xs
xsm
sm
md
lg

หลุยส์ที่ ๑๔ สนพระทัยเรียนรู้ภาษาไทย! แต่ทรงสงสัย ทำไมข้าวกับน้ำจึงใช้ “กิน” เหมือนกัน!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔
บาทหลวงฝรั่งเศสที่เข้ามาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น ทุกคนจะมีบทบาททางการเมืองมากกว่าการศาสนา ตามสไตล์ของฝรั่งเศสที่มักใช้บาทหลวงเป็นสายลับ เหมือนที่อังกฤษใช้พ่อค้า

นอกจากนี้หลายคนยังชอบเขียนชอบบันทึกรายงานไปยังต้นสังกัด ในจำนวนนี้บาทหลวงเดอชัวซี ผู้ร่วมอยู่ในคณะราชทูตเชอวาเลีย เดอ โชมองต์ และนำราชทูตสยามคณะโกษาปานไปฝรั่งเศสนั้น เป็นคนที่ชอบแสวงหาความรู้จึงใช้เวลาในการเดินทางไปมาศึกษาภาษาต่างๆ และพยายามแต่งเรื่องการเมือง การศาสนา และภูมิศาสตร์ของประเทศสยาม ทั้งยังบันทึกเรื่องการค้าขายของฝรั่งเศสในอินเดีย เพื่อรายงานต่อเสนาบดีกระทรวงทหารเรือของฝรั่งเศสด้วย

นี่คือหน้าที่ของบาทหลวงในยุคนั้น

นอกจากนี้ในระหว่างการเดินทางรอนแรมในทะเลอยู่หลายเดือน บาทหลวงเดอชัวซียังได้พยายามสังเกตดูนิสัยใจคอของราชทูตสยาม และได้บันทึกไว้ว่า

“ราชทูตไทยเหล่านี้เป็นคนดีมีไหวพริบ ไม่ถือยศ และมีอัธยาศัยดีกว่าราชทูตครั้งก่อนมาก เพราะราชทูตครั้งก่อนไม่รับประทานน้ำ ไม่รับประทานอาหาร และไม่พูดเลย ราชทูตคราวนี้ถือกระดานชนวนอยู่ในมือมิได้เว้นเลย และถ้าใครถามอะไรเขาถึง ๔ ข้อ เขาก็กลับย้อนถามตั้ง ๖ ข้อ”

ที่กล่าวว่าราชทูตครั้งก่อนนั้น ความจริงมิได้เป็นราชทูต แต่เป็นเพียงข้าราชการชั้นผู้น้อยสองคนที่สมเด็จพระนารายณ์รับสั่งให้ไปติดตามเรื่องราชทูตชุดก่อนที่หายไป ๓ ปีแล้วไม่มีข่าวคราวเลย ความจริงราชทูตชุดแรกที่ส่งไปฝรั่งเศสนี้ไปเรือแตกกลางทาง และตายหมดทั้งลำโดยทรงกรุงศรีอยุธยาไม่ทราบเรื่อง เหล่าบาทหลวงจึงเสนอให้ส่งคนออกไปติดตาม และเสนอตัวเป็นจะผู้นำทางพร้อมหาสปอนเซอร์จากราชสำนักฝรั่งเศสออกค่าใช้จ่ายให้

บาทหลวงเดอวาเซได้รับมอบหมายให้เป็นผู้นำทางข้าราชการไทยทั้งสองนี้ โดยออกเดินทางไปกับเรืออังกฤษ เมื่อไปถึงกรุงลิสบอน บาทหลวงก็ได้พาไปเฝ้าพระเจ้ากรุงโปรตุเกสเพื่อขอบพระคุณที่ทรงแต่งทูตไปยังกรุงสยามเมื่อปีก่อน จากนั้นก็ต่อไปปารีส พาข้าราชการไทยไปพบบุคคลสำคัญของฝรั่งเศสและพระบรมวงศานุวงศ์ ทั้งยังพาไปออกงานสังคมต่างๆ ทั้งนี้ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าพระเจ้ากรุงสยามทรงไว้วางใจบาทหลวงฝรั่งเศสมาก ข้าราชการทั้งสองเป็นเพียงข้าราชการชั้นผู้น้อย ต้องไปเข้าสังคมไฮโซของยุโรปเข้าก็ตื่นตระหนก ทำตัวไม่ถูก จนเป็นที่พูดกันทั่วไปว่าราชทูตไทยไม่ยอมกินข้าวกินน้ำ ไม่ยอมพูดจา และไม่ยอมออกสังคม

รายการสำคัญอีกรายการหนึ่งก็คือ บาทหลวงได้พาสองข้าราชการไทยไปชมพระราชวังแวร์ซายน์ โดยกะเวลาให้ตรงกับที่พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ จะทรงม้ามาในอุทยาน พอข้าราชไทยทั้งสองเห็นพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ เข้าก็ลงหมอบทันที หน้าติดกับพื้น มือประสานอยู่บนศีรษะ และหมอบอยู่เช่นนั้นนานจนพระเจ้าหลุยส์รับสั่งถามว่าคนไทยจะไม่ลุกขึ้นเลยหรืออย่างไร บาทหลวงเดอวาเชจึงกราบทูลว่า หน้าพระที่นั่งของพระเจ้าแผ่นดิน ข้าราชการไทยจะต้องหมอบอยู่อย่างนี้ เหมือนที่เขาเคยปฏิบัติต่อหน้าพระที่นั่งพระเจ้ากรุงสยาม พระเจ้าหลุยส์จึงรับสั่งถามว่า

ข้าราชการไทยมาเฝ้าคราวนี้มีกิจอะไร ข้าราชการไทยได้กราบทูลขอบพระเดชพระคุณที่ได้เสด็จออกมาให้เฝ้า พระเจ้าหลุยส์รับสั่งตอบว่า ที่พระองค์ได้ทรงพบกับข้าราชการไทยก็ทรงยินดีเหมือนกัน แล้วรับสั่งให้ล่ามบอกข้าราชการไทยให้ลุกขึ้นก่อนจะเสด็จไป

เรื่องไม่กินข้าวกินน้ำของราชทูตไทย ก็ทำให้พระเจ้าหลุยส์ทรงสนพระทัยเช่นกัน ในจดหมายเหคุของบาทหลวงเดอชัวซีได้บันทึกการเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ตอนหนึ่งว่า

...ได้รับสั่งถามข้าพเจ้าในเรื่องต่างๆหลายเรื่อง และรับสั่งถามข้าพเจ้าว่า คำว่า กินข้าว นั้นภาษาไทยพูดว่าอย่างไร ข้าพเจ้าก็กราบทูลตอบว่าไทยพูดว่า กิน อีกสักครู่ใหญ่ๆกลับรับสั่งถามข้าพเจ้าอีกว่า คำว่า กินน้ำ ภาษาไทยพูดว่าอย่างไร ข้าพเจ้าก็ทูลตอบว่า พูดว่า กิน พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ จึงรับสั่งว่า “จับผิดได้แล้ว เมื่อแต่กี้นี้บอกว่า กิน แปลว่ากินข้าวอย่างไรล่ะ” ข้าพเจ้าจึงกราบทูลว่าจริง ได้กราบทูลเช่นนั้นจริง แต่คำไทยที่ใช้ว่ากินนั้น ต้องแปลว่า กลืน เพราะฉะนั้นถ้าจะพูดว่า กินข้าว ต้องแปลว่า กลืนเข้า ถ้าจะพูดว่า กินน้ำ ก็ต้องหมายความว่า กลืนน้ำ พระเจ้าหลุยที่ ๑๔ ก็ทรงพระสรวลรับสั่งว่า ดี “ออกตัวได้คล่องดี”

เออ...ฝรั่งว่า อี๊ทข้าว ดริ้งค์น้ำ แต่ไทยเราว่า ก็ต้องกลืนเข้าคอเหมือนกันแหละ


กำลังโหลดความคิดเห็น