xs
xsm
sm
md
lg

การศึกษาไทยจะไปทางไหน

เผยแพร่:   โดย: เสียงประชาชน

เรียน ท่านสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้เสียสละ

ท่านได้จุดเทียนให้ความรู้เพื่อพัฒนาชาติ ดิฉันขอร่วมจุดเทียนแก้ปัญหาการศึกษา ผลพวงจาก 5 ปีกว่าของผู้ใช้อำนาจ “ตาดูดาว เท้าติดดินแทบสิ้นอนาคตเด็กไทย” อดีตผู้นำพูดถึงปัญหาการศึกษาบ่อยๆ ว่า ครูขาดจิตวิญญาณ ครูแทบไม่เหลือขวัญกำลังใจ เขาไม่เหลียวดูการบริหารจัดการที่ผิดพลาด เริ่มตั้งแต่ พ.ร.บ.ครูและบุคลากรซึ่งแบ่งข้าราชการเป็นหลายกลุ่ม โยนภาระการสอนให้ครูผู้สอนซึ่งเหลือน้อยจากนโยบายจำกัดกำลังคนภาครัฐ หวังจัดการศึกษาต้นทุนต่ำ ศธ.ไม่เสียดายครูมืออาชีพซึ่งเกษียณก่อนกำหนดจำนวนมาก หวังจัดครูรุ่นใหม่ที่เพิ่งจบการศึกษามาทดแทนแต่ก็ทำไม่ได้เพราะไม่มีอัตราว่าง ศึกษานิเทศก์ซึ่งมีอยู่จำนวนมากที่มักอ้างความสามารถว่าเป็นครูของครูก็ไม่จัดให้มาช่วยสอน แต่ให้โอกาสก้าวหน้ามากกว่าครูผู้สอน เลื่อนตำแหน่งจาก ศน. 7 เป็น ศน. 9 ก็ได้ เป็นกลุ่มที่ทำงานสบายวันๆ ลอยไปลอยมา

ศธ.ทิ้งรากเหง้าของวัฒนธรรมการศึกษาไทย ดิฉันจำได้สมัยเรียนมัธยม อาจารย์ใหญ่มีชั่วโมงสอน ผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ก็สอน ผู้บริหารไม่ค่อยไปไหน บางวันศึกษาธิการจังหวัดขี่จักรยานมาตรวจเยี่ยมโรงเรียนอาจารย์ใหญ่และผู้ช่วยจะรับผิดชอบการอบรมนักเรียนหน้าเสาธง และลงโทษในความผิดที่รุนแรงด้วยตนเอง เป็นบรรยากาศแห่งสมานฉันท์ในการทำงาน ปัจจุบันไม่ใช่ ผู้บริหารโรงเรียนใหญ่ไม่ต้องสอน รอง ผอ.ก็ไม่ต้องสอน ครูคนสนิทหรือเป็นเลขา ผอ.ก็ไม่ต้องสอนแต่เลื่อนวิทยฐานะได้ ผอ.และรองฯ อิสระที่จะไปไหนๆ ทั้งสัปดาห์อ้างราชการ ครูตั้งคำทายว่า “ใครเอ่ยมาก็ไม่รู้ อยู่ก็ไม่เห็น” ปัจจุบันใน สพท.ก็เป็นเช่นนี้ รอง ผอ.สพท.มี 10-12 อดีต รมว.จาตุรนต์ก็ทำได้ไงจัดคนไปไว้ในหน่วยงานมากเกินความจำเป็นแทนที่จะส่งไปช่วยสอนในโรงเรียน รอง ผอ.ลงเวลาทำงานแล้วไปไหนก็ได้น่าเสียดายทรัพยากร

ผลการสำรวจของท่าน ผอ.ดร.อมรวิชช์ ที่พบว่าผู้บริหารอยากเกษียณก่อนกำหนดถึง 43% อย่าสงสัยว่า ผู้บริหารภาระงานน้อยกว่าครูผู้สอนทำไมอยากลาออก ดิฉันฟันธงได้ว่า ผู้บริหารโรงเรียนเล็กในท้องถิ่นห่างไกลหรือในชุมชนยากจนเท่านั้นที่อยากลาออก ภาระงานหนักและรับผิดชอบสูง แก้ปัญหาต่างๆ สารพัด ต้องช่วยสอนลดชั่วโมงครูที่งานหนักเกินไป ต้องร่วมเฉลี่ยจ่ายค่าไฟและค่าใช้จ่ายจำเป็นอื่น ช่วยอาหารกลางวันนักเรียนที่ยากจนมาก มิได้สุขสบายเหมือนโรงเรียนใหญ่ในเมือง ที่อดีต รมว.จาตุรนต์ ออกระเบียบว่า ผอ.โรงเรียนย้าย ต้องย้ายสับเปลี่ยนระหว่างโรงเรียนขนาดเดียวกัน เป็นนโยบายสกัด ผอ.โรงเรียนเล็กมิให้ลืมตาอ้าปาก จึงไม่อยากอยู่ต่อไป พ.ร.บ.ครูฯ กำหนดให้ผู้บริหารชื่อเดียวกันคือ ผอ.หวังให้ ผอ.ร.ร.เล็ก-ใหญ่สับเปลี่ยนกันได้มิใช่หรือ ผู้มีอำนาจทำไมวิสัยทัศน์แคบนัก

ศ.ดร.วิจิตร ศรีสะอ้าน มอบหมายให้สภาการศึกษาเป็นแม่งานการแก้ปัญหาขาดแคลนครู น่าดีใจที่ท่าน รมช.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ และเลขานุการ ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ มีข้อมูลชั่วโมงสอนและความห่อเหี่ยวสิ้นหวังของครู ถ้าได้แก้ปัญหาขาดแคลนครูด้วยวิธีที่รวดเร็วทันเหตุการณ์ตามที่ท่าน รมช.เคยให้สัมภาษณ์สื่อ คือใช้มติครม.ก็จะทันรัฐบาลนี้ซึ่งเหลือเวลาจำกัด แก้ปัญหาได้ทันเปิดภาคเรียนแรกปีการศึกษา 2550 จะเป็นคุณูปการทางการศึกษาที่ยิ่งใหญ่มาก

ดิฉันขอร่วมเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาขาดแคลนครู ดังนี้

ควรใช้แนวคิดของ ดร.เลขา ปิยะอัจฉริยะ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สกศ.ที่กล่าวว่า “การให้ครูที่ขอประเมินเชี่ยวชาญพิเศษเกณฑ์เกษียณรุ่นแรกไม่ผ่านทุกคน ประเมินครูเชี่ยวชาญรุ่นแรกก็ไม่ผ่านกัน รัฐบาลชูคุณธรรมนำความรู้ควรให้สำคัญด้านนี้”

เรียนมาเพราะเชื่อในความปรารถนาดีของท่าน หวังเป็นกระบอกเสียงให้ด้วย

ขอแสดงความนับถือ
ครูผู้อยากช่วยเด็กซึ่งส่งผลถึงครูและสังคม

***********
คอลัมน์-“เสียงประชาชน”นี้จะเป็นช่องทางให้ประชาชนที่ต้องการแจ้งข่าวคราว เบาะแส ระบายความในใจต่อความเป็นไปในบ้านเมือง เพื่อส่งผ่านไปยังผู้มีอำนาจในบ้านเมือง ผู้เกี่ยวข้อง และประชาชนในแผ่นดินได้รับรู้ร่วมกัน โดยส่งถึงสนธิ ลิ้มทองกุล ผ่านทาง peoplevoice@manager.co.th หรือส่งจดหมายมาที่ 102/1 บ้านพระอาทิตย์ ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กทม.10200 วงเล็บมุมซองว่า “เสียงประชาชน” หรือ โทรสาร 02-281-1708

กำลังโหลดความคิดเห็น