xs
xsm
sm
md
lg

“กรมชลประทาน” แจงปล่อยน้ำคลองรังสิตจนท่วมไม่จริง น้ำเพิ่มแค่แบ่งเบาป่าสัก-ลั่นคุมได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจากแฟ้ม
กรมชลประทาน ชี้แจงข้อความในโซเชียลฯ อ้างจะปล่อยน้ำหลังวันที่ 26 ต.ค. ส่งผลให้น้ำท่วมไม่จริง ระบุที่น้ำเพิ่มเพราะต้องแบ่งเบาน้ำจากเขื่อนป่าสักลงมาผ่านคลองระพีพัฒน์ ลั่นอยู่ในเกณฑ์ควบคุมได้ ส่วนแม่น้ำเจ้าพระยายังคงปล่อยน้ำเท่าเดิม ส่วนสถานีวัดน้ำปากน้ำโพ น้ำท่าลดลงต่อเนื่อง

วันนี้ (27 ต.ค.) ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทานชี้แจงกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อความแจ้งเตือนในโซเชียลมีเดียว่า ที่คลองรังสิตจะมีการปล่อยน้ำหลังวันที่ 26 ต.ค. โดยทั่วย่านรังสิตจะเกิดน้ำท่วมและน้ำล้นฝาท่อระบายน้ำได้นั้น ชี้แจงว่าข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริง กรมชลประทานยังคงปริมาณน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 2,697 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มาตั้งแต่วันที่ 23 ต.ค.จนกระทั่งถึงปัจจุบัน เขื่อนเจ้าพระยายังคงระบายน้ำในอัตราเท่าเดิม โดยได้ผันน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเข้าสู่ระบบชลประทานฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกรวม 769 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ไม่มีแผนที่จะเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาแต่อย่างใด

ปัจจุบันปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราดังกล่าวได้ไหลมาถึงบริเวณจังหวัดปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานครแล้ว โดยไม่ได้ส่งผลกระทบให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ตามที่เป็นข่าว ทั้งนี้ พื้นที่น้ำท่วมด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาจะเป็นพื้นที่ที่อยู่นอกคันกั้นน้ำริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ อ.สรรพยา จ.ชัยนาท อ.อินทร์บุรี อ.พรหมบุรี อ.เมืองฯ จ.สิงห์บุรี อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง อ.บางบาล อ.ผักไห่ อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา จำนวน 14 จุด เท่านั้น อีกทั้งปริมาณน้ำที่ไหลผ่านสถานีน้ำท่า C29A อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันมีอัตราเฉลี่ย 2,826 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ยังต่ำกว่าความจุของลำน้ำมาก ซึ่งบริเวณกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รับน้ำได้สูงสุด 3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลแต่อย่างใด

อนึ่ง สถานการณ์น้ำในพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา บริเวณสถานี C.2 อ.เมืองฯ จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 2,979 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หลังจากที่มีปริมาณน้ำไหลผ่านสูงสุดไปแล้วเมื่อวันที่ 21 ต.ค. ในอัตรา 3,059 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ปริมาณน้ำลดลงเมื่อเทียบกับค่าสูงสุด 80 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง

สำหรับกรณีของคลองรังสิตนั้น เนื่องจากต้องแบ่งเบาปริมาณน้ำจากแม่น้ำป่าสักที่จะระบายลงแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านเขื่อนพระรามหก ด้วยการเพิ่มการรับน้ำเข้าคลองระพีพัฒน์มากขึ้น ส่งผลให้น้ำในคลองต่างๆ รวมถึงคลองรังสิต มีระดับน้ำสูงขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ เนื่องจากในคลองเหล่านี้จะมีอาคารบังคับน้ำ สถานีสูบน้ำที่จะควบคุมปริมาณน้ำ และระดับน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมได้ โดยไม่ส่งผลกระทบให้เกิดน้ำเอ่อล้นตลิ่ง อย่างไรก็ตาม หากพบเห็นจุดเสี่ยงภัยน้ำท่วม สามารถแจ้งข้อมูลหรือติดต่อสอบถามได้ที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ หมายเลขโทรศัพท์ 0-2531-2913

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์อุทกภัย น้ำไหลหลาก และน้ำเอ่อล้นตลิ่งจากอิทธิพลของพายุดีเปรสชัน และการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา ตั้งแต่วันที่ 10-26 ต.ค. ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ใน 19 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ตาก สุโขทัย พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ชัยนาท สุพรรณบุรี หนองบัวลำภู ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และอุบลราชธานี รวม 67 อำเภอ 425 ตำบล 2,519 หมู่บ้าน 113,497 ครัวเรือน 296,380 คน อพยพ 20 ครัวเรือน

ทั้งนี้ จากสถิตินับตั้งแต่วันที่ 10 ต.ค. เกิดน้ำไหลหลากและน้ำเอ่อล้นตลิ่งในพื้นที่ 23 จังหวัด รวม 78 อำเภอ 472 ตำบล 2,777 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 125,116 ครัวเรือน 324,962 คน ผู้เสียชีวิต 10 ราย ซึ่ง ปภ. ได้ประสานจังหวัด หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มกำลัง ติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำเพิ่มเติม เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขังสู่ลำน้ำสายหลัก ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น