xs
xsm
sm
md
lg

คนร. เคาะตั้ง 2 บริษัทลูก ของ กฟน. และ กฟผ.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คนร. เห็นชอบตั้ง 2 บริษัทลูกของ กฟน. และ กฟผ. ยกระดับการจัดการด้านพลังงานด้วยนวัตกรรม

นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2564 โดยมีพลเอกประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่ง คนร. ได้พิจารณาในเรื่องต่างๆ ดังนี้

1. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจ เพื่อพิจารณากลั่นกรองและเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจให้แก่ คนร. โดยมีนายพิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน คนร. เป็นประธานอนุกรรมการ ซึ่งในชั้นนี้ คนร. จะกำกับติดตามการแก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจ 4 แห่ง ได้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (บมจ. เอ็นที) และบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) (บมจ. อสมท) อย่างใกล้ชิด เพื่อให้การแก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจได้รับการผลักดัน
อย่างต่อเนื่อง

2. เห็นชอบในหลักการของการจัดตั้งบริษัทในเครือของรัฐวิสาหกิจ 2 แห่ง ดังนี้
2.1 บริษัทในเครือของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) (บริษัท MEA Smart Energy Solutions จำกัด)
เพื่อดำเนินธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการให้บริการให้คำปรึกษาการออกแบบ ติดตั้ง บำรุงรักษา และลงทุนด้านการบริหารจัดการระบบพลังงานทดแทน (Renewable Energy) และระบบพลังงานแบบอัจฉริยะ (Smart Energy) แบบครบวงจรเพื่อรองรับการเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) โดย กฟน. จะถือหุ้น 100% ของบริษัทในเครือดังกล่าว

2.2 บริษัทในเครือของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อพัฒนาต่อยอดผลงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมของ กฟผ. และกลุ่ม กฟผ. สู่เชิงพาณิชย์ และลงทุนในธุรกิจพลังงานเพื่ออนาคต (Future Energy) โดย กฟผ. จะถือหุ้น 40% ของบริษัทในเครือดังกล่าว และมีบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด(มหาชน) (EGCO) และบริษัทราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (RATCH) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ กฟผ. ร่วมถือหุ้นด้วยแห่งละ 30%

3. เห็นชอบหลักเกณฑ์การประเมินผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ โดยกำหนดให้มีการประเมินผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจใน 3 ด้าน ได้แก่
1) ด้านการดำเนินงานตามนโยบายและภารกิจตามยุทธศาสตร์
2) ด้านผลการดำเนินงาน (การเงินและไม่ใช่การเงิน) 

และ 3) ด้านการบริหารจัดการองค์กรตาม Core Business Enablers ทั้ง 8 หัวข้อ และให้เริ่มใช้หลักเกณฑ์การประเมินผลดังกล่าวตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป เพื่อกำกับติดตามและเพิ่มศักยภาพในการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งยกระดับการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจให้เชื่อมโยงระหว่างความคาดหวังตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดกับความรับผิดชอบระดับองค์กรและระดับรายบุคคลของรัฐวิสาหกิจ

นอกจากนี้ คนร. รับทราบความคืบหน้าในการจัดทำแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นแผนที่จะกำหนดเป้าหมาย นโยบาย และทิศทางในการพัฒนารัฐวิสาหกิจในระยะ 5 ปี ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนต่างๆ ในภาพรวมของประเทศ โดยแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจจะมีระยะเวลาสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) และคาดว่าจะสามารถประกาศใช้ในช่วงต้นปี 2565 เพื่อให้รัฐวิสาหกิจนำไปประกอบการจัดทำแผนวิสาหกิจ 5 ปี และแผนปฏิบัติการประจำปีให้สอดคล้องต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น