“ก้าวไกล” จับตาศาลรัฐธรรนูญวินิฉัยคดีนายกฯพักบ้านหลวงพรุ่งนี้ หลุดเก้าอี้หรือไม่ พร้อมขอให้กระบวนการยุติธรรมวินิจฉัยตามความเป็นจริง อย่าลดทอนศรัทธาประชาชน
ที่รัฐสภา นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร พร้อมด้วย นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล เเถลงข่าวกรณีศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยคำพิพากษา กรณีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พักอาศัยบ้านพักราชการหลังเกษียณอายุราชการ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เเละสิ้นสุดการเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่
โดยนายธีรัจชัย กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184 ที่บัญญัติไว้ว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เเละวุฒิสภา ต้องไม่รับเงินหรือประโยชน์อื่นใดหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐเป็นพิเศษ โดยมาตรา 186 ให้ใช้ตามมาตรา 184 เป็นอนุโลม ซึ่งจากกรณีดังกล่าวมีข้อโต้แย้งอ้างกันว่ากองทัพบกมีระเบียบว่าผู้ที่ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศ จะสามารถพักอาศัยอยู่บ้านพักข้าราชการทหารได้ ซึ่งในประเด็นนี้มีข้อสังเกตคือ แม้ระเบียบของทางกองทัพบกจะเสนอว่าให้ทำได้ แต่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่ว่า ส.ส. ส.ว. นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี ได้ถูกบัญญัติห้ามไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน
ทั้งนี้ แม้จะมีผู้เสนอมาก็รับประโยชน์อื่นใดเกิน 3,000 บาท ไม่ได้ ซึ่งหากมีการคำนวนระยะเวลาการพักอาศัยในบ้านพักราชการของพลเอกประยุทธ์ มีค่าน้ำค่าไฟ รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตลอดระยะเวลาหลายปี มีค่าใช้จ่ายเกิน 3,000 บาทแน่นอน และไม่นับว่า พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่ได้ทำประโยชน์ให้บ้านเมือง แต่มาทำให้ประเทศชาติมีปัญหาซับซ้อนมากขึ้นตั้งแต่เป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. จนสืบทอดอำนาจมาเป็นนายกรัฐมนตรี โดย คสช. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหัวหน้าคณะได้ใช้อำนาจกลไกของคณะรัฐประหารวางบุคคลใกล้ชิดมาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งตุลาการในศาลรัฐธรรมนูญหลายคนก็ได้รับการแต่งตั้งและได้รับผลพลอยได้มาจาก คสช. อาทิ การสรรหาโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. โดย คสช.ออกคำสั่งที่ 48/2557 และมี สนช.ซึ่งแต่งตั้งโดยคสช.เป็นผู้พิจารณาเห็นชอบ จึงหวังว่ากระบวนการยุติธรรมต้องไม่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการรักษาอำนาจให้กับผู้มีอำนาจ หรือใช้เป็นทางลงให้กับผู้มีอำนาจ เพราะจะเป็นการทำลายหลักการนิติรัฐของประเทศ ไม่เป็นผลดีต่อความเชื่อมั่นและเชื่อถือในกระบวนการยุติธรรมของประชาชน
ด้านนายวิโรจน์ กล่าวว่า กรณีที่พลเอกประยุทธ์ ยังคงอยู่อาศัยในบ้านพักสวัสดิการทหาร ตั้งแต่เกษียณในตำแหน่ง ผบ.ทบ. เมื่อเดือน ก.ย. 2557 จนถึงปัจจุบัน ก็ประมาณ 6 ปี ซึ่งหากพิจารณาจากระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในอาคาร บ้านพักของข้าราชการและลูกจ้างประจำในกองทัพบก พ.ศ.2553 ในหมวดที่ 3 ในข้อที่ 14.2 ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า บุคคลที่พ้นจากการเป็นข้าราชการไม่ว่ากรณีใดต้องย้ายออกจากบ้านพัก และในข้อที่ 15.1 ยังได้กำชับไว้ด้วยว่า กรณีที่ออกจากราชการไม่ว่ากรณีใด จะต้องย้ายออกจากบ้านพัก ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่ง
โดยถ้ายึดหลักตามนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2558 เป็นต้นไป พล.อ.ประยุทธ์ จะมาอยู่ฟรีในบ้านพักสวัสดิการทหาร ไม่ได้อีกต่อไป นี่เท่ากับว่าจนถึงปัจจุบันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ถือวิสาสะอยู่ในบ้านพักสวัสดิการทหารแบบฟรีๆ ไม่ต้องเสียค่าเช่า มาถึง 5 ปี 8 เดือน ซึ่งจากการหาราคาบ้านเช่า ในย่านกรมทหารราบที่ 1 เขตพญาไท ก็พบว่าค่าเช่าบ้าน อย่างต่ำๆ ก็ต้องมีเดือนละประมาณ 49,000 บาท เท่ากับว่า การอยู่บ้านพักสวัสดิการทหารแบบฟรีๆ มา 5 ปี 8 เดือน ของ พล.อ.ประยุทธ์ นี่มีมูลค่าสูงถึง 3.3 ล้านบาท และจากประกาศของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือ ป.ป.ช. ก็ได้ห้ามมิให้เจ้าพนักงานรัฐรับทรัพย์ หรือประโยชน์อื่นใดเกิน 3,000 บาท ซึ่งได้ระบุเอาไว้ในข้อที่ 6 (1) อย่างชัดเจน ดังนั้น การอยู่บ้านพักแบบฟรีๆ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จึงถือเป็นการรับประโยชน์อื่นใดที่เกิน 3,000 บาท แน่นอน
ขณะเดียวกัน เมื่อมาพิจารณาดูรัฐธรรมนูญ ในหมวดที่ 9 การขัดกันแห่งผลประโยชน์ มาตรา 184 (3) ซึ่งได้ระบุเอาไว้ว่า ส.ส. และ ส.ว. ต้องไม่รับเงิน หรือประโยชน์ใดๆ จากหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เป็นพิเศษ นอกเหนือไปจากที่หน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจปฏิบัติต่อบุคคลอื่นๆ ในธุรกิจการงานปกติ ซึ่งมาตรา 186 ได้ให้นำเอาความในมาตรา 184 มาบังคับใช้กับรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีด้วย ในส่วนนี้จึงถือได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ เข้าข่ายการรับประโยชน์อื่นใด อย่างไม่ต้องสงสัย
สำหรับข้อโต้เถียงว่า ทางกองทัพบกมีการยกเว้นให้กับนายทหารที่เกษียณราชการแล้ว แต่ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติ เช่น นายกรัฐมนตรี, รองนายกรัฐมนตรี, คณะรัฐมนตรี, สมาชิกวุฒิสภา และองคมนตรี ยังสามารถอาศัยอยู่ได้ตามปกติ แต่เป็นการชี้แจงเมื่อเดือน ก.พ. 2563 หลังจากที่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีตผู้บัญชาการทหารบก ได้สั่งการให้นายทหารที่เกษียณอายุราชการให้ออกจากบ้านพักสวัสดิการ ภายในสิ้นเดือน ก.พ. 2563 จึงชี้ชัดว่าที่ผ่านมาการที่นายทหารที่เกษียณอายุราชการแล้ว ยังคงพักอาศัยในบ้านพักสวัสดิการ นั้นเป็นการปล่อยปละละเลยของกองทัพเอง สำหรับข้อยกเว้น ก็เพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อเดือน ก.พ. 2563 ยิ่งเป็นการผูกมัดว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับประโยชน์อื่นใด มาตั้งแต่ 1 เม.ย. 2558 ถึง 29 ก.พ. 2563 หรือ 4 ปี 11 เดือน คิดเป็นค่าเช่ามูลค่าเท่ากับ 2.89 ล้านบาท ซึ่งก็เกินกว่า 3,000 บาท
สำหรับข้ออ้างชี้แจงว่า เหตุที่ไม่ได้ไปอาศัยที่บ้านพิษณุโลก ซึ่งเป็นบ้านพักรับรองนายกรัฐมนตรี เพราะหากไปอยู่ที่บ้านพิษณุโลก ก็ต้องมีการซ่อมแซม ซึ่งสิ้นเปลืองงบประมาณ ในประเด็นนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ต้องชี้แจงให้สังคมทราบด้วยว่า บ้านพักที่ พล.อ.ประยุทธ์ พักอยู่ในปัจจุบัน ที่กรมทหารราบที่ 1 ได้ใช้งบซ่อมแซมหรือไม่ ซ่อมแซมมาแล้วกี่ครั้ง ใช้งบประมาณไปเท่าไหร่ มีการออกแบบ ตกแต่งภายใน ต่อเติม และดัดแปลงต่างๆ จนทำให้บ้านพักนั้นผิดไปจากแบบของบ้านพักสวัสดิการหรือไม่ อย่างไร ซึ่งหน่วยงานที่จะตอบคำถามนี้ได้ คือ กรมยุทธโยธาทหารบก นอกจากนี้ ยังต้องตรวจสอบเพิ่มเติมอีกด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีการนำเอาพลทหารไปรับใช้หรือไม่ ถ้ามี มีกี่นาย ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าสาธารณูปโภคต่างๆ พล.อ.ประยุทธ์ จ่ายเองหรือไม่
อย่างไรก็ตาม แม้หลักฐานทั้งหมด จะมัดแน่น จนดิ้นไม่หลุดขนาดนี้ แต่ด้วยอภินิหารของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ คสช. ได้รังสรรค์ให้มีองคาพยพต่างๆ ขึ้นมา จึงเชื่อได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะรอดพ้นจากข้อกล่าวหานี้ไปได้แน่ๆ เพียงแต่สิ่งที่สังคมจับตาและเงี่ยหูฟัง อย่างใจจดใจจ่อก็คือ เรื่องราวนี้ที่จะอธิบายว่า พล.อ.ประยุทธ์ นั้นรอดได้อย่างไร