xs
xsm
sm
md
lg

กรอ.ออก 3 มาตรการขับเคลื่อนลดก๊าซเรือนกระจก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรอ. ขานรับนโยบาย“สุริยะ” ออก 3 มาตรการหลัก เร่งขับเคลื่อนแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะจากกระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ รวมถึงน้ำเสียอุตสาหกรรม หวังลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศให้ได้ 20-25 % ภายในปี 2573


นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เจรจากันในช่วงการประชุมภาคีสมาชิกของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ หรือ UNFCCC ครั้งที่ 21 ณ กรุงปารีส (ความตกลงปารีส) ที่มีสมาชิกมากกว่า 189 ประเทศทั่วโลกร่วมกันขับเคลื่อน โดยที่ไทยมีเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ     20-25 ภายในปี ค.ศ. 2030 หรือปี พ.ศ. 2573 ใน 3 สาขาหลัก คือ สาขาพลังงานและการขนส่ง สาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ และสาขาการจัดการของเสีย

การเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาฯดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงบทบาทการมีส่วนร่วมและความรับผิดชอบของประเทศไทยและประชาชนในประเทศในฐานะส่วนหนึ่งของประชาคมโลก ขณะเดียวกันการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีสะอาด จะส่งผลประโยชน์ร่วม (co-benefit) ทั้งในแง่ของคุณภาพสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งภาคอุตสาหกรรมของประเทศที่จะมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน

นายสุริยะ กล่าวว่า ได้กำชับไปยังกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ให้เร่งขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี 2564-2573 ซึ่งภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการลดก๊าซเรือนกระจก ทั้งจากกระบวนการผลิต การใช้ผลิตภัณฑ์ การจัดการของเสีย การใช้พลังงานทดแทน และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงฯ ได้ส่งเสริมและดำเนินการที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนโยบายส่งเสริมการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียวและอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ การส่งเสริมหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร  โดยการหมุนเวียนนำกากอุตสาหกรรมมาใช้ประโยชน์ให้ได้ผลตามเป้าที่ตั้งไว้ และดูแลสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด

ด้านนาย ประกอบ วิวิธจินดา อธิบดี กรอ. กล่าวว่า กรอ. ได้รับมอบหมายให้จัดทำแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี 2564-2573 ในสาขากระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ (Industrial Process and ProductUse หรือ IPPU) รวมถึงน้ำเสียอุตสาหกรรม โดยแผนปฏิบัติการฯ ประกอบด้วย 3 มาตรการหลัก ได้แก่

1) มาตรการทดแทนปูนเม็ด โดยการใช้วัสดุทดแทนปูนเม็ดในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก และการใช้วัสดุทดแทนปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้นในคอนกรีตผสมเสร็จ

2) มาตรการทดแทน/ปรับเปลี่ยนสารทำความเย็น โดยการปรับเปลี่ยนสารทำความเย็นภายใต้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น และการกำจัดทำลายของเสียและสารทำความเย็นที่เสื่อมสภาพอย่างถูกวิธี

และ 3) มาตรการการจัดการน้ำเสียอุตสาหกรรม  โดยการเพิ่มการผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียอุตสาหกรรมด้วยการนำก๊าซมีเทนกลับมาใช้ประโยชน์ ซึ่งเป็น 3 มาตรการในลำดับแรกที่ผู้ประกอบการมีความพร้อมและศักยภาพในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคกระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ รวมถึงน้ำเสียอุตสาหกรรม


สำหรับแผนปฏิบัติการฯ ได้กำหนดมาตรการสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจก เช่น การพัฒนาระบบการตรวจวัด รายงาน และทวนสอบ (Measurement, Reporting and Verification: MRV) การเสริมสร้างขีดความสามารถ ความตระหนัก และการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจก โดยที่มีการกำหนดเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกในส่วนที่ กรอ. รับผิดชอบในสาขากระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ และสาขาน้ำเสียภาคอุตสาหกรรมภายในปี 2573 รวมทั้งสิ้น 2.25 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จากภาพรวมของประเทศทั้งหมด รวมทั้งสิ้น 115.6 ล้านตันฯ ใน 3 สาขา ประกอบด้วย สาขาพลังงานและขนส่ง 113.0 ล้านตันฯ สาขาการจัดการของเสีย 2.0 ล้านตันฯ  

อธิบดี กรอ. กล่าวด้วยว่า ปี 2564 กรอ.อยู่ระหว่างดำเนินโครงการรายงานและติดตามประเมินผลการลดก๊าซเรือนกระจกภาคอุตสาหกรรม ซึ่งครอบคลุมถึงกิจกรรมศึกษาและพัฒนาระบบการจัดการของเสียสารทำความเย็น รวมถึงการประเมินศักยภาพในการลดก๊าซเรือนกระจกจากมาตรการกำจัดทำลายของเสียของสารทำความเย็นด้วย ทั้งนี้ ปัญหาโลกร้อนจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจก ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกได้ให้ความสำคัญอย่างมากพร้อมกับประกาศความเป็นกลางทางคาร์บอนหรือลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ (Carbon Neutral) และในทางปฏิบัติน่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 หรือ COP26 ที่สหราชอาณาจักรเป็นเจ้าภาพร่วมกับอิตาลีในเดือนพฤศจิกายน 2564


กำลังโหลดความคิดเห็น