xs
xsm
sm
md
lg

ทรัพยากรน้ำฯ เตือนท้ายน้ำรับมือน้ำจาก “เขื่อนวชิราลงกรณ-เขื่อนศรีนครินทร์” อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวฯ เตือนประชาชนเฝ้าระวังผลกระทบท้ายน้ำ อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน จากการระบายน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ และ เขื่อนศรีนครินทร์ หลังเร่งระบายรอรับน้ำฝนจำนวนมากกลางเดือนกันยายนนี้

เมื่อวันที่ 7 ก.ย. นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในภาพรวมของประเทศ ว่า ยังคงปรับแผนระบายน้ำออกจากเขื่อนวชิราลงกรณ และ เขื่อนศรีนครินทร์ โดยจะเร่งระบายน้ำช่วงที่จะเกิดฝนทิ้งช่วงในภาคกลางก่อนกลับมาตกหนักอีกครั้งหลังวันที่ 15 กันยายนนี้ เพื่อให้ระดับน้ำอยู่ในเกณฑ์ควบคุมและรองรับปริมาณนํ้าฝนได้

“ขณะนี้ เขื่อนวชิราลงกรณ มีปริมาณน้ำ 8,435 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 95 ระบายออกวันละ 57.85 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยพื้นที่ท้ายน้ำยังไม่มีน้ำสูงกว่าระดับตลิ่ง และจะปรับการระบายเพิ่มวันละ 58 ล้านลูกบาศก์เมตร จนถึงวันที่ 10 กันยายน ปริมาณน้ำที่ระบายยังไม่เกินความจุของลำน้ำแควน้อยและจะควบคุมปริมาณน้ำไม่ให้เกินความจุของลำน้ำแควน้อย” นายสำเริง กล่าว

นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวต่อว่า “ส่วนเขื่อนศรีนครินทร์ มีปริมาณน้ำ 16,215 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 91 ระบายออกวันละ 26.50 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะปรับแผนการระบายน้ำเพิ่มผ่านเขื่อนท่าทุ่งนาเป็นวันละ 28 ล้านลูกบาศก์เมตร จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 7-13 กันยายน ปริมาณน้ำที่ระบายยังไม่เกินความจุของลำน้ำแควใหญ่ และจะควบคุมปริมาณน้ำไม่ให้เกินความจุของลำน้ำแควใหญ่ที่สถานีบ้านหนองบัว”

“สำหรับเขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ปริมาณน้ำ 747 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 105 มีน้ำล้นทางระบายน้ำ (Spillway) สูง 82 เซนติเมตร ระบายออกวันละ 15.38 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่ท้ายน้ำไม่มีน้ำสูงกว่าระดับตลิ่ง ยกเว้นพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณ ต.กลัดหลวง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ทำให้ต้องเร่งพร่องน้ำตามการคาดการณ์ฝนที่ยังคงมีอยู่ต่อเนื่องและติดตามสถานการณ์ฝนในพื้นที่เพื่อปรับแผนการระบายน้ำ” ผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น