xs
xsm
sm
md
lg

เงินเฟ้อก.พ.64ติดลบครบ1ปีหลังเกิดโควิด เชื่อทั้งปี+1.2%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เงินเฟ้อไทยเดือนกุมภาพันธ์ ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 จากการระบาดของโควิด และมาตรการช่วยเหลือภาครัฐ ลดค่าน้ำ ค่าไฟ กระทรวงพาณิชย์ มั่นใจทั้งปี กลับมาบวกในกรอบ 0.7 ถึง 1.7% มีค่ากลาง +1.2%

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ หรือ สนค. รายงานดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ เงินเฟ้อทั่วไป เดือนกุมภาพันธ์ 2564 ติดลบ 1.17 % ทำสถิติติดลบต่อเนื่องครบ1ปีเต็ม นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ในไทย เมื่อต้นปี 2563

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า การหดตัวของเงินเฟ้อในเดือนกุมภาพันธ์ มีปัจจัยหลักจากมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ โดยเฉพาะการลดค่าไฟฟ้าและน้ำประปา 2 เดือน (ก.พ.–มี.ค.64) และราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสด ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ผักสด ลดลงตามปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาสินค้าและบริการในหมวดอื่นๆ ส่วนใหญ่ยังทรงตัวและเคลื่อนไหวสอดคล้องกับปริมาณผลผลิตและความต้องการบริโภคของประชาชน ยกเว้น น้ำมันเชื้อเพลิง ที่ปรับราคาสูงขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 13 เดือน ตามการสูงขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก

ผู้อำนวยการ สนค. คาดว่า อัตราเงินเฟ้อเดือนมีนาคม จะติดลบน้อยลง และมีแนวโน้มเป็นบวกได้ตั้งแต่เดือนเมษายน ทำให้ทั้งปี 2564 จะกลับมาเป็นบวก เคลื่อนไหวในกรอบ 0.7 ถึง1.7% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 1.2% ซึ่งเป็นอัตราที่น่าจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างเหมาะสม


สนค. รายงานด้วยว่า สถานการณ์ด้านการผลิตและบริโภค เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว สอดคล้องกับการส่งออกที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ,อัตราการใช้กำลังการผลิต กลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป้าหมายเงินเฟ้อทั้งปีนี้ ที่มีค่ากลาง 1.2% อยู่ภายใต้สมมติฐานจีดีพีปีนี้โต 3.5 ถึง 4.5% ,ราคาน้ำมันดิบดูไบ อยู่ที่ 40-50 ดอลลาร์ฯต่อบาร์เรล และค่าเงินบาทอยู่ที่ 30-32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ


กำลังโหลดความคิดเห็น