xs
xsm
sm
md
lg

ซูบารุ ฟอร์เรสเตอร์ ขับสี่ล้อ ขับสบายตอบโจทย์รถครอบครัว

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์






ซูบารุ ฟอร์เรสเตอร์ หนึ่งในโมเดลที่ทำตลาดมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ปี 1997 โดยอิงโครงสร้างตัวถังจากรุ่น อิมเพรสซ่า ผ่านร้อนผ่านหนาวทำตลาดมา 4 เจเนอเรชัน โดยในปีที่แล้ว มีการเปิดตัวเจเนอเรชันที่ 5 พร้อมการประกาศลงทุนสร้างโรงงานประกอบรถยนต์ซูบารุในประเทศไทย ซึ่ง ฟอร์เรสเตอร์ โฉมใหม่ตัวนี้เองจะมาเป็นโมเดลแรกที่ทำคลอดออกจากโรงงานใหม่ในไทยแห่งนี้




ซูบารุ ไม่ทำให้ผิดหวัง หลังจากเปิดตัวอย่างเป็นทางการในช่วงปลายปีที่แล้ว เมื่อไลน์ผลิตเข้าที่เข้าทาง ได้ฤกษ์เดินสายปล่อย ซูบารุ ฟอร์เรสเตอร์ ให้กับลูกค้าพร้อมกับจัดทริปทดสอบให้กับสื่อมวลชนได้ทดลองขับกัน มาติดตามกันดูว่า ฟอร์เรสเตอร์ใหม่ เวอร์ชันไทยมีอะไรน่าสนใจบ้างและแตกต่างจากเวอร์ชั่นประกอบญี่ปุ่นเพียงใด







เครื่องยนต์บ็อกเซอร์-ขับสี่ล้อ-ออฟชันเต็มสุด



โครงสร้างตัวถังมากับเทคโนโลยีใหม่ Subaru Global Platform ที่ออกแบบให้สามารถดูดซับแรงกระแทกได้มากขึ้น 40% และลดการสั่นโคลงลง 50% ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเดียวกับที่ใช้ในรุ่น อิมเพรสซ่า เป็นครั้งแรก


เครื่องยนต์เบนซินแบบบ็อกเซอร์ 4 สูบนอน ขนาดความจุ 2.0 ลิตร ระบบหัวฉีดตรง กำลังสูงสุด 156 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 196 นิวตันเมตร ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติแบบซีวีที พร้อมระบบขับเคลื่อนสี่ล้อตลอดเวลา ที่มากับระบบ X-mode ให้ผู้ขับขี่สามารถเลือกโหมดการขับได้ตามลักษณะของถนน เพื่อความปลอดภัยในการขับขี่











ด้านออฟชันเสริมความปลอดภัย จัดเต็มด้วยเทคโนโลยีใหม่ EyeSight ที่ใช้กล้องสองตัวในการทำหน้าที่ ส่งข้อมูลให้กับ ระบบเบรกและจัดการกำลังเครื่องยนต์ก่อนการชน เพื่อลดความเสียหายกรณีที่จะเกิดการชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้, ระบบเตือนเมื่อรถเบี่ยงหรือออกจากช่องทางขับ, ระบบควบคุมความเร็วคงที่แบบแปรผันตามรถยนต์คันหน้า (Adaptive Cruise Control) แต่ระบบเหล่านี้จะอยู่ในรุ่นท็อปสุดเท่านั้น (เพิ่มขึ้นจากรุ่นกลาง 70,000 บาท) เรียกว่า ในรถราคาระดับ 1 ล้านกลางๆ ยังไม่มีคันไหนให้ครบเท่าคันนี้




ส่วนการออกแบบภายในห้องโดยสาร กว้างขวางทั้งตอนหน้าและตอนหลัง เบาะนั่งเป็นหนังในทุกเกรด ปรับด้วยไฟฟ้าคู่หน้า, หน้าจอ ขนาด 8 นิ้ว พร้อมระบบนำทาง, หน้าปัดต่างๆ ปรับปรุงใหม่ให้มีความทันสมัยใช้งานง่าย เบาะนั่งหลังสามารถพับได้แบบ 60/40










ด้านความปลอดภัยจัดให้เต็มที่ เช่น ระบบควบคุมแรงบิดและควบคุมเสถียรภาพขณะเข้าโค้ง, ระบบป้องกันคันเร่งค้าง, ระบบยับยั้งการทำงานของเครื่องยนต์ (กรณีกดคันเร่งแทนการเบรก), ระบบสัญญาณไฟฉุกเฉินเมื่อเบรกกะทันหัน, ถุงลมนิรภัย ด้านหน้า ด้านข้าง ม่านถุงลม และป้องกันเข่า เป็นต้น


ขณะที่การออกแบบภายนอก แม้จะเป็นรถใหม่แต่ ดีไซน์ยังคงเอกลักษณ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในรถไม่กี่รุ่นที่เราขอออกความเห็นว่า ไม่ถูกใจ เป็นรถที่ดูรูปทรงแล้วเหมาะกับคนสูงวัยมากกว่า ซึ่งเมื่อครั้งที่เราได้พบกับทีมวิศวกรผู้พัฒนารถคันนี้เราได้บอกกล่าวความคิดนี้ไปยังพวกเขา ซึ่งทีมวิศวกรรับฟังและน้อมรับเก็บเอาไปพิจารณา








ขับดี นุ่มนิ่ง วิ่งสบาย แต่ไม่สนุก


ถ้าถามว่า คันนี้ขับสนุกไหม? คำตอบคือ ไม่ใช่ แต่ถ้าถามว่า คันนี้ขับดีไหม? คำตอบแบบไม่เกรงใจใครคือ ใช่ มันเป็นรถที่ขับดีอย่างที่คุณจะชอบ แล้วมันแตกต่างกันอย่างไร ตอบแบบสรุปง่าย คือ มองในคำว่า ขับสบาย รถวิ่งนิ่ง มั่นใจเมื่อขับด้วยความเร็วสูง นั่นคือ รถที่ขับดี ส่วนรถที่ขับสนุก คือ การตอบสนองที่ทันใจ เร่งติดเท้า ฟอร์เรสเตอร์ไม่ได้เซตให้ตอบสนองในลักษณะนั้น

การขับของเราแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ วิ่งทางยาวๆ กับ ทดสอบในสนามเพื่อดูลึกในรายละเอียด เริ่มจากการขับแบบปกติทั่วไป ทีมงานเซตให้เราวิ่งจากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าสู่เส้นทางชลบุรี-พัทยา โดยใช้มอเตอร์เวย์ในการเดินทาง ซึ่งรถหนึ่งคันนั่งไปด้วยกัน 4 ชีวิต เรียกว่า ไปกันแบบเต็มๆ ซึ่งคันของเรานั้น สมาชิกไซส์ใหญ่กันทุกคน น้ำหนักรวมมากกว่า 300 กิโลกรัมแน่นอน เริ่มต้นผู้เขียนอยู่ในตำแหน่งของผู้โดยสารเบาะหลัง











ความรู้สึก คือ รถวิ่งนิ่งดี นุ่ม นั่งสบาย เสียงดังรบกวนมีจากล้อมาบ้างไม่มากมายอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ โดยสามารถหลับได้เป็นช่วงๆ ที่ชอบ คือ ช่องเสียบ USB มีให้ชาร์จมือถืออย่างเพียงพอทั้งด้านหน้าและเบาะด้านหลัง พร้อมช่องเสียบโทรศัพท์ ถูกใจคนในยุคนี้ ที่มีมือถือเป็นอวัยวะที่ 33 อย่างไม่ต้องสงสัย


เมื่อครั้นได้ย้ายมาเป็นผู้ขับขี่ ความรู้สึกแรก คือ พวงมาลัย เบามือ แต่เมื่อขับไปด้วยความเร็วที่เพิ่มขึ้น เริ่มหนักมือมากกว่าเดิม ขณะที่จังหวะเข้าโค้งพวงมาลัยแม่นยำ รถทรงตัวได้ดี ไม่มีเสียงของการบิดตัวของรถให้ได้ยินแต่อย่างใด












ความเร็วที่เราใช้วิ่งส่วนใหญ่อยู่ราว 80-120 กม./ชม. เนื่องจากเป็นช่วงที่ขับตามขบวน และเมื่อมีจังหวะลองความเร็ว กดคันเร่งแบบคิกดาวน์ รถจะยังไม่พุ่งทันที มีจังหวะรอนิดหน่อยตามสไตล์ของเกียร์แบบซีวีที และเมื่อรอบได้ รถพุ่งขึ้นแบบเนียนๆ ไม่กระชากแต่อย่างใด ซึ่งก็ถือว่า ดีสำหรับผู้โดยสาร แต่จะไม่ถูกใจคนที่ชอบขับแบบสนุก


ส่วนความเร็วสูงสุดที่เราขับราว 140 กม./ชม. รถทรงตัวนิ่งดี ส่วนรอบที่ท่านอื่นขับแอบเห็นความเร็วทะลุไปถึง 160 กม./ชม. โดยที่เรานั่งแล้วไม่รู้สึกว่ารถเร็วแต่อย่างใด มีเพียงเสียงลมปะทะดังเพิ่มเข้าให้ได้ยินเท่านั้น ทั้งนี้ รุ่นที่เราขับนั้นเป็นรุ่นกลาง 2.0i-S ที่ต่างกับตัวท็อป คือไม่มีระบบอายไซต์ เท่านั้น








หากมองที่เรื่องของความรู้สึกในการขับขี่เป็นปัจจัยสำคัญในการซื้อ ซูบารุ ฟอร์เรสเตอร์ เป็นรถที่ขับแล้วอุ่นใจ แต่ไม่สนุกสำหรับคนชอบรถที่เร่งเร้าใจ แม้จะเป็นเครื่องยนต์แบบบ็อกเซอร์ แต่ด้วยเกียร์แบบซีวีที ที่เซตมาเพื่อเป็นรถของครอบครัว เน้นในเรื่องความนุ่มนวลและประหยัดน้ำมัน ดังนั้นผลลัพธ์เช่นนี้จึงไม่น่าแปลกใจ


อีกสิ่งหนึ่งที่ ฟอร์เรสเตอร์ ทำได้ดี คือ การขับเข้าโค้งแม้ยามฝนตกด้วยทริปนี้ เราเดินทางไปเจอฝนกระหน่ำระหว่างทางทำให้ได้รับรู้ถึงการเกาะถนนที่มั่นใจแม้เจอฝนโปรยปรายลงมาหรือมีน้ำขัง ความรู้สึกแบบนี้ต้องขอบคุณระบบขับเคลื่อนสี่ล้อแบบสมมาตร ที่หาไม่ได้ในรถยนต์รุ่นอื่นในระดับเดียวกัน แน่นอนว่าต้องแลกด้วยอัตราการบริโภคน้ำมันที่สิ้นเปลืองกว่ารถที่ใช้ระบบขับเคลื่อน 2 ล้อ หรือแบบ 4 ล้อ พาร์ตไทม์ (ขับ 2 ล้อตลอดเวลา แต่จะเปลี่ยนมาเป็นขับ 4 ล้อได้โดยอัตโนมัติเมื่อรถมีการสูญเสียกำลังไป)








ขณะที่การขับแบบในสนามแข่งมีการเซตอัพสถานีต่างๆ ให้ทดลองใช้งานระบบอายไซต์ (Eyesight) ที่มีกล้อง 2 ตัวจับภาพทางด้านหน้า โดยระบบแรก คือ การลองระบบช่วยเบรกอัตโนมัติ เมื่อระบบตรวจจับได้ว่า มีวัตถุขวางอยู่ทางด้านหน้า แล้วผู้ขับไม่ยอมเบรก ตัวรถจะกดเบรกให้เองโดยอัตโนมัติจนกระทั่งรถหยุด ระยะห่างของตัวรถกับวัตถุมองจากภายนอกราว 1.0-1.5 เมตร แต่ถ้ามองจากภายใน รู้สึกว่าใกล้มาก เราได้ลองขับเองหนึ่งรอบ และดูเพื่อนสมาชิกขับอีกหลายสิบรอบ


ทั้งนี้ อัตราการเบรกสำเร็จไม่โดนวัตถุที่ขวางราว 9 ใน 10 ครั้ง ขึ้นกับปัจจัยสำคัญ คือ ระบบสามารถจับภาพวัตถุนั้นได้ชัดเพียงใด บางจังหวะลมพัด ทำให้วัตถุที่นำมาวางมีการขยับ ระบบไม่สามารถตรวจจับได้ ดังนั้น เพื่อความมั่นใจ อย่าพึงใช้ระบบนี้แทนการเบรกด้วยตัวเอง เพราะระบบนี้มีไว้เพื่อเสริมความปลอดภัย มิใช่เพื่อการเบรกปกติ หากระบบทำงานครบ 3 ครั้ง หลังการติดเครื่องยนต์ ระบบจะตัดการทำงานทิ้งทันที เนื่องจากมีการเซตเอาไว้เช่นนี้ เพื่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่ โดยระบบจะกลับมาทำงานได้อีกครั้งเมื่อจอดดับเครื่องและติดเครื่องใหม่










สำหรับอีกหนึ่งระบบใหม่ที่น่าสนใจ คือ ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแปรผันตามคันหน้า (Adaptive Cruise Control) ซึ่งฟอร์เรสเตอร์ จะมีจุดเด่นที่แตกต่างจากยี่ห้ออื่นๆ ตรงที่ระบบนี้ สามารถทำงานได้ตั้งแต่ความเร็ว 0 กม./ชม. นั่นหมายความว่า ใช้ได้แม้จะวิ่งในเมืองที่มีการจราจรหนาแน่น


สถานีต่อไป คือ การวิ่งผ่านลูกระนาด เพื่อทดสอบดูการบิดตัวของตัวถัง และการดูดซับแรงสะเทือนของตัวรถ ผลลัพธ์คือ ฟอร์เรสเตอร์ ทำออกมาได้อย่างน่าประทับใจอย่างยิ่ง ด้วยการสะเทือนที่น้อย โดยเฉพาะที่พวงมาลัยนั้น แทบจะไม่รู้สึกถึงแรงสะเทือนเลย ส่วนการนั่งทางด้านหลังพอรับรู้ถึงการปีนตัวหนอน แต่ไม่มีอาการโยกโยนให้หวาดเสียว








สุดท้ายเป็นการทดลองขับสลาลมและหักหลบกะทันหัน แน่นอนว่า ด้วยการเซตอัพตัวถังมาอย่างดี เรารับรู้ได้ถึงการเกาะถนนที่ดี ตัวถังไม่มีเสียงบิดตัวแต่อย่างใด การโยนตัวค่อนข้างน้อยเมื่อหักหลบอย่างรวดเร็ว ยิ่งเมื่อเทียบกับรถเอสยูวีในระดับเดียวกัน จะรู้ได้ทันทีว่า ฟอร์เรสเตอร์ ทรงตัวได้นิ่งกว่า



เหมาะกับใคร



ด้วยรูปลักษณ์ภายนอกที่ต้องบอกว่า ไม่โดนใจวัยรุ่น ดูแล้วเอาใจคนสูงวัย รวมถึงความรู้สึกในการขับขี่ที่เน้นในเรื่องของความสบายในทุกตำแหน่ง ดังนั้น ใครที่รักครอบครัว เดินทาง 4-5 คนบ่อยๆ อยากให้ทุกคนรู้สึกสบายในการเดินทาง ฟอร์เรสเตอร์ ตอบโจทย์ตรงจุดนี้ได้เป็นอย่างดี กับค่าตัวที่ย่อมเยากว่าใครในเอสยูวีระดับนี้ สมแล้วกับการลงทุนขึ้นไลน์ประกอบในประเทศไทย ทำให้ราคาและคุณภาพเป็นไปตามที่ผู้บริโภคอยากได้














กำลังโหลดความคิดเห็น