xs
xsm
sm
md
lg

อุทยานฯโชว์ผลงาน “เหยี่ยวดง” งัดไม้แข็งแก้กฎหมาย “ทราฟฟิก” แฉไทยเป็นศูนย์กลางค้าสัตว์ป่าออนไลน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

กรมอุทยานฯ ไขข้อข้องใจองค์กรประเมินผลการซื้อขายสัตว์ป่าคุ้มครองผ่านสื่อออนไลน์ในไทย หลังถูกพบว่าเป็นศูนย์กลาง 9 ใน 12 เพจค้าสัตว์ป่ายังเคลื่อนไหว ยันชุด “เหยี่ยวดง” จับกุมอย่างเข้มข้น แถมสายด่วน 1362 มีข้อมูลจากประชาชนเพียบ ส่วนปัญหากฎหมายไม่ขลัง ปรับถูก ลงโทษเบาล่าสุด ครม.โดยกระทรวงทรัพย์อยู่ระหว่างส่งเรื่องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ แก้ไขกฎหมายแล้ว

ปัญหาค้าสัตว์ป่าทางสื่อออนไลน์ยังมีอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ จากการสำรวจขององค์กรประเมินผลการซื้อขายสัตว์ป่าคุ้มครองในประเทศไทยผ่านทางสื่อออนไลน์หรือเฟซบุ๊ก เว็บไซต์ทราฟฟิก (TRAFFIC ) ได้ระบุว่าผลวิจับและสำรวจข้อมูลการซื้อขายสัตว์ป่าผิดกฎหมายผ่านสื่อสังคมออนไลน์พบว่าประเทศไทยยังคงเป็นศูนย์กลางค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย และมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น ปัญหาต่อมาคือกว่าครึ่งของสัตว์ป่าเป็นชนิดพันธุ์ที่ได้รับการคุมครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535

จากการสำรวจพบว่าในประเทศไทย มีผู้ค้าสัตว์ป่าออนไลน์ 12 กลุ่มเหลืออยู่ 9 กลุ่มยังมีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ส่วนประเด็นสุดท้ายที่ TRAFFIC ห่วงใยและสนับสนุนให้แก้ไข คือ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตวืป่า พ.ศ.2535 มีช่องโหว่อยู่มาก ลงโทษเบา ไม่สามารถจัดการกับขบวนการค้าสัตว์ป่าอย่างมีประสิทธิภาพจึงสนับสนุนให้ประเทยไทยปฏิรูป พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 โดยคำนึงถึงชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามที่ยังไม่ถูกบรรจุไว้ในกฎหมายให้มากขึ้น รวมทั้งให้การคุ้มครองชนิดพันธุ์ต่างประเทศที่อยู่ในบัญชีอนุสัญญาไซเตส ด้วย

ล่าสุด วันนี้ (14 ก.ย.) จากประเด็นดังกล่าว นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้ชี้แจงโดยมีรายละเอียดว่าประเทศไทยเป็นประเทศภาคี อนุสัญญา CITES มีความมุ่งมั่นที่จะป้องกันปราบปรามการลักลอบค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายทุกรูปแบบทั้งในระดับชาติ และนานาชาติ ดังจะเห็นได้จากผลการปราบปรามจับกุมที่ผ่านมาตามลำดับ การลักลอบซื้อขายสัตว์ป่าผิดกฎหมายผ่านสื่อสังคมออนไลน์นับว่าเป็นปัญหาที่สำคัญในปัจจุบัน เนื่องจากกระทำได้ง่าย รวดเร็ว และติดตามจับกุมได้ยาก สัตว์ป่าที่เสนอซื้อขายในสื่อสังคมออนไลน์ พบว่าส่วนใหญ่เป็นสัตว์ป่าต่างประเทศที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง โดยพบว่ามีชนิดสัตว์ป่าทั้งในและนอกบัญชีอนุสัญญา CITES

ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ดังนี้ 1. การจัดตั้งชุดปฏิบัติการ “เหยี่ยวดง” เพื่อเป็นชุดปฏิบัติการภาคสนามในการป้องกันปราบปรามการซื้อขายสัตว์ป่าผิดกฎหมายในสื่อสังคมออนไลน์โดยตรง ซึ่งภายหลังจากการจัดตั้งชุดปฏิบัติการเหยี่ยวดง สามารถจับกุมดำเนินคดีผู้กระทำผิด ได้ทั้งสิ้นจำนวน 79 คดี ผู้ต้องหา 81 คน นก 752 ตัว สัตว์เลื้อยคลาน 925 ตัว สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 29 ตัว งาช้าง 10 กิ่ง เกล็ดลิ่น 900 กรัม ซากสัตว์ป่า 668 ซาก 2. ร่วมกับองค์กรต่างๆ รณรงค์ การไม่ซื้อ ไม่ขายสัตว์ป่าผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นยังได้ร่วมมือกับ โครงการ USAID WILDLIFE ASIA ดำเนินโครงการติดตามแจ้งเตือนการซื้อขายสัตว์ป่าผิดกฎหมายออนไลน์ ผ่านการค้นหาข้อมูลใน Google เพื่อให้ความรู้กับผู้ใช้ระบบออนไลน์ไม่ร่วมมือหรือทำการซื้อขายสัตว์ป่าผิดกฎหมาย 3. เพิ่มประสิทธิภาพ ศูนย์สายด่วนผู้พิทักษ์ป่า 1362 เพื่อรับการแจ้งเหตุ การแจ้งเบาะแส การกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับสัตว์ป่าและพืชป่า จากประชาชน จากการปฏิบัติงานที่ผ่านมาสามารถใช้ข้อมูลที่ได้รับแจ้งนำไปเป็นเบาะแสในการจับกุมได้จำนวนมาก 4. สำหรับประเด็นที่กล่าวว่าพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ยังมีช่องโหว่และบทกำหนดโทษที่เบานั้น ขณะนี้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ... เพื่อปรับปรุงแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตลอดจนการเพิ่มบทกำหนดโทษให้หนักขึ้นแล้ว พร้อมทั้งได้มีการแก้ไขปัญหาการจัดการสัตว์ป่าต่างประเทศที่อยู่ในประเทศให้ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย โดยกำหนดให้สัตว์ป่าต่างประเทศที่อยู่ในบัญชีของอนุสัญญา CITES เป็น “สัตว์ป่าควบคุม” เพื่อให้การบริหารจัดการ การครอบครอง การเพาะเลี้ยง และการค้า สอดคล้องกับข้อกำหนดในอนุสัญญา CITES โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2560 อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติละสิ่งแวดล้อมเสนอแล้ว ขณะนี้อยู่ในชั้นการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ทั้งนี้ เมื่อผ่านการพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว คณะรัฐมนตรีจะส่งเรื่องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาตามขั้นตอน ต่อไป





















กำลังโหลดความคิดเห็น