xs
xsm
sm
md
lg

เสร็จแล้ว! ขยายทางหลวงหมายเลข 317 จันทบุรี–สระแก้ว รองรับ EEC

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทล.ขยายทางหลวงหมายเลข 317 สายจันทบุรี – สระแก้ว ตอน บ.เขาแหลม-อ.วังน้ำเย็น เพิ่มประสิทธิภาพขนส่ง แนวชายแดนฝั่งตะวันออก เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอีสานใต้ กับชายทะเลฝั่งตะวันออก รองรับ EEC


กรมทางหลวง(ทล.) โดยสำนักก่อสร้างทางที่ 2 ได้ดำเนินการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 317 สายจันทบุรี – สระแก้ว ตอน บ.เขาแหลม – อ.วังน้ำเย็น ระหว่าง กม.97+000 ถึง กม.113+500 รวมระยะทาง 16.50 กิโลเมตร ในพื้นที่ อำเภอวังสมบูรณ์ ถึง อำเภอ วังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้วแล้วเสร็จ เพื่อรองรับปริมาณการจราจรที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าตามแนวชายแดนฝั่งตะวันออก รวมถึงการเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างภูมิภาคอีสานใต้กับภูมิภาคชายทะเลฝั่งตะวันออก

ทางหลวงหมายเลข 317 สายจันทบุรี – สระแก้ว ตอน บ.เขาแหลม – อ.วังน้ำเย็น เป็นโครงการเร่งรัดขยายถนนสายประธานให้เป็น 4 ช่องจราจร โดยโครงการดังกล่าวเริ่มต้นที่ตำบลวังใหม่ อำเภอวังสมบูรณ์ สิ้นสุดบรรจบโครงการฯ ทางหลวงหมายเลข 317 ตอน 4 ที่ตำบลวังน้ำเย็น อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว รูปแบบการก่อสร้างเป็นมาตรฐานทางชั้นพิเศษ 4 - 10 ช่องจราจร ผิวทางจราจรแบบแอสฟัลต์คอนกรีตไป-กลับ มีขนาดช่องจราจรข้างละ 3.50 เมตร มีไหล่ทางและผิวจราจร 11 เมตร เกาะกลางเป็นแบบร่องลึกกว้าง 9.10 เมตร และบางช่วงมีไหล่ทางและผิวจราจร 9.50 เมตร เกาะกลางเป็นแบบยกกว้าง 5.10 เมตร 

ในย่านชุมชน ก่อสร้างเป็น 6 ช่องจราจร ลักษณะผิวทางเป็นแบบแอสฟัลต์คอนกรีตไป-กลับขนาดช่องจราจร 3.50 เมตร รวมไหล่ทางและผิวจราจร 13 เมตร เกาะกลางเป็นแบบยกกว้าง 5.10 เมตร และในชุมชนเขตเทศบาลเมืองอำเภอวังน้ำเย็นก่อสร้างเป็น 10 ช่องจราจร ผิวทางและไหล่ทางเป็นแอลฟัลต์คอนกรีตขนาดช่องจราจร 3.50 เมตร รวมไหล่ทางและผิวจราจร 13 เมตร เกาะกลางเป็นแบบยกกว้าง 5.10 เมตร ทางขนานผิวจราจรข้างละ 2 ช่องรวม 7 เมตร มีเกาะแบ่งระหว่างทางหลักกว้าง 3 เมตร ทางเท้าสร้างเต็มเขตทางหลวง 4.45 เมตร

ส่วนบริเวณวงเวียนจุดตัดระหว่างทางหลวงหมายเลข 317 กับทางหลวงหมายเลข 3076 ก่อสร้างเป็นวงเวียน มีรัศมีเกาะกลาง 12.50 เมตร มีช่องจราจรขนาด 2-3 ช่องจราจร กว้าง 3.50 – 4.50 เมตร ก่อสร้างแบบผิวทางคอนกรีต มีสะพานใหม่ 4 คู่ เป็นงานก่อสร้างสะพานใหม่แทนสะพานเดิมที่ต้องทุบรื้อทิ้ง รวมทั้งได้ติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างและไฟกระพริบบนทางหลวงบริเวณจุดกลับรถจำนวน 9 แห่ง ทั้งนี้รูปแบบการก่อสร้างถนนและเกาะกลางได้ออกแบบให้สอดคล้องกับลักษณะภูมิประเทศและเขตทางที่มีอยู่ให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด ใช้งบประมาณ 778,348,216 บาท

โครงการนี้ จะช่วยให้ประชาชนได้รับความสะดวกรวดเร็วและปลอดภัยในการเดินทาง รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งสินค้าตามแนวชายแดนฝั่งตะวันออก และการเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างระหว่างภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนใต้มากยิ่งขึ้น

ปัจจุบันทางหลวงสายหลักนี้ นอกจากจะใช้ในการขนส่งสินค้าเกษตรกรแล้ว ยังเป็นเส้นทางเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและแผนพัฒนาเครือข่ายการขนส่งของกลุ่มภาคตะวันออก รวมถึงรองรับการเปิดเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และรองรับแผนพัฒนาของรัฐบาลตามนโยบายโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตามโครงการภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ






กำลังโหลดความคิดเห็น