xs
xsm
sm
md
lg

TIJ ส่งเสริมจริยธรรมการทำงานวิจัยกับกลุ่มผู้หญิงและเด็ก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ปัจจุบันการศึกษาและทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคมโดยใช้วิธีการวิจัยโดยใช้ลักษณะการศึกษาแบบวิทยาศาสตร์เป็นที่นิยมแพร่หลาย เนื่องจากวิธีดังกล่าวมุ่งเน้นการหาเหตุผลมาพิสูจน์ข้อสมมติฐานที่ผู้วิจัยตั้งขึ้น โดยการใช้ระเบียบวิธีวิจัยที่สามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ ซึ่งจะทำให้ข้อมูลเชิงลึกและข้อมูลที่เป็นนามธรรมจับต้องได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การวิจัยเพื่อค้นหาความจริงของสังคมในประเด็นต่างๆ เช่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความรุนแรงทางเพศ สิทธิมนุษยชน หลายครั้งเกี่ยวข้องกับความรู้สึก ทัศนคติ และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ซึ่งอาจสร้างผลกระทบทางอ้อมต่อกลุ่มเป้าหมายในงานศึกษาวิจัย โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางทางสังคม เช่น ผู้หญิงและเด็ก

TIJ ในฐานะองค์การมหาชนที่มุ่งมั่นส่งเสริมการวิจัยและการพัฒนากระบวนการยุติธรรม ภายใต้กรอบความร่วมมือกับสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา สนับสนุนการนำหลักนิติธรรมมาปรับใช้ในสังคม รวมถึงการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในการจัดการกับความรุนแรงทางเพศในระดับประเทศ และในภูมิภาคอาเซียน ที่ผ่านมา TIJ ได้พัฒนาผลงานวิจัยและใช้เป็นแนวทางในการสนับสนุนการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของกลุ่มเปราะบางทางสังคม เช่น การพัฒนามาตรฐานระเบียบการปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่ในศาลเด็กและครอบครัวกลาง เพื่อกำหนดแนวทางการปฏิบัติต่อผู้เสียหายกรณีความรุนแรงทางเพศให้มีความตระหนักถึงความอ่อนไหวทางเพศของผู้เสียหายมากขึ้น และเปิดโอกาสให้ผู้เสียหายเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเท่าเทียม เป็นต้น

เพื่อส่งเสริมและยกระดับมาตรฐานการทำวิจัยอย่างมีจริยธรรมกับกลุ่มเปราะบางให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จึงจับมือกับ Griffith University มหาวิทยาลัยพันธมิตรระดับโลกจากประเทศออสเตรเลีย จัดการอบรม “Advanced Research Ethics Training Course” ให้กับนักวิชาการ นักวิจัย เพื่อเผยแพร่ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับหลักจริยธรรมการวิจัยบุคคลต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางทางสังคม เช่น ผู้หญิงและเด็ก ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

นางสาวชลธิช ชื่นอุระ หัวหน้ากลุ่มโครงการส่งเสริมการอนุวัติข้อกำหนดกรุงเทพและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด กล่าวว่า การคุ้มครองอาสาสมัครผู้เข้าร่วมตอบคำถามในงานวิจัยเป็นสิ่งจำเป็น หลักการสำคัญคือ ต้องคำนึงถึงการเคารพศักดิ์ศรี คำนึงถึงผลประโยชน์และความเสี่ยง และควรใช้หลักความยุติธรรมเป็นแนวทางในการศึกษาวิจัยประเด็นทางสังคมต่างๆ เช่น ประเด็นที่เกี่ยวกับผู้ต้องขังผู้หญิง ความรุนแรงทางเพศต่อผู้หญิงและเด็ก ความรุนแรงภายในครอบครัว เป็นต้น การพิจารณาจริยธรรมในการวิจัยแบบต่างๆ ต้องยึดถือและคำนึงถึงการประเมินความเสี่ยงเพื่อลดผลกระทบด้านจิตใจให้ได้มากที่สุด ขณะเดียวกันก็ต้องซื่อตรงทั้งต่อข้อมูลที่ได้และผลการวิจัย ไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง

การฝึกอบรมนี้นอกจากจะช่วยให้นักวิชาการและนักวิจัยที่ต้องวิจัยกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มเปราะบางได้พัฒนาศักยภาพด้านงานวิจัย ตั้งแต่แนวคิดการออกแบบงานวิจัย เช่น การกำหนดขอบเขตการศึกษาวิจัย การกำหนดขอบเขตการศึกษาวิจัย แนวทางการถามคำถามที่ตรงประเด็นและเหมาะสมกับกลุ่มผู้ตอบคำถามงานวิจัย การเลือกใช้คำ เครื่องมือและวิธีการที่เหมาะสมเพื่อให้ได้ข้อมูลตามต้องการ ไปจนถึงการนำเสนอผลงานวิจัยอย่างมีจริยธรรมแล้ว การอบรมดังกล่าวยังช่วยเน้นย้ำภารกิจสำคัญของ TIJ ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมหลักนิติธรรมมาปรับใช้กับการดำเนินงานเพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรมด้วย

อาจกล่าวได้ว่า การทำงานใดๆ หากดำเนินงานอย่างมีมาตรฐาน ยึดถือหลักจริยธรรมและกระบวนการที่ถูกต้องตั้งแต่ขั้นแรกจนถึงขั้นสุดท้ายของการทำงาน งานนั้นๆ ย่อมประสบผลสำเร็จทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ครบถ้วนทั้งเรื่องคุณภาพและคุณธรรม



กำลังโหลดความคิดเห็น