xs
xsm
sm
md
lg

“สุพัฒนพงษ์”สานต่อโรงไฟฟ้าชุมชน ,ลดค่าครองชีพด้านพลังงาน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองนายกฯและรัฐมนตรีพลังงาน ประชุมเชิงปฏิบัติการ “พลังงานร่วมใจ รวมไทยสร้างชาติ”ใช้ภาคพลังงาน ดึงเศรษฐกิจที่อ่อนแอ กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง พร้อมสานต่อโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก แต่ขอให้ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมภายใน 30 วัน เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนมากที่สุด และส่งสัญญาณต่ออายุมาตรการตรึงราคาก๊าซ LPG และ NGV สำหรับกลุ่มเปราะบาง เพื่อลดค่าครองชีพประชาชน

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดสัมมนาเชิงปฏิบัติการของภาคพลังงาน (Empathy-Based Economy Workshop) และมอบนโยบายหน่วยงานกำกับดูแลของกระทรวงพลังงาน โดยมองว่า คงต้องใช้เวลาอีกนาน กว่าวิกฤติโควิด-19 จะหายไป สิ่งที่รัฐบาลและกระทรวงพลังงาน ดำเนินการ มีทั้งการบรรเทาผลกระทบ ,การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย ให้กลับมาเดินหน้าได้อย่างมั่งคง

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า กระทรวงพลังงาน จะเน้นนโยบายด้านการสร้างงาน สร้างรายได้ วางรากฐานเพื่ออนาคตด้านพลังงานของประเทศ โดยมอบนโยบายให้ผู้บริหารหน่วยงานในสังกัด ทำแผนระยะ 5 ปี ซึ่งโครงการที่ต่อเนื่องจากรัฐมนตรีคนก่อน ก็ยังเดินหน้าต่อ ทั้งโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน เพื่อเศรษฐกิจฐานราก โดยสั่งการให้ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมใน 30 วัน เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนมากที่สุด

ส่วนการรับซื้อไฟฟ้าประเภทเร่งด่วน (Quick win) จะยังอยู่ในกรอบ 100-200 เมกะวัตต์ (MW) หรือไม่นั้น ต้องรอผลศึกษาออกมาก่อน แต่เบื้องต้นคาดว่า จะเปิดรับซื้อไฟฟ้าได้ในปลายปีนี้ และเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2564

ในส่วนของโซลาร์ภาคประชาชน ก็ขอให้พิจารณาว่า จะปรับเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าจากระดับ 1.68 บาท/หน่วยได้หรือไม่ เพื่อจูงใจให้ภาคประชาชนสนใจเข้าร่วมโครงการมากขึ้น และผลักดันให้เกิดการสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการรายย่อยอื่นๆ ตามมา ซึ่งเรื่องนี้ต้องใช้เวลาพิจารณา จึงไม่ได้เร่งรัดแผนดำเนินการแต่อย่างใด

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวด้วยว่า การรับซื้อโรงไฟฟ้าชุมชน สามารถดำเนินการได้ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ปี 2561-2580 (PDP2018) ซึ่งเป็นแผน PDP ฉบับเดิม เพียงแต่เพิ่มเติมบทแทรก โดยไม่รอจัดทำแผน PDP ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 1 ที่ปัจจุบันยังไม่ได้นำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งแผนนี้ จัดทำก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ดังนั้นการปรับปรุงแผน PDP ใหม่คงต้องรอให้สถานการณ์โควิด-19 นิ่งก่อน จึงจะปรับปรุงเพิ่มเติม

รองนายกฯและรัฐมนตรีพลังงาน ยังชี้แจงแนวนโยบายด้านปริมาณสำรองไฟฟ้า ที่ปัจจุบันมีมากประมาณ 40% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศ เบื้องต้นมีแนวทางที่จะยกระดับโครงสร้างไฟฟ้าให้เป็นระดับภูมิภาค ด้วยการขายไฟฟ้าที่เหลือไปยังอาเซียน เน้นเมียนมาและกัมพูชา ซึ่งจะต้องสร้างความชัดเจนภายใน 6 เดือนถึง 1 ปี โดยจะต้องใช้เงินลงทุนสูงและมีการปรับกฎระเบียบพอสมควร ส่วนที่อาจจะมีข้อเสนอให้ปลดระวางโรงไฟฟ้าเอกชนที่ใกล้หมดอายุก่อนกำหนดนั้น คงไม่ดำเนินการเพราะมีสัญญาระหว่างกันอยู่แล้ว ซึ่งคงไม่ไปดำเนินการอะไรที่จะกระทบต่อภาคเอกชน

ส่วนการจะเพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว ก็มีโอกาสที่จะดำเนินการได้ เพราะไทยก็ยังคงต้องการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ ที่มีต้นทุนที่ถูกเข้ามาเช่นกัน แต่คงไม่ใช่ช่วงเวลานี้เพราะต้องรอให้สถานการณ์ภายในประเทศและภาวะเศรษฐกิจของไทยนิ่งก่อน

สำหรับนโยบายด้านปิโตรเลียม ขณะนี้ยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะเร่งรีบเปิดประมูลปิโตรเลียมรอบใหม่ จากก่อนหน้านี้กระทรวงพลังงานมีแผนจะเปิดประมูลปิโตรเลียมในปีนี้ เนื่องจากเห็นว่าราคาน้ำมันในขณะนี้ยังอยู่ในระดับต่ำ ไม่น่าจะจูงใจให้มีผู้สนใจเข้าร่วมประมูลมาก และจะทำให้ไม่คุ้มค่า โดยให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติไปศึกษาและลองสำรวจความต้องการก่อนกลับนำมาเสนออีกครั้ง ซึ่งไม่ได้เร่งรีบมากนัก อย่างไรก็ตามจะมีการเดินหน้าเจรจาพื้นที่แหล่งปิโตรเลียมทับซ้อนไทย-กัมพูชาเพื่อให้ประสบความสำเร็จ และเกิดประโยชน์แก่ทั้ง 2 ประเทศ

ส่วนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ของภาคเอกชนที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) คาดว่า จะนำเข้าได้ภายในปี2563 เป็นไปตามแผนการเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติระยะที่ 2

ทางด้านการส่งเสริมน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ ทั้งแก๊สโซฮอล์ E20 และดีเซล B10 ก็ยังเดินหน้าต่อไป เพราะจะช่วยให้เกษตรกรได้ประโยชน์ โดยต้องรอรายละเอียดจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ก่อน เพื่อให้เป็นไปตามความตั้งใจ ที่จะให้เป็นพลังงานทดแทนเพื่อความยั่งยืน

นายสุพัฒนพงษ์ เน้นย้ำให้ผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดพลังงาน ทำแผนระยะ 5 ปี เน้นลงมือทำให้สำเร็จ (Execution) ตามเป้าหมายที่กำหนด








กำลังโหลดความคิดเห็น