xs
xsm
sm
md
lg

คลังคงเป้าGDPปี63 ลบ 8.5%เริ่มเห็นสัญญาณดีครึ่งปีหลัง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวงการคลัง คงเป้าจีดีพีปีนี้ ติดลบ 8.5% มองทิศทางเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีดีกว่าช่วงครึ่งปีแรก หลังโควิดคลี่คลาย และประเมินผลกระทบจากน้ำท่วม จะเสียหายไม่มากนัก

นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนกรกฎาคม 2563 แม้จะยังชะลอตัว แต่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน ที่สะท้อนจากปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัว 31.4% จากเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาล และหดตัวในอัตราชะลอลง จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -5.8%

สอดคล้องกับรายได้เกษตรกรที่แท้จริงกลับมาขยายตัวที่ 4.1% ต่อปี และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เริ่มปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน มาอยู่ที่ระดับ 42.6 หลังจากรัฐบาล ผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ กลับมาดำเนินการได้มากขึ้น ประกอบกับผลของมาตรการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ช่วยให้มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น

ทางด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ ยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ -1.0% ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.4% ต่อปี ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมิ.ย.2563 อยู่ที่ 45.8% ต่อจีดีพี

สศค.ยังคงคาดการณ์จีดีพีปี 2563 ติดลบ 8.5% โดยผลกระทบจากโควิด ส่งผลต่อจีดีพีชัดเจนในช่วงครึ่งปีแรก ทำให้จีดีพีติดลบ6.9% ส่วนผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นหลายพื้นที่ในช่วงนี้ เบื้องต้นคาดว่าความเสียหายจะไม่มากนัก เพราะหลายจังหวัดคลี่คลายอย่างรวดเร็ว

กระทรวงการคลัง ยังรายงานดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนสิงหาคม ซึ่งประมวลผลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจรายจังหวัด จากสำนักงานคลังจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ พบว่า แนวโน้มความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจไทยดีขึ้นในหลายภูมิภาค เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 61.8 โดยมีภาคเกษตรและภาคบริการเป็นปัจจัยสนับสนุน เพราะเป็นช่วงฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญ เช่น ข้าวนาปี ,อ้อยโรงงาน และมีนโยบายจากภาครัฐ ที่ช่วยสนับสนุนการพัฒนาอาชีพและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมทั้งยังมีนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในแต่ละจังหวัดมากขึ้น หลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย

ส่วนภาคใต้ มีปัจจัยสนับสนุนหลัก จากภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม เพราะอุปสงค์การใช้ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ที่ทำจากยางพารา ปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดทั่วโลก รวมทั้งมาตรการของภาครัฐ ที่ช่วยเหลือภาคเกษตรกรรมของภาคใต้ และอนุญาตให้จัดกิจกรรมและเปิดสถานประกอบการได้เพิ่มขึ้น




กำลังโหลดความคิดเห็น