xs
xsm
sm
md
lg

KTAM ชี้ ศก.ขยายตัวดันหุ้นแตะ 1,800 ตั้งเป้าสินทรัพย์ทะลุ 8.7 แสนล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


บลจ.กรุงไทยตั้งเป้าสินทรัพย์รวมปีนี้โตเกิน 10% ดัน AUM ทะลุ 8.7 แสนล้านบาท ส่วนปีที่ผ่านมาโต 8.7% ชนะอุตสาหกรรมกองทุนที่เติบโตขึ้นแค่ 3.4% เล็งออกกองทุนใหม่อีกไม่ต่ำกว่า 5 กอง เน้นความหลากหลายเป็นหลัก พร้อมคาดเศรษฐกิจไทยปีนี้โต 3.8% ขับเคลื่อนด้วยปัจจัยบวกภายในประเทศ แต่แนะจับตาผลกระทบภายนอก ทั้งสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน และ Brexit ส่วนหุ้นไทยปีนี้แตะ 1,800 รับอานิสงส์เศรษฐกิจในประเทศโต

นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (AUM) ณ วันที่ 28 ธันวาคม 2561 อยู่ที่ 776,382 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 62,135 ล้านบาท หรือประมาณ 8.7% ซึ่งสูงกว่าภาพรวมของอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 3.4% โดยการเติบโตแบ่งเป็นกองทุนส่วนบุคคลที่มีการขยายตัวสูงอยู่ที่ 71,468 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 55.3% กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และโครงสร้างพื้นฐานอยู่ที่ 109,567 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.6% และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่ที่ 99,123 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.1%

ส่วนกองทุนรวมมีสินทรัพย์รวมปรับตัวลดลงประมาณ 0.4% อยู่ที่ 496,224 ล้านบาท โดยมีสาเหตุจากภาวะความผันผวนของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง

สำหรับปีนี้ (2562) บริษัทตั้งเป้าอัตราการเติบโตของ AUM ไว้ที่ 878,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 10% โดยปีนี้บริษัทมีแผนที่จะเปิดจำหน่ายกองทุนใหม่ๆ อีกประมาณ 3-5 กองทุน หลังจากในปีที่ผ่านมามีการเปิดจำหน่ายกองทุนไปทั้งสิ้น 9 กองทุน และจะเน้นกองทุนที่มีความหลากหลายมากขึ้นเป็นหลัก ตัวอย่างเช่น กองทุนเปิดกรุงไทย สตราทีจิก แอคทีฟ โกลบอล แอลโลเคชั่น (KT-SAGA) ที่กำลังจะเปิดเสนอขายในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์

นางชวินดากล่าวอีกว่า ในปีนี้บริษัทประเมินอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 2562 อยู่ที่ระดับ 3.8% ต่อปี ชะลอลงจากปี 2561 ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวที่ 4.2% ต่อปี โดยแรงขับเคลื่อนหลักๆ มาจากนโยบายการลงทุนของภาครัฐที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการลงทุนในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะมีผลต่อความเชื่อมั่นการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นด้วย อีกทั้งแรงกระตุ้นจากปัจจัยการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน และผลของการหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมือง ซึ่งต้องติดตามว่าภายหลังการเลือกตั้งและมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ รวมถึงนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะออกมาจะเป็นแรงผลักดันในเรื่องของความเชื่อมั่นการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือไม่

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังถูกกระทบจากปริมาณการลดลงของนักท่องเที่ยวต่างประเทศโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่านักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าวจะฟื้นตัวกลับมาได้มากน้อยเพียงใด

“ปัจจัยต้องติดตามโดยเฉพาะในช่วงต้นปี คือผลเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ความเสี่ยงคือถ้าตกลงกันไม่ได้ และมีการขึ้นกำแพงภาษีก็จะทำให้เศรษฐกิจโลกมีผลกระทบร้ายแรงกว่าที่เห็นทุกวันนี้ การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ประเด็นการเมืองในยุโรป ข้อสรุปของอังกฤษว่าตกลงจะออกจาก EU หรือไม่ ส่วนไทยคือเรื่องท่องเที่ยวและผู้นำจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งเพราะมีผลต่อนโยบายในอนาคต ซึ่งมีผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมาก” นางชวินดากล่าว

นางชวินดากล่าวอีกว่า สำหรับแนวโน้มดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยในปีนี้ บริษัทประเมินกรอบดัชนีฯไว้ที่ 1,800 จุด โดยภาวะการลงทุนยังคงเผชิญกับความผันผวนต่อเนื่องจากปี 2561 ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งถูกกระทบจากปัจจัยเสี่ยงหลักกรณีสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อการขยายตัวเศรษฐกิจไทยผ่านปริมาณการส่งออกและการท่องเที่ยว รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากข้อจำกัดในการใช้มาตรการทางด้านการคลังและมาตรการทางด้านภาษีเพื่อกระตุ้นการขยายตัวเศรษฐกิจ หลังจากประกาศใช้ไปค่อนข้างมากในปีที่ผ่านมา

สำหรับปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือผลลัพธ์ของการเลือกตั้งทั่วไป ว่าไทยจะได้รัฐบาลที่มีเอกภาพเพียงพอที่จะบริหารประเทศได้อย่างมีเสถียรภาพหรือไม่ เพราะมีผลกระทบต่อนโยบายการบริหารเศรษฐกิจประเทศ ดังนั้นนโยบายการลงทุนของ บลจ.กรุงไทยในปีนี้จะเน้นการคัดสรรหลักทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวน้อยที่สุด รวมทั้งเลือกหลักทรัพย์รายตัวที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของวงจรการลงทุนภายในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนของภาครัฐในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมทั้งหลักทรัพย์กลุ่มที่ได้ผลดีจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก่อนการเลือกตั้ง

“ถ้าดูสภาพตลาดปัจจุบัน นักลงทุนค่อนข้างมีความกังวล มีความกลัวความเสี่ยงในการลงทุนในหุ้น ซึ่งถ้าดูราคาหุ้นในปัจจุบันก็มีการสะท้อนความกังวลดังกล่าวไปบ้างแล้ว ขณะเดียวกันราคาหุ้นปัจจุบันมี Valuation มี P/E ที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี มีอัตราเงินปันผลที่สูงขึ้น แม้ว่าจะมีปัจจัยที่น่ากังวลอยู่บ้าง แต่ระดับราคาหุ้นในปัจจุบันนี้ก็มี Downside risk ค่อนข้างจำกัด ดังนั้นการทยอยเข้าลงทุนในระดับปัจจุบันนี้ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ผลตอบแทนที่ดี ซึ่งคาดว่าจะดีกว่าการลงทุนในตราสารการเงินอื่นๆ ในระยะยาว” นางชวินดากล่าว

กลยุทธ์การลงทุนปี 2562 เราเน้นลงทุนในหุ้นที่มีรายได้และการเติบโตในประเทศ (Domestic Play) หุ้นที่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ ได้รับประโยชน์จากมาตรการและนโยบายของรัฐบาล ซึ่งได้แก่ หุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ และกลุ่มพาณิชย์ นอกจากนี้ การจัดพอร์ตหุ้นในปี 2562 เรายังคงเน้นกระจายการลงทุนไปในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความหลากหลาย คัดเลือกหุ้นรายตัวที่ราคามีการปรับตัวลงมาต่ำกว่ามูลค่าตามปัจจัยพื้นฐาน และหลีกเลี่ยงหุ้นที่มีความคาดหวังการเติบโตที่สูง ซึ่งอาจมีความเสี่ยงจากการปรับลดคาดการณ์ผลการดำเนินงานในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น