xs
xsm
sm
md
lg

สรรรพากรทดสอบ Tax Sandbox เพิ่มประสิทธิภาพบริการด้านภาษี

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สรรพากรต่อยอดนำนวัตกรรมจากงาน #HACKATAX Thailand’s First Senior-level Hackathon มาทดสอบใน Tax Sandbox ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เน้นการนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการภาษี ที่ถูกใจประชาชน คาดนำมาใช้ได้จริงในปี 2564

นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี (กลุ่มธุรกิจพลังงาน) ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า โครงการ Tax Sandbox เพื่อทดสอบนวัตกรรมในการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการด้านภาษี เป็นการต่อยอดจากการจัดงาน #HACKATAX Thailand’s First Senior-level Hackathon ภายใต้แนวคิด “Real experts. Real solutions. Real impact.” ซึ่งได้จัดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2562

และในขณะนี้ กรมสรรพากรได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่ได้รับรางวัล นำผลงานเข้าร่วมทดสอบในโครงการ Tax Sandbox โดยกรมสรรพากร จะสนับสนุนให้มีการปรับปรุงแก้ไข กฎ ระเบียบ หรือ หลักเกณฑ์บางประการ ตามความเหมาะสมและความจำเป็นแล้วแต่กรณี เพื่อสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมายกระดับการให้บริการด้านภาษี ให้ถูกใจประชาชน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไปพร้อมกัน รวมทั้งยังเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนที่ต้องการดำเนินการทดสอบผลงานที่เป็นการจัดทำ ส่งมอบ เก็บรักษาข้อมูลใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์บนโครงข่ายบล็อกเชนเข้าร่วมทดสอบในครั้งนี้ด้วย

โฆษกกรมสรรพากร กล่าวเพิ่มเติมว่า
กรมสรรพากรได้เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าร่วมโครงการ Tax Sandbox ทดสอบนวัตกรรม ที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ ระหว่างวันที่ 27 เมษายน ถึงวันที่ 5 มิถุนายน 2563 ปรากฏว่ามีผลงานที่ผ่านการพิจารณาเข้าร่วมทดสอบ จำนวน 5 ผลงาน*

สำหรับโครงการ Tax Sandbox เป็นอีกหนึ่งโครงการฯ ที่กรมสรรพากรดำเนินการภายใต้แนวคิด “การยึดลูกค้า เป็นศูนย์กลาง” มีระยะเวลาในการทดสอบไม่เกิน 1 ปี 6 เดือน ผลจากการดำเนินการจะได้นวัตกรรมที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้เสียภาษี ช่วยให้ “ภาษี” เป็นเรื่องง่ายสำหรับผู้ประกอบธุรกิจ ช่วยลดต้นทุน และ ลดขั้นตอนในการดำเนินการด้านภาษี อันจะส่งผลดีต่อการดำเนินธุรกิจและเสริมสร้างความสมัครใจในการเสียภาษีอีกทางหนึ่งด้วย และหากมีความคืบหน้าจากการทดสอบในโครงการ Tax Sandbox ของภาคเอกชนทั้ง 5 รายแล้ว กรมสรรพากรจะประชาสัมพันธ์ให้ทราบต่อไป

*1.ผลงานชื่อ iTAX bnk จากบริษัท ไอแท็กซ์ อินคอเปอร์เรชั่น จำกัด

2.ผลงานชื่อ T-Wallet จากบริษัท บิลมีเวนเจอร์ จำกัด

3.ผลงานชื่อ DARK จากบริษัท บิลค์ วัน กรุ๊ป จำกัด และ บริษัท แอ็คโคเมท จำกัด

4.ผลงานชื่อ Blockchain for Procure-to-Pay จากบริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด

และ 5.ผลงานชื่อ แพลตฟอร์ม การจัดทำและนำส่ง e-Tax invoice จากบริษัท บีทามส์ โซลูชั่น
กำลังโหลดความคิดเห็น