xs
xsm
sm
md
lg

ภารกิจนี้ที่รัก "หนุ่มเมืองเทิง" จากดีเจสู่ “สุภาพบุรุษไปรษณีย์”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

หัวใจเพื่อชุมชน “หนุ่มเมืองเทิง ฉัตรชัย เชิงน้ำ อดีตนักจัดรายการวิทยุที่ผันตัวเองมาเป็นเจ้าหน้าที่ ปณ.เทิง
"คนที่ไม่อยู่หน้างาน ไม่มีวันเข้าใจการทำงานหรอก" คำนี้ยังคงใช้ได้เสมอ เช่นเดียวกับชีวิตการทำงานของ “หนุ่มเมืองเทิง" ฉัตรชัย เชิงน้ำ อดีตนักจัดรายการวิทยุที่ผันตัวเองมาเป็นเจ้าหน้าที่ ปณ.เทิง ในวัย 30 ปี ตลอด 8 ปีบนเส้นทางนำจ่าย แม้การทำงานจะไม่ได้โรยรายด้วยกลีบกุหลาบ แต่ก็มีหลายเรื่องระหว่างทางที่ทำให้เขารู้สึกภูมิใจ และทำให้งานนี้ดูมีคุณค่า

"ภูมิใจที่สุดก็คือการช่วยคนหายให้ได้กลับบ้านครับ" เขาเอ่ยขึ้นด้วยน้ำเสียงที่เปี่ยมไปด้วยความสุข ก่อนจะเล่าให้ฟังต่อไปว่า "มีจดหมายฉบับหนึ่งจาก กทม. ครับ แต่ที่อยู่ไม่เป็นปัจจุบันแล้ว เพราะหมู่บ้านที่ผู้ส่งเขียนมา ตอนนี้แยกออกเป็น 2 หมู่บ้านไปแล้ว แต่ผมก็ไม่ตีคืนนะ ตามหาเอาจากชื่อ นามสกุลที่เขียนมา ผมก็ถามคนในหมู่บ้าน ชาวบ้านก็ช่วยกันไล่ๆ ถามให้ ปรากฎว่ามีคนรู้จัก สรุปเป็นจดหมายของคนที่โดนหลอกไปทำงานที่อื่น ซึ่งหายไปหลายสิบปี เมื่อทางญาติได้อ่านจดหมายต่างก็ดีใจกันยกใหญ่ หลังจากนั้นผมก็ทราบว่า ญาติๆ ไปรับคนที่เขียนจดหมายฉบับนี้กลับมาอยู่บ้านแล้ว

สำหรับผมแล้ว มันทำให้อาชีพนี้มีคุณค่าขึ้นมามากทีเดียว ทำให้คนที่หายไปนาน ได้กลับบ้านมาเจอญาติๆ ของเขา ผมมีโอกาสได้เจอเขา เขาก็ยิ้มให้ผม หรือบางคน บางชุมชน เรากลายเป็นส่วนหนึ่ง เปรียบเสมือนเครือญาติของพวกเขาไปแล้ว เด็กบางคนเราเห็นตั้งแต่เกิด ทำหน้าที่ส่งนมผง ส่งผ้าอ้อมให้ เพราะวิถีชีวิตครอบครัวในต่างจังหวัด เราต้องเข้าใจว่า บางครอบครัว พ่อแม่ไปทำงานต่างจังหวัด ต้องฝากลูกไว้กับปู่ย่าตายาย




ส่วนผมก็เป็นตัวกลางนำของไปส่งให้จนเด็กคนนั้นตอนนี้ 8 ขวบแล้ว เท่ากับอายุการทำงานของผมเลย ปัจจุบันผมก็ยังส่งของให้อยู่นะ บางวันตายายไปนา แต่ผมรู้ว่าเด็กคนนี้เรียนอยู่โรงเรียนอะไร ชั้นอะไร ผมก็แวะเอาไปให้ที่ห้องเรียน ซึ่งผมรู้สึกว่าเหมือนมาส่งของให้ลูกให้หลานมากกว่า แม้ว่าจะไม่ได้หวังผลตอบแทนอะไร แต่หลายๆ ครั้งญาติของเด็กจะแบ่งของให้ หรือเวลามีงานในหมู่บ้านก็จะเรียกผมตลอด" หนุ่มเมืองเทิงเล่าด้วยความสุข

ดังนั้น ไม่เพียงแต่บุรุษไปรษณีย์ แต่เขายังเป็น "สุภาพบุรุษ" ในดวงใจของชาวบ้านอีกด้วย

"ถ้ามีอะไรผิดพลาด ผมจะรีบไปดูแลทันทีครับ" เขาบอก "อย่างเวลาใครสั่งของออนไลน์ ทำไมของยังไม่มาถึงสักที ผมก็จะขอเอาเลขมา และติดตามให้ตลอด หรือถ้าบ้านอยู่ไกล ถามผมได้ อย่างคุณยายท่านหนึ่ง จะส่งของให้ลูก ผมก็บอกเดี๋ยวผมเอาใบเสร็จมาให้ทีหลังก็ได้ หรือบางครอบครัวที่ไปทำไร่ทำนา ผมก็ขับไปส่งให้ถึงที่นาเลย"


ปัจจุบันแม้จะมีคู่แข่งจากบริษัทเอกชนหลายๆ ที่เข้ามา แต่ "หนุ่มเมืองเทิง" ไม่หวั่นใจ เพราะเชื่อมั่นในงานที่ทำ



"ผมไม่หวั่นอะไรนะ มีคู่แข่งก็ทำหน้าที่ไปด้วยกัน ส่วนตัวผมมั่นใจในการบริการของเรา เพราะจุดแข็งของเราคือ ไม่ต้องโทร.กวนลูกค้าครับ (หัวเราะ) อย่างบริษัทเอกชน เขาจะโทร.ถามอยู่นั่นแหละ บางคนเป็นครู กำลังสอนอยู่ หรือเป็นพนักงานในท้องที่ ไม่สะดวกรับสาย แต่เรารู้ครับ ยกตัวอย่างครูคนหนึ่งในพื้นที่นำจ่ายของผม อยู่บ้านเลขที่นี้ สอนอยู่โรงเรียนนี้ ผมก็ไปส่งถึงห้องเลย ขออนุญาตเป็นภาษาอังกฤษ May I come in, Please?" พูดจบก็หัวเราะยาว ก่อนจะให้ทัศนะทิ้งท้ายถึงการบริการของไปรษณีย์ไทยที่มักจะถูกตั้งคำถามจากสังคม หรือคนในโซเชียล

"อย่าเพิ่งเหมารวมครับ ขอให้คิดว่า พี่น้องไปรษณีย์ที่ทำงานดีๆ ก็มีเยอะนะครับ อย่าง 100 คน อาจมีไม่ดีสัก 1 คน บางครั้งถ้ามันมีข่าว อยากให้ระบุไปด้วยว่า ไปรษณีย์ไหนที่ไม่ดี อย่างพื้นที่ของผม ไม่มีข่าว ไม่มีเรื่องร้องเรียนอะไรเลย ดังนั้นในพื้นที่นำจ่ายของผม ไม่มีใครแอนตี้ไปรษณีย์ครับ ทุกคนยังมั่นใจในบริการ เสมือนญาติมิตรคนหนึ่งของพวกเขา"

ดังนั้น ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร เวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนไปเลยก็คือ มิตรภาพ และความผูกพันกับคนในชุมชน แม้จะมีธุรกิจบริการส่งของใหม่ๆ ผุดขึ้นมากมาย ก็ไม่สามารถทำลายกำแพงเหล่านี้ออกไปได้ และก็คงไม่สามารถเข้ามาแทนที่ได้เช่นกัน

กำลังโหลดความคิดเห็น