xs
xsm
sm
md
lg

สมาคมนักข่าวฯ ตั้ง “จุรี-เจษฎ์” คณะกรรมการสอบ “บิ๊กสื่อ” คุกคามทางเพศนักข่าว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สมาคมนักข่าวฯ ตั้ง 6 คณะกรรมการสอบ กรณีผู้บริหารองค์กรสื่อมีพฤติกรรมเข้าข่ายคุกคามทางเพศ เน้นทำงานในทางลับ เพื่อป้องกันผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ ให้เวลา 90 วัน แนะทุกฝ่ายรอฟังผล

วันนี้ (20 ก.ย.) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ ระบุว่า สืบเนื่องจากกรณีที่มีกระแสข่าวตามสังคมสื่อออนไลน์พาดพิงถึงผู้บริหารองค์กรสื่อมีพฤติกรรมเข้าข่ายคุกคามทางเพศ รวมทั้งความเคลื่อนไหวเข้าชื่อเรียกร้องให้องค์กรสื่อมีกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง จากกลุ่มนักข่าวภาคสนามที่ปรากฏเป็นจดหมายเปิดผนึกเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ อันเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน ต้องมีความตระหนักด้วยมิติแห่งเพศ และกระแสสังคม และยังเกี่ยวพันถึงความน่าเชื่อถือในแวดวงสื่อสารมวลชนโดยรวม ตามที่มีหนังสือข่าวอ้างถึงผลการหารือนอกรอบ เมื่อ 10 กันยายน 2560 ที่ผ่านมานั้น

ตลอดระยะเวลากว่าหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา สมาคมนักข่าวฯ ได้พยายามทาบทามผู้ทรงคุณวุฒิ และเป็นที่น่าเชื่อถือตามกรอบที่ได้หารือกันไว้ ท่ามกลางกระแสข่าวที่ยังคงเผยแพร่ต่อเนื่องอย่างสับสนเป็นระยะๆ ซึ่งทำให้การทาบทามเป็นไปด้วยความยากลำบาก จนในที่สุดผู้ได้รับการทาบทามได้ตอบรับมาในจำนวนที่เพียงพอที่จะเริ่มต้นทำงานเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงจากกระแสข่าวต่างๆ ได้แล้ว

คณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวฯ จึงอาศัยอำนาจหน้าที่ตามข้อบังคับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2543 (แก้ไขเพิ่มเติม 5 มิถุนายน พ.ศ. 2557) หมวด 2 วัตถุประสงค์ ข้อ 5 หมวด 4 หน้าที่และสิทธิของสมาชิก ข้อ 7 และ หมวด 6 การบริหารสมาคม ข้อ 16 ก. และ ค. ประกอบกับแนวทางตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พุทธศักราช 2558 ว่าด้วยมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน อีกทั้งสอดรับกับกระบวนการเรียกร้องให้มีการตรวจสอบกันเองของสื่อมวลชนโดยการให้ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกเข้ามามีส่วนร่วม ด้วยกระบวนการที่โปร่งใส จึงมีมติเอกฉันท์เห็นชอบให้ตั้งคณะอนุกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงกรณีกระแสข่าวพาดพิงถึงผู้บริหารองค์กรสื่อ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงให้เกิดความกระจ่างในความเป็นมาเป็นไปของกระแสข่าว รวมทั้งเกิดความชัดเจนในข้อเท็จจริงของประเด็นที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคล องค์กร ตลอดจนแวดวงสื่อสารมวลชนโดยรวม

โดยคณะอนุกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงฯ ชุดนี้ประกอบด้วย

1. รศ.ดร.จุรี วิจิตรวาทการ เลขาธิการมูลนิธิองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย

2. รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการทางกฎหมาย

3. ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ อดีตผู้อำนวยการโครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม

4. น.ส.สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง คณะอนุกรรมการด้านสิทธิและความเสมอภาคทางเพศ ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

5. นายนคร ศรีสุโข นักจิตวิทยาคลินิกชำนาญการพิเศษ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา

6. นายทัศนัย ไชยแขวง อุปนายกฝ่ายประชาสัมพันธ์ และอุปนายกฝ่ายต่างประเทศ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์

โดยอนุกรรมการชุดนี้จะทำงานในทางลับ เพื่อป้องกันผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ และรายงานต่อสมาคมนักข่าวฯ โดยตรง

ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวฯ ยังได้มอบหมายให้ นายมงคล บางประภา อุปนายกฝ่ายบริหาร และเลขาธิการ เป็นเลขานุการ และ น.ส.สุมนชยา จึงเจริญศิลป์ กรรมการฝ่ายต่างประเทศ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ เพื่อทำหน้าที่ประสานงานด้านธุรการ การจัดทำรายงาน โดยไม่มีอำนาจร่วมตัดสินใจ หรือแสดงความคิดเห็นในกระบวนการทำงานของคณะอนุกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงฯ ชุดนี้

สำหรับกรอบการทำงานเบื้องต้น ให้มีกรอบระยะเวลาการทำงานภายใน 90 วัน โดยมีการเปิดรับข้อมูล หลักฐานจากบุคคลภายนอกเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 30 วัน และแสวงหาข้อเท็จจริงภายใต้ขอบเขตความรับผิดชอบและอำนาจหน้าที่ของสมาคมนักข่าวฯ รวมทั้งอาจเสนอรายงานข้อเสนอแนะต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อสมาคมนักข่าวฯ โดยต้องรักษาความลับของบุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะผู้ที่อาจได้รับผลกระทบและความเสียหายอย่างไม่เป็นธรรม และจะไม่มีการแถลง ให้ข่าว หรือให้สัมภาษณ์ จนกว่าการแสวงหาข้อเท็จจริงจะยุติ โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากสมาคมนักข่าวฯ เป็นกรณีๆ ไป

ขอความร่วมมือให้ผู้ที่มีข้อมูลที่เป็นจริง ในเหตุการณ์ที่สงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับกระแสข่าวดังกล่าว ไม่ว่าพยานบุคคลหรือหลักฐานในรูปแบบใดๆ ส่งข้อมูลประกอบการแสวงหาข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการฯ ภายในเวลา 30 วันนับแต่คณะอนุกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงฯ เริ่มประชุมครั้งแรก

ทั้งนี้ สมาคมนักข่าวฯ ขอให้ทุกฝ่ายรอผล จากคณะอนุกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงฯ และติดตามข้อแถลงของสมาคมนักข่าวฯ ในโอกาสต่อไป

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
20 กันยายน 2560


กำลังโหลดความคิดเห็น