xs
xsm
sm
md
lg

อหังการ์พ่อค้าสายลับฝรั่ง! คนที่ทำให้ ร.๓ ทรงเปลี่ยนนโยบายจากมิตรเป็นไม่อยากคบฝรั่ง!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

ห้างบีกริมของเยอรมันที่ปากคลองตลาด เปิดตึกใหม่ในโอกาสฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ ๑๐๐ ปี
พงศาวดารกล่าวว่า ห้างขายสินค้าของชาวตะวันตกที่เข้ามาเปิดในเมืองไทยเป็นแห่งแรกก็คือ “ห้างมอร์แกนและฮันเตอร์” โดยเช่าตึกของ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ที่หน้าวัดประยุรวงศาวาส เปิดดำเนินการใน พ.ศ. ๒๓๖๙ ขายสินค้าจากต่างประเทศหลายอย่าง ทั้งผ้าจากยุโรป จากอินเดีย และยาฝรั่ง แต่ที่แอบขายเป็นสินค้าใต้ดินก็คือ ฝิ่น

มอร์แกน เป็นชื่อของคนอังกฤษซึ่งมีหลักฐานปรากฏข้อความอยู่ในจดหมายของกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษที่มีมาถึงผู้สำเร็จราชการเบงกอลว่า นายมอร์แกนเป็นสายลับของผู้ว่าราชการเกาะปีนัง ที่ส่งเข้ามาสืบข่าวคราวจากราชสำนักไทย รายงานให้ทราบเป็นระยะ

ส่วนฮันเตอร์นั้น ก็คือ นายโรเบิร์ต ฮันเตอร์ เป็นชาวสก็อต ที่คนไทยเรียกอย่างสะดวกลิ้นว่า “นายหันแตร” ไม่มีหลักฐานว่าเป็นสายลับก็จริง แต่พฤติกรรมที่ชอบวางอำนาจ ข่มขู่แม้ข้าราชการไทยนั้น แสดงว่าต้องมีคนถือหางส่งเข้ามาเช่นเดียวกับนายมอแกนแน่

นายฮันเตอร์ได้เข้ามาเมืองไทยในปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๓๖๗ ต่อมาได้ร่วมกับนายมอร์แกนตั้งห้างค้าขายขึ้น แต่ทว่าเปิดได้ไม่นานนายมอร์แกนก็กลับไปอังกฤษ หุ้นส่วนคนใหม่ของนายหันแตร เป็นชาวอังกฤษเหมือนกัน ชื่อ เฮส์ จึงเปลี่ยนชื่อห้างเป็น “ห้างฮันเตอร์เฮส์แอนด์กัมปะนี” แต่ต่อมานายเฮส์เป็นบิดอย่างรุนแรง แม้จะออกไปรักษาตัวที่สิงคโปร์อยู่ ๕-๖ เดือน กลับเข้ามาสุขภาพก็ไม่ดีเหมือนก่อน จึงกลับอังกฤษ แต่ไปไม่ถึงก็ต้องเสียชีวิตกลางทาง

นายฮันเตอร์ค้าขายร่ำรวยเข้าขั้นเศรษฐี เป็นเจ้าของเรือเดินทะเลชื่อ “เฟรนด์” เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะได้ปืนแบบตะวันตกเอาไว้ป้องกันประเทศ นายฮันเตอร์ก็หาเอาเข้ามาได้ตามพระราชประสงค์ มีความดีความชอบเป็นอันมาก ใน พ.ศ.๒๓๗๔ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็น “หลวงอาวุธวิเศษประเทศพานิช”

ถึงตอนนี้นายหันแตรก็มีทั้งเงินทั้งบารมี ไม่เกรงกลัวผู้ใด กอบโกยทำกำไรอย่างเต็มที่ โดยลักลอบเอาฝิ่นที่อังกฤษส่งเข้าไปถล่มในจีนเข้ามาขายในเมืองไทยด้วย เจ้าพนักงานไทยก็รู้ แต่ไม่มีใครกล้าจัดการกับนายหันแตรที่มักจะอ้างอังกฤษมาข่มขู่ข้าราชการไทยเสมอ ทำให้นายหันแตรได้ใจวางอำนาจบาตรใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ

วันหนึ่ง นายฮันเตอร์นำเรือกลไฟเก่าๆผุๆเข้ามา เสนอขายให้ราชการไทยในราคาถึง ๑,๒๐๐ ชั่ง หรือ ๙๖,๐๐๐ บาท เจ้าพนักงานเห็นสภาพเรือกับราคาก็บอกปฏิเสธไม่ยอมซื้อ ทำให้นายฮันเตอร์โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ อ้างว่าพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งให้เอาเข้ามา ถ้าเจ้าพนักงานไม่ซื้อก็จะเอาไปผูกไว้ที่หน้าตำหนักแพ และถ้าไม่ยอมจ่ายเงินให้ก็จะฟ้องรัฐบาลอังกฤษให้ส่งเรือรบเข้ามาจัดการ

นายฮันเตอร์ไม่ได้ข่มขู่ครั้งนี้เป็นครั้งแรก แต่ทำตัวเป็นคนเจ้าปัญหาข่มขู่ทางการไทยตลอดมา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขุ่นเคืองพระทัยในพฤติกรรมของนายหันแตรมาก เลี้ยงไว้ต่อไปก็คงจะก่อเรื่องไม่หยุดหย่อน ทรงถือว่านายหันแตรเป็นข้าราชการสยาม มีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงอาวุธวิเศษ จึงโปรดให้ขับไล่ออกไปให้พ้นแผ่นดินไทย

กล่าวกันว่าพฤติกรรมของนายโรเบิร์ต ฮันเตอร์นี้ มีผลต่อนโยบายต่างประเทศในปลายรัชกาลที่ ๓ มาก จากการที่ทรงรักใคร่ชอบพอ ดำริจะผูกมิตรกับชาวตะวันตก กลับกลายเป็นเกลียดชังไม่ต้องการจะคบหาสมาคมด้วย เพราะนายหันแตรเพียงคนเดียวก็ก่อความวุ่นวายถึงเพียงนี้ ถ้าเข้ามาอยู่ในกรุงสยามมากก็อาจจะสร้างความวุ่นวายไปทั้งเมืองได้

ก่อนหน้านั้น อังกฤษได้ส่ง เฮนรี เบอร์นี หรือพงศาวดารเรียกว่า “หันรี บารนี” เป็นทูตเข้ามาใน พ.ศ. ๒๓๖๘ และอเมริกาได้ส่ง เอ็ดมันด์ โรเบิร์ต เป็นทูตเข้ามาใน พ.ศ. ๒๓๗๖ ทั้ง ๒ รายต่างก็ประสบผลสำเร็จในการเจรจา เพราะทรงเห็นว่าการญาติดีกับฝรั่งจะขจัดการคุกคามทางการเมืองของฝรั่งลงได้ แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปการคุกคามก็ไม่ได้ลดลง ทั้งยังเป็นการเปิดทางให้ฝรั่งเข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจการภายใน สร้างความวุ่นวายให้เกิดขึ้น อย่างในกรณีของนายหันแตร อันเป็นผลให้พระองค์ทรงเปลี่ยนท่าทีต่อชาวตะวันตก

นายสเปนเซอร์ จอห์น เลขานุการของคณะทูตเซอร์ เจมส์ บลูค ที่เข้ามาเจรจาการค้าใน พ.ศ.๒๓๙๓ ปีสุดท้ายสมัยรัชกาลที่ ๓ และไม่ประสบความสำเร็จ บันทึกความเห็นในเรื่องนี้ไว้ว่า

“พระองค์ (พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ) ได้ทรงเคยรักใคร่ชอบพอชาวอังกฤษเป็นอย่างมาก แต่ในระยะ ๒-๓ ปีหลังนี้พระองค์ได้แสดงความเป็นศัตรูกับชาวต่างประเทศอย่างหนักพอๆกับที่ทรงเคยเป็นมิตร ข้าพเจ้าเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เนื่องมาจากความประพฤติอันเลวทรามของพ่อค้าอังกฤษคนหนึ่งที่อยู่กรุงเทพฯ บุคคลผู้นี้ทำให้พระองค์ทรงพิโรธ เพระเขาได้พยายามบีบบังคับรัฐบาลสยามอย่างไม่เป็นธรรม ให้ซื้อเรือกำปั่นลำหนึ่งด้วยราคาอันแพงลิบลิ่ว ตั้งแต่เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันครั้งนั้นแล้ว ฐานะของชาวต่างประเทศได้ทรุดลงไปเป็นอันมาก และเท่าที่ได้รับฟังเรื่องราวของพวกอังกฤษเท่านั้น ข้าพเจ้าก็สามารถกล่าวได้ว่าพวกเขามีความประพฤติเลวทรามเหลือเกิน หากข้าพเจ้าได้รับฟังเรื่องราวจากองค์พระมหากษัตริย์โดยตรง ข้าพเจ้าอาจต้องพูดอะไรรุนแรงยิ่งไปกว่านี้”
เมื่อนายฮันเตอร์ถูกไล่ให้พ้นจากแผ่นดินไทยไปแล้ว แต่เมื่อสิ้นรัชกาลที่ ๓ นายฮันเตอร์ก็ได้หวนกลับเข้ามาอีก เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) สมุหกลาโหมได้อุปการะไว้ แต่การกลับเข้ามาครั้งใหม่นี้ นายหันแตรคงจะหมดพิษสงลงไปมาก เพราะไม่ปรากฏเรื่องวุ่นวายอีก และทำงานอยู่กับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จนถึงแก่กรรมในวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๔๐๘

การตายของนายหันแตร ปรากฏเป็นข่าวค่อนข้างละเอียดในหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์เดอร์ ของหมอบรัดเลย์ มีข้อความว่า

“ณ วันพุธ เดือนห้า แรมเก้าค่ำ ปีฉลู สัพตศก, มิศเตอโรเบิดหันแตร ผู้เป็นล่ามแลเสมียนในเจ้าพระยาศรีสุริยวงษ์ ถึงอนิจกำม์ที่บ้านเขา มีข่าวว่าถึงแก่กำม์เพราะกินสุรา”

นี่ก็เป็นเรื่องราวของฝรั่งคนหนึ่งที่เข้ามามีบทบาทอยู่ในเมืองไทย และชื่อของเขาถูกจารึกอยู่ในพงศาวดารยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ความจริงฝรั่งที่เข้ามาช่วยราชการไทย ส่วนใหญ่ก็สร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศไทยอย่างมาก หลายคนก็อุทิศชีวิตให้กับการทำงานให้ราชการไทยจนตายในเมืองไทย บางคนก็สืบเชื้อสายจนเป็นต้นตระกูลที่มีบทบาทสำคัญในสังคมไทยต่อมาอีก คนที่เลวร้ายสร้างปัญหาให้อย่างนายหันแตรนี้มีเป็นส่วนน้อย แต่ทว่าที่ชั่วร้ายกว่านายหันแตรก็ยังมี


กำลังโหลดความคิดเห็น