xs
xsm
sm
md
lg

คนตรังโวย ข่าว “พะยูน” โดนล่า ผู้ว่าฯ ขอความเป็นธรรม - ย้ำดูแลอย่างดีแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้ว่าฯ ตรัง ปรี๊ด สื่อลงข่าวพะยูนถูกล่า ทั้งประเทศเหลือไม่ถึง 200 ตัว ซัดอธิบดีกรมอุทยานฯ ทำจังหวัดเสียหาย ร้องขอความเป็นธรรม ยัน คนตรังดูแลพะยูนอย่างดีที่สุดแล้ว เทียบจังหวัดอื่นหายไปหมด

วันนี้ (17 ต.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า หลังหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับ รายงานว่า สถานการณ์สัตว์น้ำอย่างพะยูนอยู่ในภาวะวิกฤต โดยมีคนล่าพะยูนเพื่อนำเนื้อไปปรุงอาหาร เช่น เมนูพะยูนผัดเผ็ด ขายในราคากิโลกรัมละ 150 บาท นำเขี้ยวพะยูนไปทำเครื่องรางของขลัง และนำกระดูกพะยูนไปทำเป็นยาโด๊ปรักษามะเร็ง พบว่า ที่ศาลากลางจังหวัดตรัง นายศิริพัฒ พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง แสดงความไม่พอใจกับการให้ข่าวของ นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะทำให้จังหวัดตรังเสียหาย ถูกมองว่า พะยูนในจังหวัดตรัง ถูกล่า ทั้งๆ ที่ชาวจังหวัดตรังดูแลพะยูนอย่างดีที่สุดแล้ว เมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นๆ ที่พะยูนหายไป

นายศิริพัฒ กล่าวว่า ข่าวจำนวนพะยูนที่ลดลงไม่ใช่เป็นเรื่องที่มาถึงผู้ว่าราชการจังหวัดก่อน แต่เป็นเรื่องที่ทางอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมจะต้องรับไปดูแลเรื่องนี้ หากมีข้อมูลกระบวนการล่าพะยูน ไม่ว่าจะล่าเอาเขี้ยว เอาเนื้อ หรือชิ้นส่วนต่างๆ ให้แจ้งตนมาได้เลย พร้อมจัดการไม่ว่าจะเป็นคนในเขตห้ามล่าสัตว์หมู่เกาะลิบง หรือคนพื้นที่อื่นๆ อย่าพูดแบบให้ข่าวกับสังคมอย่างเดียว ควรให้ข่าวกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องด้วย ถ้าหากไม่ไว้ใจเจ้าหน้าที่ อย่าน้อยก็ให้ไว้ใจผู้ว่าฯได้ ตนจะได้จัดการกับบุคคลพวกนี้อย่างเฉียบขาดเสียที ทั้งนี้ แม้ข่าวออกมาว่า หญ้าทะเลถูกทำลาย พะยูนเริ่มหมด แต่เมื่อเทียบกับที่อื่นที่หายไปหมดแล้ว เช่น จันทบุรี ตราด พะยูนหายไปเท่าไหร่แล้วจากการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว แต่ที่จังหวัดตรัง เหลือเป็นร้อยตัว จะมาทำข่าวโจมตี จึงขอความเป็นธรรมให้กับคนตรังด้วย

ทั้งนี้ คนตรังดูแลพะยูนอย่างดีที่สุดแล้ว เป็นจังหวัดที่มีพะยูนมากที่สุดในประเทศไทย จะต้องออกข่าวว่าชาวตรังภูมิใจที่ดูแลพะยูนดีที่สุด ต้องต่อสู้กับคนที่เห็นตัว เห็นแก่ประโยชน์ และคนตรังจะร่วมกันทุกภาคส่วนดูแลพะยูน หญ้าพะยูน ม้าน้ำให้เป็นแหล่งสุดท้าย โดยจะไม่เน้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จะเน้นการท่องเที่ยวที่ไม่ใช่ลักษณะอุตสาหกรรม และไม่อยากเห็นการท่องเที่ยวตรังเหมือนตั๊กแตนปาทังกา ลงทีเดียวเกลี้ยงพรึบ ทางจังหวัดเน้นให้นักท่องเที่ยวมาจังหวัดตรังอย่างมีความสุข และจะทำให้สิ่งแวดล้อมอยู่คู่กับประเทศไทย และคิดถึงสิ่งแวดล้อมโลกด้วย

นอกจากนี้ กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง พร้อมทั้งกลุ่มอนุรักษ์พะยูน ยังได้วิจารณ์ข่าวที่เกิดขึ้น โดย อยากให้มีการระบุให้ชัดเจนว่า ขบวนการล่าพะยูนเป็นคนกลุ่มไหน เนื่องจากปีที่ผ่านพบว่ามีพะยูนเสียชีวิตประมาณ 6 ตัว ส่วนใหญ่เกิดจากอาการเจ็บป่วย รวมทั้งติดเครื่องมือประมง แต่ละครั้งจะมีการนำซากไปแจ้งความและนำไปผ่าพิสูจน์หาสาเหตุการเสียชีวิต ที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง และศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามัน จ.ภูเก็ต

ก่อนหน้านี้ นายธัญญา กล่าวในการประชุมการอนุรักษ์พะยูนและอนุรักษ์แหล่งหญ้าทะเลระดับประเทศ ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 16 ต.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่า พะยูนในประเทศไทยยังจัดอยู่ในภาวะวิกฤต เนื่องจากถูกคุกคามถิ่นที่อยู่อาศัยอย่างหนัก การทำลายแหล่งหญ้าทะเล แหล่งอาหารของพะยูน รวมทั้งการล่าและการติดเครื่องมือประมง ทำให้พะยูนลดลงอย่างรวดเร็ว จากเดิมเคยมีนับพันตัว แต่ปัจจุบันคาดว่ามีพะยูนไม่เกิน 200 ตัว โดยอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมและเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง พบพะยูนมากที่สุด ประมาณ 130 - 150 ตัว ส่วน เกาะเสม็ด จ.ระยอง ชลบุรี จันทบุรี ตราด มีประมาณ 15 ตัว และในพื้นที่อ่าวไชยา จ.สุราษฎร์ธานี มีประมาณ 10 ตัว

นายธัญญา กล่าวว่า ปัจจุบันยังพบว่ามีกลุ่มผู้ล่าพะยูน เนื่องจากมีความเชื่อผิดๆ เช่น กระดูกพะยูนสามารถนำไปทำยาโด๊ปและรักษาโรคมะเร็ง ส่วนเขี้ยวนำไปเป็นเครื่องรางของขลัง เนื้อพะยูนนำไปทำอาหาร ราคากิโลกรัมละ 150 บาท โดยเมนูที่ได้รับความนิยมคือ ผัดพริก และ ตากแห้ง ทำให้พะยูนยังเป็นที่ต้องการของตลาดมืด สิ่งที่จะช่วยแก้ไขได้คือการเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบข้อมูลที่เป็นจริง ว่า กระดูกหรือเขี้ยวพะยูนไม่สามารถนำไปรักษาโรคหรือเป็นเครื่องรางของขลังได้ ทั้งนี้ อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง ได้ติดสัญญาณดาวเทียมพะยูน 3 ตัว เมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา เพื่อให้ทราบถึงแหล่งที่อยู่อาศัยของพะยูนเพื่อที่จะกำหนดแนวเขตในการอนุรักษ์ดูแลพะยูนอย่างจริงจัง และกรมฯ จะสำรวจประชากรพะยูนในช่วงเดือนธันวาคม 2560 ถึง กุมภาพันธ์ 2561

ด้าน นายณัฐพล รัตนพันธุ์ ผู้อำนวยการส่วนกิจการทางทะเลแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า สถานการณ์พะยูนเวลานี้ถือว่าน่าเป็นห่วงอย่างมาก เนื่องจากปัจจุบันมีประชากรเหลือน้อยเต็มที โดยพะยูนจะมีอายุประมาณ 70 ปี ตั้งท้องใช้เวลา 13 - 18 เดือน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว และออกทุก 3 ปีเท่านั้น พะยูน 1 ตัว ถ้าไม่ถูกเครื่องมือประมงทำลาย จะออกลูกตลอดในช่วงชีวิต 70 ปี จะออกลูกได้แค่ 10 ตัว ทำให้จำนวนประชากรพะยูนมีไม่มากนัก ดังนั้น การสำรวจประชากรพะยูนเพื่อให้ทราบจำนวนที่แท้จริงจะได้หาแนวทางอนุรักษ์ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น