xs
xsm
sm
md
lg

กรมฝนหลวงฯ เตรียมปฏิบัติการทันที พร้อมรับมือฤดูแล้ง ปี 62

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ปฏิบัติการทันทีเมื่อมีสภาพอากาศเหมาะสม พร้อมประสานกับกรมชลประทาน เติมน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ เพื่อรองรับฤดูแล้ง ปี 2562

วันนี้ (31ต.ค.) นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ตามที่กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้รับการร้องขอรับบริการฝนหลวงจากเกษตรกรและอาสาสมัครฝนหลวงในพื้นที่ และได้รับประสานจากกรมชลประทาน เรื่อง การเติมน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้มีเพียงพอสำหรับฤดูแล้งในปีถัดไปนั้น กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ให้ความสำคัญและปฏิบัติการช่วยเหลือตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน ถึงวันที่ 29 ตุลาคม 2561 โดยขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 874 เที่ยวบิน ใช้สารฝนหลวง 751.5 ตัน เพื่อเติมน้ำให้เขื่อนสำคัญ ได้แก่ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ ปฏิบัติการ จำนวน 22 วัน ทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน จำนวน 10.359 ล้านลูกบาศก์เมตร จากแผนคาดการณ์ จำนวน 10 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมมีปริมาตรน้ำในอ่าง 125.22 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 48 ของความจุอ่าง ซึ่งสูงกว่าในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2560 ร้อยละ 5 และเขื่อนลำตะคอง จ.นครราชสีมา ปฏิบัติการจำนวน 30 วัน ทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน จำนวน 266.83 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 85 ของความจุอ่าง ซึ่งสูงกว่าในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2560 ร้อยละ 24

สำหรับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำขนาดกลางบางส่วน เช่น อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำลาด จ.นครสวรรค์ อ่างเก็บน้ำห้วยยาง จ.สระแก้ว กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ยังคงปฏิบัติการช่วยเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักต่อไป โดยกำชับเจ้าหน้าที่ ให้ระมัดระวังและหลีกเลี่ยงพื้นที่การเกษตรที่กำลังเก็บเกี่ยวในช่วงนี้

การติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ ตามที่คณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ (WMSC) กรมชลประทานได้ขอให้กรมฝนหลวงและ การบินเกษตรช่วยเติมน้ำให้กับอ่างเก็บน้ำ จำนวน 17 แห่ง อาทิ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนอุบลรัตน เขื่อนลำมูลบน อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำลาด อ่างเก็บน้ำห้วยโป่ง และอ่างเก็บน้ำกระเสียว กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้เร่งปฏิบัติตามแผนขยายเวลาปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือและคลี่คลายสถานการณ์น้ำต่อไป จนถึงกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อช่วยให้พี่น้องเกษตรกรและประชาชนมีปริมาณน้ำเก็บกักรองรับการใช้เพื่อทำการเกษตรและอุปโภคบริโภคในฤดูแล้งที่กำลังมาถึงอย่างเพียงพอ


กำลังโหลดความคิดเห็น