xs
xsm
sm
md
lg

พณ.ปลื้มส่งออกไม้ดอกไม้ประดับไทยโต สวนวิกฤติโควิด-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กางสถิติ พบไม้ดอกไม้ประดับไทยยังไปได้สวยในตลาดอาเซียน แม้เผชิญวิกฤตไวรัสโควิด-19 ชี้ ตลาดมาเลเซียครองแชมป์ขยายตัวสูงสุดไตรมาสแรก 224 % เชื่อไม้ดอกไม้ประดับไทยมีศักยภาพเติบโตได้ แนะเร่งใช้เอฟทีเอช่วยเพิ่มแต้มต่อส่งออกไปตลาดโลก
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการไม้ดอกไม้ประดับในตลาดโลกชะลอตัวลง แต่กลับทำให้การส่งออกของไทยไปตลาดอาเซียนเติบโตได้ดี โดยการส่งออกช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 มีมูลค่ากว่า 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 5 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

สำหรับสินค้าส่งออกที่ขยายตัวโดดเด่น เช่น ดอกไม้กลุ่มทิวลิป แกลดิโอลัส และยิปโซ ขยายตัวถึง 353% มูลค่าส่งออก 2.4 แสนดอลลาร์สหรัฐ ไม้ประดับประเภทมอสและไลเคน ขยายตัว 97% มูลค่าส่งออก 3.6 แสนดอลลาร์ฯ

ขณะที่ดอกกล้วยไม้ที่มีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุด ก็ยังคงขยายตัวได้ดีเพิ่มขึ้น 4 % มีมูลค่าส่งออก 3.2 ล้านดอลลาร์ฯ

ส่วนตลาดอาเซียนที่ขยายตัวมากที่สุด คือ มาเลเซีย ขยายตัว 224% รองลงมา คือ เมียนมา ขยายตัว 106% กัมพูชา ขยายตัว 47% และสิงคโปร์ ขยายตัว 35%

สำหรับความตกลงการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ ที่ไทยมีกับประเทศสมาชิกอาเซียน เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้สินค้าไม้ดอกไม้ประดับของไทยเติบโตได้ดีในตลาดของประเทศสมาชิก เพราะมีข้อได้เปรียบจากการที่ไทยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าในประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 9 ประเทศแล้ว และเมื่อเปรียบเทียบการส่งออกไม้ดอกไม้ประดับของไทยไปอาเซียนก่อนที่จะมีเอฟทีเอ (ปี 2535) กับปัจจุบัน (ปี 2562) พบว่าอัตราการขยายตัวของการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะการส่งออกดอกกล้วยไม้ พบว่าขยายตัวสูงถึง 11,900 % หรือเฉลี่ย 441 % ต่อปี

ปัจจุบัน 17 ประเทศคู่เอฟทีเอ ได้แก่ สมาชิกอาเซียน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี และเปรู ได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าในสินค้าไม้ดอกไม้ประดับจากไทยแล้ว เหลือเพียงอินเดียที่คงภาษีนำเข้าสินค้าไม้ดอกไม้ประดับบางรายการไว้
นางอรมน กล่าว;jk ในระยะยาวสินค้าไม้ดอกไม้ประดับของไทยจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอีก เพราะมีข้อได้เปรียบจากภูมิประเทศที่อุดมสมบูรณ์ สภาพภูมิอากาศที่ดี และเทคโนโลยีการเพาะปลูกที่มีมาตรฐาน รวมทั้งมีนักปรับปรุงพันธุ์ที่มีความสามารถในการพัฒนาพันธุ์ ทำให้มีไม้ดอกไม้ประดับพันธุ์ใหม่ๆ ที่สวยงามและสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก จึงอยากเชิญชวนให้เกษตรกรและผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอที่ไทยมีอยู่ เพิ่มแต้มต่อให้สินค้าไม้ดอกไม้ประดับของไทยในตลาดโลก

ปัจจุบันอาเซียนเป็นตลาดส่งออกไม้ดอกไม้ประดับอันดับที่ 3 ของไทย (รองจากสหรัฐฯ และญี่ปุ่น) มีสัดส่วนการส่งออก 16% โดยในปี 2562 มีมูลค่าส่งออกสูงถึง 20 ล้านดอลลาร์ฯ สินค้าส่งออกสำคัญ คือ ดอกกล้วยไม้ สัดส่วน 61 % ไม้ใบประดับ สัดส่วน 11 % และต้นกล้วยไม้ สัดส่วน 5 %

ตลาดส่งออกสำคัญในอาเซียน เช่น เวียดนาม 61 % สิงคโปร์ 14 % และฟิลิปปินส์ 6%
กำลังโหลดความคิดเห็น