xs
xsm
sm
md
lg

KBANKรอผลกระจายวัคซีนก่อนปรับGDP

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ธนาคารกสิกรไทย รอดูผลกระจายวัคซีนในประเทศ ก่อนทบทวนประมาณการเศรษฐกิจไทยใหม่อีกครั้งในเดือนมิถุนายนนี้ ประเมินกรณีดีที่สุด หากกระจายวัคซีนได้ 100 ล้านโดส จะทำให้จีดีพีปีนี้ โต 2%

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวในงานสัมมนา "Economic Outlook Thailand Forecast" ว่า ตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้ คือ นโยบายด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะการกระจายวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศให้ได้เร็วที่สุด ในขณะที่นโยบายการเงิน และนโยบายการคลังจะเป็นเพียงตัวประกอบเท่านั้น

ธนาคารกสิกรไทย มีความเห็นสอดคล้องกับธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการกระจายวัคซีนต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่ให้สมมติฐานไว้ 3 กรณี คือ กรณีดีที่สุด หากปีนี้ กระจายวัคซีนได้ 100 ล้านโดส จะทำให้จีดีพีไทยปี 2564 ขยายตัวได้ประมาณ 2% ส่วนปี 2565 ขยายตัวได้ 4.7%

กรณีฐาน หากปีนี้ กระจายวัคซีนได้ตามเป้าหมายเดิม 64.6 ล้านโดส จะทำให้จีดีพี ขยายตัวได้ 1.5% ส่วนปี 2565 ขยายตัว 2.8%

กรณีแย่สุด หากปีนี้ กระจายวัคซีนได้ไม่ถึง 64.6 ล้านโดส จะทำให้จีดีพี ขยายตัว 1% ส่วนปี 2565 ขยายตัว 1.1%

นายกอบสิทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ธนาคารกสิกรไทย ยังคงประมาณการจีดีพีปี 2564 ไว้ที่ 1.8% โดยจะทบทวนประมาณการอีกครั้งในเดือนมิถุนายนนี้ และมองว่า พัฒนาการและความสามารถในการรับมือกับการระบาดของไวรัสโควิดในแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน ย่อมมีผลต่อพลวัตทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศที่แตกต่างกันไปด้วย ยกตัวอย่าง สถานการณ์โควิดในสหรัฐอเมริกา, อังกฤษ และจีนในปัจจุบัน เริ่มคลี่คลาย เพราะมีการกระจายวัคซีนได้รวดเร็ว

โดยสหรัฐ ฉีดวัคซีนให้กับประชากรไปแล้วถึง 36% ส่วนอังกฤษ 29% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของทั่วโลก ที่ฉีดวัคซีนไปแล้ว 4.5% ของประชากรโลก ถือว่า ทั้งสหรัฐฯ และอังกฤษ ทำได้ดีกว่าค่าเฉลี่ยของโลก จึงทำให้ได้เห็นการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้กันบ้างแล้ว

ในขณะที่ประเทศไทย การกระจายวัคซีนยังทำได้ในระดับต่ำ ดังนั้นหากประเทศใด สามารถฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้เร็ว และลดการแพร่ระบาดได้ดีกว่า ก็จะส่งผลให้เปิดประเทศได้เร็วขึ้น

นายกอบสิทธิ์ มองว่า หากเศรษฐกิจไทย ทยอยฟื้นตัว จะสนับสนุนให้เงินบาทกลับไปแข็งค่าขึ้นช้าๆ ไม่ก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ หลังจากปีที่ผ่านมา เงินบาทอ่อนค่ามาก จากผลกระทบการระบาดของโควิดในรอบแรก แต่ปีนี้ เริ่มกลับมาแข็งค่า 1.8% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ และหากเทียบกับช่วงต้นปี เงินบาทอ่อนค่ามากกว่าสกุลเงินของประเทศอื่น จากการกลับมาของการระบาดรอบใหม่

ส่วนการอ่อนค่าของเงินบาท ในช่วงเมษายน-พฤษภาคมนี้ ถือเป็นช่วงฤดูกาล เพราะเป็นช่วงที่บริษัทต่างชาติ ที่มาเปิดกิจการในไทย นำส่งเงินรายได้จากผลประกอบการกลับสู่ประเทศ ซึ่งธนาคารกสิกรไทย ยังมองทิศทางเงินบาทในช่วงครึ่งปีแรกไว้ที่ 31.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนเงินบาทสิ้นปี 2564 คาดว่า จะเฉลี่ยอยู่ที่ 29.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ


กำลังโหลดความคิดเห็น