xs
xsm
sm
md
lg

คลายล็อค หนุนดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตฯเพิ่มครั้งแรกรอบ 4 เดือน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคม ปรับเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ขานรับคลายล็อก และยกเลิกเคอร์ฟิว ส่งผลดีต่อกิจกรรมเศรษฐกิจ ขณะที่ผู้ประกอบการขนาดย่อม เสนอรัฐ ผ่อนปรนเงื่อนไข ให้เข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท.รายงานดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคม2563 อยู่ที่ระดับ 78.4ปรับเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. บอกว่า หลังจากภาครัฐ ควบคุมการแพร่ระบาดได้ และมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์อย่างต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ประกอบกับภาครัฐ ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด ,การปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย เหลือ 0.50% ส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการลดลง

ปัจจัย ที่ผู้ประกอบการยังกังวล คือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทย ซึ่งกระทบการค้า การลงทุน การจ้างงาน ,ปัญหาขาดสภาพคล่องและการเข้าถึงสินเชื่อของผู้ประกอบการขนาดย่อม ,การแข็งค่าของเงินบาทมากกว่าประเทศคู่ค้า ซึ่งกระทบความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออก

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 91.5 เพิ่มขึ้นจากระดับ 88.8 ในเดือนก่อนหน้า เพราะผู้ประกอบการ มองว่า การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ของภาครัฐในระยะต่อไป จะส่งผลดีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศมากขึ้น ขณะเดียวกันหลายประเทศ ก็ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เช่นกัน ทำให้คำสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ กลับมาขยายตัว อีกครั้ง แต่การที่ค่าดัชนี ยังต่ำกว่าระดับ 100 สะท้อนภาพรวมความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่

นายปรีชา ส่งวัฒนา รองประธาน ส.อ.ท. และประธานคณะอนุกรรมการการเงินและภาษี บอกว่า ผลสำรวจสภาอุตสาหกรรม 5 ภาค , 45 กลุ่มอุตสาหกรรม จำนวน 360 ราย พบว่า สมาชิกส่วนใหญ่ ยังมีอุปสรรคในการเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ส.อ.ท.จึงเสนอภาครัฐ ขอให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาค้ำประกันสินเชื่อที่ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ตามวงเงินกู้ ธปท. 5 แสนล้านบาท เพื่อจูงใจให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการง่ายขึ้น เนื่องจากธนาคารพาณิชย์กังวลเรื่องผู้ประกอบการยังไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ภายใน 2 ปี จึงต้องให้ บสย. ค้ำประกันหนี้ต่อหลังจากหมด พ.ร.บ.เงินกู้ฯ ซึ่งสอดคล้องกับมติการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เมื่อ 10 มิ.ย.63 โดยในขณะนี้ บสย. อยู่ระหว่างการหาแนวทางที่เหมาะสมร่วมกับสถาบันการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ต่อไป

ขอสนับสนุนแนวทางการช่วยเหลือทางการเงินกับ SMEs จากมติ ครม. วันที่ 26 พ.ค.63 ที่ได้เห็นชอบให้ปล่อยสินเชื่อวงเงินจำนวน 10,000 ล้านบาท ผ่านธนาคารออมสิน สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีคุณสมบัติไม่เข้าข่ายตาม พ.ร.ก. Soft Loan โดยเฉพาะที่ไม่เคยขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินหรือไม่มีสินเชื่อคงค้างกับสถาบันการเงิน ณ วันที่ 31 ธ.ค.62 โดยมีสิทธิประโยชน์ อาทิ วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี ซึ่งคล้ายกับ Soft Loan ของ ธปท. ซึ่งในเบื้องต้น ส.อ.ท. จะขอให้กำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น รวมทั้งจะประชาสัมพันธ์มาตรการนี้ให้สมาชิกได้รับรู้ เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับการเข้าถึงแหล่งสินเชื่อได้อีกทางหนึ่ง








กำลังโหลดความคิดเห็น