xs
xsm
sm
md
lg

โครงการปรับปรุงบึงมักกะสัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ใช้ผักตบชวากำจัดน้ำเน่าเสียที่ได้เริ่มดำเนินการขึ้นที่บึงมักกะสัน ซึ่งเป็นบึงน้ำขนาดใหญ่ อยู่ในเขตโรงงานรถไฟมักกะสันของการรถไฟแห่งประเทศไทยรวมพื้นที่บึงประมาณ 92 ไร่ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสเปรียบว่า "ที่นี่เราถือว่าเป็นไตกำจัดสิ่งสกปรกและโรค" และจากการทดสอบคุณภาพน้ำในบึงพบว่าปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำตามจุดต่างๆ มีปริมาณเพิ่มขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่า น้ำในบึงหลังปรับปรุงโดยทั่วไปมีคุณภาพดีขึ้น

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2530 เวลา 16.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีไปทอดพระเนตรผลการดำเนินงานตามโครงการปรับปรุงบึงมักกะสัน โดยได้พระราชทานพระราชกระแสรับสั่งกับ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายหิรัญ รดีศรี ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย นายสุหะ ถนอมสิงห์ อธิบดีกรมชลประทานและนายสุเมธ ตันติเวชกุล ผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการพิเศษ เพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) และได้พระราชทานหลักการย้ำมาอีกครั้ง เป็นเอกสารที่ทรงเรียกว่า " แถลงการณ์ " แก่นายสุเมธ ตันติเวชกุล ซึ่งมีข้อความในแถลงการณ์ เกี่ยวกับโครงการนี้ คือ หน้าแล้งกำจัดน้ำโสโครกด้วยผักตบชวา หน้าน้ำกักเก็บและระบายน้ำ ภารกิจรอง คือทำปุ๋ยหมัก เชื้อเพลิงเยื่อสารจากผักตบชวา ปลูกผักน้ำอื่นๆ เช่น ผักบุ้ง และเลี้ยงปลา

ส่วนแนวคิดกรุงเทพมหานคร ที่เคยคิดจะปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะเพื่อเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนนั้นไม่ทรงโปรดให้ทำเพราะน้ำมีกลิ่นเหม็น คงจะไม่เหมาะในการทำสวนสาธารณะ

เมื่อการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการก่อสร้างทางด่วนมหานครขั้น 2 ระยะที่ 1 โดยมีแนวผ่านบึงมักกะสันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชดำรัสว่า เดิมนโยบายบำบัดน้ำเสีย โดยใช้ผักตบชวา แต่ปัจจุบันควรจะใช้ เครื่องพ่นอากาศเข้าช่วยเนื่องจากทางด่วนที่สร้างใหม่ทำให้น้ำในบึงไม่ถูกแดด กรุงเทพมหานครจึงได้มีการพิจารณาทบทวนโครงการปรับปรุงบึงมักกะสันใหม่ ประกอบกับ กรุงเทพมหานครได้ดำเนินโครงการก่อสร้างสถานีสูบน้ำที่บริเวณคลองสามเสน

ดังนั้นในปีงบประมาณ 2535 กรุงเทพมหานครจึงได้ปรับปรุงบึงมักกะสันให้สามารถฟอกน้ำในคลองสามเสนให้สะอาดขึ้นโดยใช้เครื่องเติมอากาศแบบทุ่นลอยผสมกับการใช้ผักตบชวา โดยมูลนิธิชัยพัฒนาเป็นผู้จัดหา และติดตั้งเครื่องเติมอากาศขนาด 11 กิโลวัตต์จำนวน 10 เครื่อง และกรุงเทพมหานครเป็นผู้ดำเนินการขุดลอกบึง ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ และปลูกผักตบชวา

ข้อมูล : http://www.bma.go.th/html/page641.html
กำลังโหลดความคิดเห็น