งไว้ให้ได้ การต่อสู้ครั้งนี้จึงเป็นศึกครั้งสำคัญของคนที่จะได้รับฉายา “นายกฯตลอดกาล” ต่อมา ซึ่งเป็นชายชาตรีที่ไม่ไร้พิษ

ฉะนั้นในวันที่ ๑๔ ธันวาคม ก่อนที่สภาจะซาวเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีในเช้าวันที่ ๑๕ พ.อ.หลวงพิบูลสงคราม ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและผู้บัญชาการทหารบก ได้สั่งให้มีการซ้อมป้องกันภัยทางอากาศเหนือฟ้าจังหวัดพระนคร อ้างว่าเพื่อเตรียมรับสถานการณ์สงครามที่คุกรุ่นอยู่ในเวลานั้น
ตั้งแต่เช้าตรู่ของวันนั้น รถบรรทุกทหาร รถปืนต่อสู้อากาศยาน รวมทั้งรถถัง ออกวิ่งกันขวักไขว่คึกคัก พอตกค่ำเสียงสัญญาณเตือนภัยทางอากาศ ที่เรียกกันว่า “หวอ” ก็ดังขึ้นโหยหวน ประชาชนต่างดับไฟมืดมิดหมดทุกบ้านตามคำประกาศขอความร่วมมือ กรุงเทพฯจึงเหมือนปกคลุมไว้ด้วยผ้าดำผืนใหญ่ เสียงครวญครางของสัญญาณภัยทางอากาศทำให้บรรยากาศน่าสยองขวัญยิ่งขึ้น จากนั้นเสียงเครื่องบินครางกระหึ่มมาเป็นระลอก ไฟฉายอากาศยานส่องขึ้นกราดท้องฟ้าเป็นลำเหมือนตราของบริษัททะเวนตี้เซนจูรีฟอกซ์ เมื่อจับถูกลำเครื่องบินก็จะเห็นสะท้อนแสงวาววับอยู่ในลำแสงไฟฉาย ตามมาด้วยเสียงปืนต่อสู้อากาศยานคำรามขึ้นสนั่นเมือง ชาวประชาต่างตื่นตาตื่นใจ เกิดความเลื่อมใสในตัว พ.อ.หลวงพิบูลฯ แต่ฝ่ายตรงข้าม ศัตรูทางการเมืองต่างหนาวสะท้านไปตามกัน คนทั้งหลายคิดเหมือนกันว่า ในวันรุ่งขึ้น ถ้า พ.อ.หลวงพิบูลสงครามแพ้โหวตในสภา ทหารคงต้องออกมาเอ็กเซอร์ไซส์กันอีกแน่

การลงคะแนนซาวเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งนี้เป็นการลงคะแนนลับ และก็เป็นไปตามคาด คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลงนามแต่งตั้ง พ.อ.หลวงพิบูลสงคราม ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ ๓ ของประเทศไทยในวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๔๘๑

ข่าวการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ ไม่มีหนังสือพิมพ์ฉบับใดเสนอรายละเอียด นอกจากผลสรุป เพราะเป็นการลงคะแนนลับ แต่หนังสือพิมพ์ “ชุมชน” ของ ร.ท.ณเณร ตาละลักษณ์ ส.ส.พระนคร ซึ่งเข้าประชุมด้วย กลับเสนอข่าวว่าสภาได้ลงคะแนนให้พระยาทรงสุรเดช ชนะหลวงพิบูลสงครามขาดลอย แต่ข่าวนี้ก็ไม่ได้รับการยืนยันหรือปฏิเสธแต่อย่างใด หายไปกับสายลมเมื่อ พ.อ.หลวงพิบูลฯก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาอีกเดือนเศษ ในวันที่ ๒๙ มกราคม ข่าวของ นสพ.ชุมชนก็ถูกนำมาวิจารณ์กันอีก เมื่อมีการกวาดจับศัตรูทางการเมืองของ พ.อ.หลวงพิบูลสงครามครั้งใหญ่ราว ๑๐๐ คน ในจำนวนนี้มี ร.ท.ณเณรรวมอยู่ด้วย และถูกศาลพิเศษซึ่งตั้งขึ้นสำหรับคดีนี้โดยเฉพาะ ตัดสินประหารชีวิต จึงพูดกันว่าเป็นเพราะการเสนอข่าวของเขา รวมกับการเคลื่อนไหวต่อต้านหลวงพิบูลฯมาตลอดนั่นเอง

ส่วน พ.อ.พระยาทรงสุรเดช แม้จะเป็นศัตรูหมายเลข ๑ กลับรอดพ้นจากการกวาดจับในครั้งนี้ อาจจะเป็นเพราะยังมีบารมีอยู่ในกองทัพมาก แต่เมื่อสถานการณ์สุกงอมขึ้น ผู้มีบารมีในกองทัพก็ไม่รอด ขณะที่พระยาทรงฯไปตรวจค่ายทหารที่ราชบุรี ก็ได้รับซองขาว มีข้อความให้ออกจากราชการโดยไม่มีเบี้ยหวัดบำนาญ และบังคับให้ออกนอกประเทศโดยไม่ต้องไปลำบากหาช่องทางธรรมชาติ จับส่งขึ้นรถไฟสายอรัญประเทศ ให้ไปลี้ภัยในอินโดจีนของฝรั่งเศส เสนาธิการผู้ปราดเปรื่องจากเยอรมันต้องไปใช้ชีวิตยากแค้นอยู่ที่นั่น จนจบชีวิตลงในปี ๒๔๘๗
ในประวัติศาสตร์ช่วงการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย พ.อ.หลวงพิบูลสงครามนับว่าเป็นนักการเมืองที่มีบทบาทมากที่สุด นอกจากจะเป็นหัวแรงสำคัญในการเข้ายึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยได้แล้ว ขณะประชาธิปไตยไทยมีอายุยังไม่ทันจะครบขวบปี กลุ่มขุนนางอำนาจเก่าก็จะช่วงชิงเอาอำนาจกลับไปได้อีก ในนาทีสุดท้ายนั้น เขาผู้นี้ที่ปกป้องประชาธิปไตยไว้ได้ และหลังจากนั้นไม่นาน นายพลเอกเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง ก็เกณฑ์กองทัพหัวเมืองยกเข้ามายึดถึงบางเขน หวังจะชิงอำนาจอีก เขาผู้นี้อีกเช่นกันที่สู้สุดชีวิต และสามารถปกป้องประชาธิปไตยไว้ได้อีกครั้ง

เขาผู้นี้ยังได้สร้างประวัติศาสตร์กองทัพไทย ทำสงครามกับฝรั่งเศสในอินโดจีนเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๔ สามารถนำดินแดนที่ฝรั่งเศสบีบเอาไปสมัยรัชกาลที่ ๕ คืนมาได้ เขาจึงเป็นขวัญใจประชาชน ได้เลื่อนยศจากพลตรี กระโดดข้ามขั้นขึ้นเป็นจอมพล และเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในนาม จอมพล ป.พิบูลสงคราม

ในบางช่วงของการครองอำนาจอันยาวนานถึง ๘ สมัย รวมเวลา ๑๔ ปี ๑๑ เดือน ๑๘ วัน จนได้ฉายา “นายกฯตลอดกาล” จอมพล ป.พิบูลสงครามได้ใช้อำนาจเผด็จการอย่างเต็มที่ก็จริง แต่ทว่าเป็นการใช้เพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลงประเทศชาติให้ศิวิไลซ์ขึ้นโดยรวดเร็ว อย่างที่ไม่เคยมีใครทำได้ ไม่ได้ใช้อำนาจเผด็จการเพื่อกอบโกยความมั่งคั่งให้กับตัวเองและพวกพ้อง อย่างที่ผู้เผด็จการรุ่นหลังทำจนสร้างแบบอย่างอันเลวร้ายทางการเมืองมาถึงทุกวันนี้ และเป็นนายกรัฐมนตรีที่สร้างผลงานเป็นมรดกตกทอดให้ชาติไว้หลายอย่าง รวมทั้งเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นไทย เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จาก ๑ เมษายนเป็น ๑ มกราคม และทำให้คนไทยหันมานุ่งกางเกงแทนนุ่งโจงกระเบน แม้จะทำไม่สำเร็จในเรื่องปรับปรุงภาษาไทย และทำให้คนไทยมีวินัยเหมือนคนญี่ปุ่นก็ตาม

ในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ.๒๔๗๕ จนถึง พ.ศ.๒๕๐๐ อาจกล่าวได้ว่า ถ้าไม่มีจอมพล ป.พิบูลสงครามแล้ว ประเทศไทยคงไม่เป็นอย่างที่เป็นอยู่ในวันนี้ แม้จอมพล ป. พิบูลสงครามจะได้ชื่อว่าเป็นเผด็จการ แต่ก็อาจถือได้ว่า เป็นผู้ปกป้องระบอบประชาธิปไตยให้ยืนยงมาได้จนถึงทุกวันนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น