xs
xsm
sm
md
lg

น้ำท่วมสกลนคร ถึงน้ำล้นแก่งกระจาน ผลงานชิ้นโบแดง “ทองเปลว กองจันทร์” อธิบดีกรมชลประทาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



... รายงาน

สถานการณ์น้ำในจังหวัดเพชรบุรี ที่หลายภาคส่วนระดมความช่วยเหลือราวกับงานประจำปี หลังน้ำท่วมไปแล้ว 2 ปีซ้อน อีกหนึ่งบุคคลที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำโดยตรง

เฉกเช่น “นายทองเปลว กองจันทร์” อธิบดีกรมชลประทานคนปัจจุบัน

เส้นทางการทำงาน เติบโตจากสายงานส่งน้ำและบำรุงรักษา เริ่มต้นจากวิศวกรชลประทาน สำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา ก่อนจะข้ามไปยังภาคอีสาน ดูแลฝ่ายจัดสรรน้ำ สำนักงานชลประทานที่ 6

กลับมาเป็น ผอ.สถาบันพัฒนาการชลประทาน, นักอุทกวิทยา, ผอ.สำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา และตำแหน่งสุดท้าย รองอธิบดีฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษา

ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้มาตรา 44 ขยับให้นายทองเปลว ขึ้นเป็นอธิบดีกรมชลประทาน ตีตั๋วยาวเกษียณอายุราชการในปี 2564

แม้ชื่อของ “ทองเปลว” จะเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง แต่ไม่มีครั้งไหนน่าจดจำ เท่ากับช่วงน้ำท่วมสกลนครเมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา


ย้อนกลับไปเมื่อ 28 ก.ค. 2560 อิทธิพลของพายุเซินกา ทำให้จังหวัดสกลนครประสบปัญหาน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก หนำซ้ำ ยังมีภาพ “อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น” แตก แพร่กระจายในโซเชียลมีเดีย

มวลน้ำจำนวนมหาศาล ไหลเข้าท่วมพื้นที่เศรษฐกิจของตัวเมืองสกลนคร หนักที่สุดในรอบ 30 ปี ถนนหลายสายกลายเป็นอัมพาต สนามบินสกลนครต้องปิดให้บริการเพราะน้ำท่วมรันเวย์สูงถึง 40 เซนติเมตร

ในตอนนั้น ผู้อำนวยการโครงการชลประทานสกลนคร แจ้งว่า อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น แบกรับน้ำเกินขนาด ทำให้มีน้ำล้นทำนบดิน พังทลายลึกประมาณ 4 เมตร ยาว 20 เมตร

แต่ตอนสองทุ่ม นายทองเปลว ขณะนั้นเป็นรองอธิบดีกรมชลประทาน กลับออกมาแก้ข่าวว่า “แค่น้ำล้นทำนบดิน” กัดเซาะสันเขื่อนเท่านั้น แถมยืนยันว่าอ่างเก็บน้ำทุกแห่งไม่มีแตกร้าว ยังมั่นคงแข็งแรงดี

แต่ความชิบหายวายวอดของชาวสกลนครยังคงเกิดขึ้นต่อไป!

ในตอนนั้น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ระบุว่า สกลนครน้ำท่วมเสียหาย 18 อำเภอ รวม 116 ตำบล 1,267 หมู่บ้าน 43 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 135,044 ครัวเรือน 426,037 คน เสียชีวิต 11 ราย

พื้นที่การเกษตรเสียหาย 892,793 ไร่ แยกเป็น นาข้าว 858,161 ไร่ พืชไร่ 19,780 ไร่ และพืชสวน 14,852 ไร่

ไม่นับรวมสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า บริษัทประกันจะต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนสูงถึง 1 พันล้านบาท มีทั้งรถยนต์ที่จมน้ำ 400-500 คัน ที่อยู่อาศัย อาคารพาณิชย์ และธุรกิจหยุดชะงักจากเอสเอ็มอีและร้านค้า

ผลจากน้ำท่วมสกลนครครั้งใหญ่ ทำให้ในปีนี้ (2561) นับตั้งแต่เกิดอิทธิพลของพายุเซินติญเป็นต้นมา ชาวสกลนครเลือกที่จะตั้งรับกับมวลน้ำอย่างเต็มที่ หวังไม่ให้เกิดซ้ำรอยอย่างปีที่แล้วอีก

แม้ผลงานน้ำท่วมสกลนครจะทำให้ชื่อของ “ทองเปลว” กลายเป็นที่จดจำ แต่ก็ยังได้ดิดได้ดี เพราะเมื่อ 22 พ.ย. 2560 นายทองเปลวได้เลื่อนตำแหน่งเป็น “อธิบดีกรมชลประทาน”

ส่วนอธิบดีคนก่อนหน้า “สมเกียรติ ประจำวงษ์” ถูกคำสั่งมาตรา 44 โยกไปนั่งผู้อำนวยการสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ (สทนช.) สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี

หลังรับตำแหน่งไม่นานนัก เหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่เกิดขึ้นเกินกว่าจะคาดเดา เริ่มจากช่วง ธ.ค. 2560 เกิดน้ำท่วมภาคใต้ ตั้งแต่ จ.ชุมพร ถึง จ.ปัตตานี สนามบินนครศรีธรรมราชต้องปิดให้บริการเพราะน้ำท่วมรันเวย์

มาถึงเดือน ก.พ. 2561 ที่ อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้อ่างเก็บน้ำยางชุม และอ่างเก็บน้ำห้วยวังเต็น น้ำเต็มอ่าง ไหลล้นสปิลเวย์ ท่วมตัวอำเภอ และถนนเพชรเกษมจนใช้การไม่ได้


แม้ว่าการบริหารจัดการน้ำ เฉพาะลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา หรือลุ่มน้ำภาคอีสาน ในปีนี้ยังคงเอาอยู่ รวมทั้งยังจะเน้นลงทุนจัดการน้ำพื้นที่อีอีซีเป็นพิเศษ แต่อย่าลืมว่าประเทศไทยยังมีอีกหลายลุ่มน้ำ ครอบคลุมทั่วประเทศ

โดยเฉพาะลุ่มน้ำเพชรบุรี ก่อนหน้านี้ก็เกิดน้ำท่วม 2 ปีซ้อน ตั้งแต่ปี 2559 ถึงปี 2560 สร้างความเสียหายแก่ชาวเพชรบุรี โดยเฉพาะพื้นที่เศรษฐกิจในตัวเมืองที่จมอยู่ใต้น้ำ ทำการค้าขายไม่ได้

มาคราวนี้ น้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ใกล้จะล้นความจุอ่าง 710 ล้านลูกบาศก์เมตร ชาวบ้านเพชรบุรีก็ใจเต้นตุ้มๆ ต่อมๆ ว่าจะคว้าแชมป์น้ำท่วม 3 ปีซ้อนได้หรือไม่


นายทองเปลว ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ จ.เพชรบุรี ติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง ก่อนจะบอกกับ นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ ว่าน้ำไม่ล้นสันเขื่อนอย่างแน่นอน

กระทั่งสื่อของรัฐบาล เฉกเช่น สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ ประกาศว่า “รมว.เกษตรฯ ยืนยันน้ำไม่ล้นเขื่อนแก่งกระจาน วอนประชาชนอย่าตื่นตระหนกข่าวลือ”

แต่ ... วันที่ 6 ส.ค. น้ำในเขื่อนแก่งกระจานล้นอ่าง สูงถึงสปิลเวย์ลงสู่แม่น้ำเพชรบุรีอย่างรวดเร็ว คาดว่าจะใช้เวลาไหลลงสู่ตัวเมืองเพชรบุรีอีก 36 ชั่วโมง

แต่นายกฤษฎายังใจดีสู้เสือ บอกว่า ยังมี “เขื่อนเพชร” ที่กั้นลำน้ำไว้ ทั้งที่เขื่อนเพชร เป็นเขื่อนทดน้ำและระบายน้ำ ไม่ใช่เขื่อนกักเก็บน้ำ

การประเมินสถานการณ์แบบผิดๆ เท่ากับกลัดกระดุมผิดตั้งแต่เม็ดแรก น่ากลัวว่า คำว่า “ให้ติดตามข่าวสารที่ถูกต้องจากทางราชการ” จะกลายเป็นคำแสลง เป็นประโยคที่ไม่น่าเชื่อถืออีกต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น