xs
xsm
sm
md
lg

เลือกรูปแบบกองทุน LTF และ RMF ให้เหมาะต่อตัวคุณ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย คุณรุ่งโรจน์ นิลนพคุณ ผู้จัดการกองทุน บลจ.ฟินันซ่า

ในช่วงปลายปีนักลงทุนอาจจะเริ่มหาการลงทุนที่ช่วยประหยัดภาษี เช่น กองทุน RMF และ LTF โดยเฉพาะกองทุน RMF นั้นก็มีให้เลือกลงทุนหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าการลงทุนในตราสารหนี้ ตราสารทุน การลงทุนในต่างประเทศ รวมถึงการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ทองคำ น้ำมัน เป็นต้น แต่ในการเลือกกองทุนที่จะลงทุนนั้น นอกจากต้องเลือกประเภทสินทรัพย์ที่กองทุนนั้นมีนโยบายที่จะลงทุนตามที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามไปได้ก็คือรูปแบบ หรือ Style ของการบริหารกองทุนนั้นๆ โดยในการจัดการกองทุนอาจจะแบ่งรูปแบบการลงทุนเป็น 3 รูปแบบหลักๆ คือ

1. Passive และ Enhance คือการลงทุนโดยกำหนดสัดส่วนการลงทุน หรือมีปัจจัยความเสี่ยงให้ใกล้เคียงดัชนีมาตรฐานที่อ้างอิง หรือมีการเบี่ยงเบนไปไม่มากนัก ดังนั้น ผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนประเภท Passive Fund และ Enhance Fund จะใกล้เคียงดัชนีอ้างอิง

2. Active คือการลงทุนโดยกำหนดสัดส่วนการลงทุน หรือมีปัจจัยความเสี่ยงให้แตกต่างดัชนีมาตรฐานที่อ้างอิงในระดับหนึ่ง เพื่อให้ได้ผลตอบแทนดีกว่าดัชนีมาตรฐานอ้างอิง อัตราผลตอบแทนอาจจะไม่ได้เป็นไปตามทิศทางตลาดทั้งหมด โดยผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนประเภท Active Fund อาจจะแตกต่างจากดัชนีอ้างอิงมากหรือน้อยจะขึ้นอยู่กับระดับการเบี่ยงเบนสัดส่วนการลงทุน หรือปัจจัยความเสี่ยงที่แตกต่างจากดัชนี

3. Absolute คือการลงทุนโดยไม่ได้กำหนดสัดส่วนการลงทุน หรือมีปัจจัยความเสี่ยงตามดัชนีมาตรฐานที่อ้างอิง แต่มุ่งสร้างผลตอบแทนตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทำให้อัตราผลตอบแทนจะไม่เป็นไปตามทิศทางตลาด ดังนั้น ผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนประเภท Absolute Fund จะไม่เกี่ยวข้องกับดัชนีอ้างอิง

ซึ่งการบริหารกองทุนแบบ Absolute นั้นผู้จัดการกองทุนจะมีแนวคิดแตกต่างไปจากการบริหารแบบ Active กล่าวคือ ผู้จัดการกองทุนที่บริหารกองทุนแบบ Absolute มุ่งที่จะหาการลงทุนในตราสารที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกโดยไม่สนใจว่าดัชนีจะขึ้นหรือลง ในขณะที่กองทุนที่บริหารแบบ Active จะมุ่งหาการลงทุนที่ให้ได้ผลตอบแทนมากกว่าตัวชี้วัด เช่น ต้องเลือกหุ้นที่มีแนวโน้มขึ้นมากกว่าดัชนีหากดัชนีปรับตัวขึ้น หรือมีแนวโน้มลดลงน้อยกว่าดัชนีหากดัชนีปรับตัวลดลง

นอกจากนั้น ในกรณีที่ผู้จัดการกองทุนไม่มั่นใจสถานการณ์ของการลงทุน เช่น ตลาดมีความผันผวนสูงหรือจะมีการประกาศมาตรการสำคัญซึ่งอาจจะส่งผลทั้งในด้านบวกหรือลบอย่างรุนแรง กองทุนที่มีนโยบายการลงทุนแบบ Absolute ผู้จัดการกองทุนอาจจะเลือกที่จะถือเงินสดแทนเนื่องจากเป้าหมายคือการไม่ขาดทุน แต่สำหรับการบริหารกองทุนแบบ Active จะต้องทำให้สัดส่วนการลงทุนใกล้เคียงกับตัวชี้วัด เนื่องจากหากหุ้นขึ้นหรือลงมากๆ ผลการดำเนินงานของกองทุน หรือ Performance ของกองทุนจะยังคงเป็นไปตามตัวชี้วัด หากเลือกที่จะถือเงินสดมากๆ หากหุ้นขึ้นมากจะทำให้อัตราผลตอบแทนของกองทุนแพ้ตัวชี้วัดมาก จึงทำให้ผู้จัดการหลีกเลี่ยงที่จะลดน้ำหนักหุ้นลง

ดังนั้น การเลือกแนวทางการลงทุนระหว่าง Absolute กับแบบ Active ก็จะขึ้นกับนักลงทุนว่านักลงทุนต้องการเลือกการลงทุนแบบใด โดยกองทุน Absolute ควรจะให้ความเสี่ยงที่ต่ำกว่าแต่ก็แลกมาด้วยอัตราผลตอบแทนที่มีแนวโน้มต่ำกว่า ในขณะที่แบบ Passive Enhance หรือแบบ Active จะให้อัตราผลตอบแทนมากกว่าในระยะยาวถ้านักลงทุนสามารถรับความเสี่ยงได้ โดย บลจ.ฟินันซ่ามีให้เลือกลงทุนในหลายรูปแบบสำหรับการลงทุนระยะยาว เช่นกองทุน RMF โดยกองทุนเปิดฟินันซ่า SET100 เพื่อการเลี้ยงชีพ (FAM SET100 RMF) มีการบริหารการลงทุนแบบ Passive ในขณะที่กองทุนรวมหน่วยลงทุนฟินันซ่า เพื่อการเลี้ยงชีพ (FAM RMF) มีการบริหารกองทุนแบบ Active และกองทุนเปิดฟินันซ่ารีไทร์เมนท์โซลูชั่น เพื่อการเลี้ยงชีพ (FAM RSRMF) มีการบริหารแบบ Absolute โดยนักลงทุนจะต้องศึกษาหนังสือชี้ชวนและพิจารณาว่ากองทุนประเภทใดและการบริหารแบบใดเหมาะสมกับตัวนักลงทุนเอง หรือจะประเมินตนเองโดยใช้แบบสอบถามประเมินความเสี่ยงของผู้ลงทุนว่าจะสามารถรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน

การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลจากหนังสือชี้ชวนและคู่มือภาษีก่อนการตัดสินใจลงทุน ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวมมิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต ผู้ลงทุนอาจจะขาดทุนหรือได้รับผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุนในกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้
กำลังโหลดความคิดเห็น