xs
xsm
sm
md
lg

แผนการลดขนาดงบดุลของธนาคารสหรัฐฯ (Fed Balance Sheet Normalization)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เดือนตุลาคมที่ผ่านมาเป็นจุดเริ่มต้นของการลดขนาดงบดุลของธนาคารสหรัฐฯ ตามแผนการทำนโยบายการเงินเพื่อให้เข้าสู่ภาวะปกติ (Monetary Policy Normalization) คำถามที่นักลงทุนหลายท่านอาจจะยังสงสัยว่ามันคืออะไร? แล้วมันจะส่งผลกระทบต่อวงกว้างอย่างไรบ้าง?

ก่อนอื่นผมต้องขอย้อนกลับไปในปี 2551 ซึ่งเป็นปีที่สหรัฐฯ เผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรงจากวิกฤตซับไพรม์ในตลาดอสังหาริมทรัพย์จนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งระบบของประเทศ และทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกหดตัวในเวลาต่อมา ในเวลานั้นธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้พยายามลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาเรื่อยๆจากระดับที่ 4.25% ลงมาสู่ระดับต่ำสุดที่ 0%-0.25% รวมทั้งยังใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือที่เราคุ้นหูกันว่าการทำ QE หรือ Quantitative Easing ซึ่งเป็นการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบการเงินด้วยการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ เข้าซื้อพันธบัตรภาครัฐ และตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยค้ำประกัน (MBS : Mortgage-Backed Securities) จำนวนมหาศาลเพื่อเสริมสภาพคล่องเข้าระบบเศรษฐกิจ

ธนาคารกลางสหรัฐฯ เริ่มการทำ QE ตั้งแต่ปี 2551 จนกระทั่งเริ่มเห็นแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง จึงได้ตัดสินใจเริ่มที่จะชะลอการทำ QE และได้หยุดทำในปี 2557 แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตามมา คือ งบดุลของธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วจาก 9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2551 เพิ่มขึ้นเป็น 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2557 จากการเข้าซื้อพันธบัตรตามที่กล่าวไว้ข้างต้น
การเติบโตในงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐฯ

ณ วันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 งบดุลของธนาคารกลางสหรัฐฯ อยู่ที่ระดับ 4.43 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ที่มา : Federal Reserve

เมื่อมีจุดเริ่มต้นก็ต้องมีจุดจบ ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ส่งสัญญาณที่จะปรับนโยบายการเงินสู่ภาวะสมดุล (Monetary Policy Normalization) เป็นครั้งแรกด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 2558 ขึ้นมาสู่ระดับ 0.25%-0.50% หลังจากที่คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0%-0.25% มาเป็นเวลา 7 ปี อีกทั้งยังได้ส่งสัญญาณในการประชุมครั้งถัดๆ มาว่าเมื่อตัวเลขเงินเฟ้อและตัวเลขในตลาดแรงงานมีพัฒนาการเชิงบวกและมั่นคง ธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็จะเริ่มลดขนาดงบดุลควบคู่ไปกับการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อให้นโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะสมดุลและให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดสอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น

หากธนาคารกลางสหรัฐฯ จะลดงบดุลให้ปรับตัวกลับเข้าสู่ภาวะปกติให้เร็วที่สุด ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะต้องทำการขายตราสารหนี้ที่ถืออยู่ออกไปสู่ตลาดให้หมด และต้องเลิกอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ตลาดโดยการลงทุนในตราสารหนี้เหมือนในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ในผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ เดือนกันยายนที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็ได้ประกาศว่าพร้อมที่จะเริ่มลดขนาดงบดุลด้วยการปล่อยให้ตราสารหนี้หมดอายุ ลดปริมาณการลงทุนต่อในตราสารหนี้ โดยกำหนดเพดานอยู่ที่เดือนละ 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะเพิ่มขึ้นในทุกๆ ไตรมาสจนถึงระดับที่ 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะทำการลดขนาดงบดุลสู่ระดับประมาณ 2.5-3.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในระยะต่อไป ทั้งนี้ หากเป็นไปตามแผนที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ วางแผนไว้จะทำให้งบดุลของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงกว่า 1.65 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐมาอยู่ที่ระดับ 2.85 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2563

อันที่จริงแล้วผลกระทบที่มีต่อตลาดจากการประกาศแผนลดขนาดงบดุลในครั้งนี้ไม่ได้มีความน่ากังวลหรือจะส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อตลาดเนื่องจากการสื่อสารที่ชัดเจน และได้มีการส่งสัญญาณล่วงหน้ามาระยะหนึ่งซึ่งช่วยลดความไม่แน่นอนออกไปได้ค่อนข้างมาก อีกทั้งการดำเนินการลดขนาดงบดุลเป็นไปตามแผนที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ วางไว้ ทำให้ตลาดรับรู้ข่าวและปรับตัวให้พร้อมรับกับการดำเนินนโยบายดังกล่าวของธนาคารกลางสหรัฐฯ อีกทั้งสภาพคล่องที่ลดลงนั้นเมื่อเทียบกับปริมาณสภาพคล่องที่เกิดจากการทำ QE ของธนาคารกลางอื่นๆ แล้วเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ขณะที่ภาวะสภาพคล่องล้นตลาดจะยังคงมีอยู่ต่อไปในอีกระยะเวลาหนึ่ง จนกว่าเศรษฐกิจโลกโดยรวมจะกลับมาสู่ภาวะปกติ

โดยคุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย
กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด
กำลังโหลดความคิดเห็น