xs
xsm
sm
md
lg

“อัศวิน” แต้มสีกรุงเทพฯ เปลี่ยนริมคลองโอ่งอ่าง เตรียมรับเทศกาลวันลอยกระทง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“อัศวิน” ลุย “แต้มสีกรุงเทพฯ” ริมคลองโอ่งอ่าง ปรับภูมิทัศน์ให้สวยงามสะอาดตา เตรียมพื้นที่จัดงานลอยกระทง ปี 2561 พร้อมเข้าจัดระเบียบเร่งคืนที่สาธารณะให้ประชาชน กำหนดแผนปรับปรุงภูมิทัศน์ และพัฒนาให้เป็นพื้นที่ที่มีอัตลักษณ์

วันนี้ (6 พ.ย.) เมื่อเวลา 09.30 น. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดกิจกรรม “แต้มสีกรุงเทพฯ” ริมคลองโอ่งอ่าง บริเวณสะพานหัน เขตสัมพันธวงศ์ พร้อมรับมอบสีจากบริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) จำนวน 106 ถัง และบริษัท ฮาโต้ เพนท์ (เจ.เค.อาร์) จำกัด จำนวน 71 ถัง เพื่อใช้ในกิจกรรมแต้มสีกรุงเทพฯ อาคารสองฝั่งคลองโอ่งอ่าง เพื่อฟื้นฟูภูมิทัศน์ของพื้นที่ให้เกิดความสวยงาม เป็นระเบียบเรียบร้อย ภายใต้วาระการพัฒนากรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2561 “NOW ทำจริง เห็นผลจริง” โดยมีคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารบริษัท ฮาโต้ เพนท์ (เจ.เค.อาร์) จำกัด สำนักผังเมือง สำนักการระบายน้ำ สำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ สำนักงานเขตพระนคร ผู้ประกอบการร้านค้า ประชาชน ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องร่วมกิจกรรม

พล.ต.อ.อัศวินกล่าวว่า กทม.ได้รับการสนับสนุนสีจากบริษัท ทีโอเอฯ และบริษัท ฮาโต้ฯ ในกิจกรรม “แต้มสีกรุงเทพฯ” อาคารริมสองฝั่งคลองโอ่งอ่าง เพื่อดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณริมคลองโอ่งอ่างให้สวยงาม และสร้างอัตลักษณ์ให้แก่พื้นที่ซึ่งขณะนี้ กทม.ได้ดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์ ก่อสร้างเขื่อน และบำบัดน้ำในคลองให้ใสสะอาด พร้อมทำทางเดินเท้าและปลูกต้นไม้บริเวณริมสองฝั่งคลอง ให้มีความสวยงาม โดยในอนาคตจะพัฒนาคลองโอ่งอ่างแห่งนี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและถนนคนเดินที่มีอัตลักษณ์ นอกจากนี้ ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณสองฝั่งคลองจะได้มีอาชีพ เป็นการสร้างรายได้ให้ประชาชน เมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวจะได้เห็นความสะอาดตาและความสวยงามของทัศนียภาพของริมคลองโอ่งอ่างแห่งนี้ ให้สมกับชื่อ “เวนิสตะวันออก”

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกล่าวเพิ่มเติมว่า กทม.ได้กำหนดจัดงานเนื่องในเทศกาลลอยกระทง ประจำปี 2561 จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ บริเวณริมคลองโอ่งอ่าง และบริเวณใต้สะพานพระราม 8 นอกจากนี้ยังมีการจัดงานในพื้นที่เขตต่างๆ รวมถึงเปิดให้ประชาชนลอยลอยกระทง ณ สวนสาธารณะทั่วกรุงเทพมหานครอีกด้วย ซึ่ง กทม.ต้องขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนห้ามปล่อยโคมลอย จุดพลุ ประทัดหรือดอกไม้ไฟ เพราะนอกจากเสียงที่ดังรบกวนแล้ว ยังเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย ในส่วนของกระทง ขอให้ใช้กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ต้นกล้วย ใบตอง หรือขนมปัง เพื่อลดจำนวนขยะที่ย่อยสลายยากอย่างโฟมหรือพลาสติก อีกทั้งยังเป็นอาหารของปลาได้อีกด้วย

กรุงเทพมหานครจึงได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการรุกล้ำที่สาธารณะบริเวณคลองโอ่งอ่างตามแนวทางของประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 44 ซึ่งผู้ที่รุกล้ำที่สาธารณะถือว่ามีความผิด โดยในวันที่ 28 ก.ย. 2558 กรุงเทพมหานครได้เริ่มปิดประกาศแจ้งให้ทุกแผงค้ารับทราบเพื่อทำการรื้อย้ายแผงค้าและสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำคลองโอ่งอ่างออกภายใน 15 วัน คือวันที่ 13 ต.ค. 2558 จากนั้นกรุงเทพมหานคร โดยสำนักการโยธา สำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ สำนักงานเขตพระนคร สำนักการระบายน้ำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เริ่มรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค. 2558 และดำเนินการแล้วเสร็จวันที่ 30 พ.ย. 2558 ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้จัดหาสถานที่รองรับผู้ค้าที่รื้อย้าย เช่น ตลาดหลังพาต้าปิ่นเกล้า ตลาดนัดสายใต้เก่า (ปิ่นเกล้า) ตลาดคึกคักท่าดินแดง คลองถม คอร์เนอร์ 2 และตลาดขนส่งสายใต้ใหม่ (ตลิ่งชัน)

ภายหลังจากดำเนินการรื้อย้ายแผงค้าและสิ่งปลูกสร้าง ที่รุกล้ำคลองโอ่งอ่างเรียบร้อยแล้ว กรุงเทพมหานครได้เข้าทำการปรับปรุงภูมิทัศน์ตั้งแต่สะพานสะพานดำรงสถิต ถึงสะพานโอสถานนท์ ความยาว 750 ม. รวม 2 ฝั่ง ความยาว 1,500 ม. โดยเริ่มสัญญาวันที่ 9 มิ.ย. 2561 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 3 มิ.ย. 2562 ระยะเวลาก่อสร้าง 360 วัน โดยดำเนินการก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. แบบไม่มีการทำดาดท้องคลอง เนื่องจากกรมศิลปากรต้องการให้อนุรักษ์สภาพพื้นคลองให้เป็นดินเหมือนในอดีตที่ผ่านมา และติดตั้งท่อรวบรวมระบบสาธารณูปโภค ก่อสร้างระบบระบายน้ำเสียและระบบระบายน้ำ เพื่อรวบรวมน้ำเสียเข้าสู่โรงควบคุมคุณภาพน้ำรัตนโกสินทร์ สามารถบำบัดน้ำเสียได้ 40,000 ลบ.ม./วัน ก่อสร้างและปรับปรุงภูมิทัศน์ริมคลอง รวมถึงสร้างบันได ค.ส.ล.ลงท่าน้ำ 4 แห่ง นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการปรับปรุงสะพานข้ามคลอง 5 แห่ง ประกอบด้วย สะพานดำรงสถิต สะพานภาณุพันธ์ สะพานหัน สะพานบพิตรภิมุข และสะพานโอสถานนท์ รวมทั้งติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) จำนวน 46 ตัว เพื่อดูแลความปลอดภัย ตลอดจนปรับปรุงภูมิทัศน์ริมคลองโอ่งอ่างให้มีความสะอาดสวยงามและร่มรื่น โดยการปลูกต้นไม้ ได้แก่ ต้นกระดุมทอง ต้นเสลา ต้นไทรเกาหลี ขณะนี้ผลงานโดยรวมคืบหน้าแล้วประมาณ 50% อย่างไรก็ตาม โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ตั้งแต่สะพานดำรงสถิตถึงสะพานภานุพันธ์ ความยาว 250 ม. รวม 2 ฝั่ง ความยาว 500 เมตร จะแล้วเสร็จก่อนเทศกาลลอยกระทงในวันที่ 22 พ.ย. 2561 เพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับจัดงานเทศกาลส่งเสริมการท่องเที่ยวงานลอยกระทง ภายใต้แนวคิด “ประดิษฐ์กระทง นุ่งไทย ไหว้พระคงคา” ส่วนการก่อสร้างที่เหลือคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือน มี.ค. 2562

ทั้งนี้ “คลองโอ่งอ่าง” เป็นส่วนหนึ่งของคลองรอบกรุง ซึ่งขุดขึ้นสมัยรัชกาลที่ 1 มีความกว้างประมาณ 20 เมตร ยาวประมาณ 2 กิโลเมตร เชื่อมต่อจากคลองบางลำพู บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศสิ้นสุดที่บริเวณเชิงสะพานพระปกเกล้า ระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา โดยเมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2519 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนคลองโอ่งอ่างให้เป็นโบราณสถาน ต่อมาวันที่ 21 พ.ค. 2540 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบกำหนดแนวคิดการอนุรักษ์และพัฒนาคลองโอ่งอ่าง ด้วยการจัดระเบียบบริเวณปากคลองโอ่งอ่าง ปรับปรุงสะพานหันที่มีรูปลักษณ์เป็นสะพานสมัยรัชกาลที่ 5 ส่งเสริมให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชุมชน และวันที่ 28 ก.ค. 2543 คณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า มีมติให้กรุงเทพมหานครรื้อถอนอาคาร และแผงค้าที่รุกล้ำบริเวณคลองโอ่งอ่าง ซึ่งมีจำนวนประมาณ 500 แผง ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตพระนคร 375 แผง และเขตสัมพันธวงศ์ 125 แผง เนื่องจากก่อให้เกิดความสกปรกและเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค กีดขวางการสัญจรทางน้ำและเป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำ มีการก่อสร้างอาคารทับหลังเขื่อน ค.ส.ล. ทำให้แนวเขื่อนได้รับความเสียหาย และหากเกิดอัคคีภัยหรือภัยพิบัติอื่นๆ จะทำให้กีดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มอิทธิพล มาเฟีย หรือผู้มีผลประโยชน์หนุนหลังผู้ค้า และมีการจ้างงานชาวต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง ซึ่งมีผลด้านความมั่นคงของชาติ จึงจำเป็นต้องดำเนินการจัดระเบียบพื้นที่บริเวณดังกล่าวให้แล้วเสร็จโดยเร็ว















กำลังโหลดความคิดเห็น