xs
xsm
sm
md
lg

“อีซี่ ไรด์” ก้าวแรกนิสสันประจัญบานอูเบอร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อีซี่ ไรด์ในร่างนิสสัน ลีฟ
นิสสันเตรียมนำ “ลีฟ” ทดสอบให้บริการโรโบแท็กซี่ในชื่อ “อีซี่ ไรด์” ในโยโกฮามาวันที่ 5 มีนาคมเป็นต้นไป ซึ่งจะถือเป็นก้าวแรกสู่สนามบริการรถอัตโนมัติระดับพรีเมียมประชันกับอูเบอร์และบริษัทเทคโนโลยีอีกหลายแห่ง

ระหว่างใช้บริการ “อีซี่ ไรด์” ซึ่งเป็นโครงการร่วมทุนของนิสสัน มอเตอร์ กับ DeNA (ดีเอ็นเอ) ผู้โดยสารจะสามารถกำหนดจุดหมายปลายทางผ่านคำสั่งเสียงหรือข้อความตัวอักษร และหน้าจอแท็บเล็ตในรถจะให้คำแนะนำสถานที่น่าสนใจเกือบ 500 แห่ง เช่น ร้านอาหารในบริเวณใกล้เคียง นอกจากนั้นผู้โดยสารยังสามารถดาวน์โหลดคูปองส่วนลดของร้านค้าเหล่านั้นบางส่วนจากมือถือโดยตรง

เมื่อถึงจุดหมายปลายทาง ผู้โดยสารจะต้องทำแบบสำรวจเพื่อให้คะแนนประสบการณ์ที่ได้รับและเสนอราคาค่าบริการ

แม้การทดสอบนี้กินเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ แต่นิสสันทุ่มเทพัฒนาอีซี่ ไรด์มาตั้งแต่ปีที่แล้ว และหวังว่า จะสามารถให้บริการแท็กซี่ไร้คนขับภายในปี 2020 ซึ่งญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อน โดยในระหว่างนี้ทั้งสองบริษัทจะค้นหาวิธีขยายเส้นทางการให้บริการและการสนับสนุนในภาษาต่างๆ

ฮิโรโตะ ไซกาวะ ประธานบริหารนิสสัน ยอมรับว่า การขยับขยายสู่บทผู้ให้บริการไรด์แชริ่งในตลาดบนต้องใช้เวลา และนิสสันต้องการร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัทที่เชี่ยวชาญในด้านนี้

การร่วมมือกับ DeNA จะทำให้นิสสันสามารถเข้าถึงหนึ่งในเครือข่ายเกมบนโซเชียลใหญ่ที่สุดของโลกด้วยจำนวนผู้ใช้ถึง 30 ล้านคน DeNA ยังมีประสบการณ์ในการพัฒนาอินเทอร์เฟซผู้ใช้แบบเรียลไทม์ ตลอดจนถึงระบบการชำระเงิน ดำเนินการแอปคาร์แชริ่ง พัฒนาระบบแท็กซี่ไร้คนขับ และล่าสุดกำลังทดสอบชัตเติลบัสอัตโนมัติในญี่ปุ่น

อีซี่ ไรด์จะทำให้นิสสันกลายเป็นหนึ่งในค่ายรถยักษ์ใหญ่กลุ่มแรกๆ ที่ทดสอบซอฟต์แวร์ไรด์เฮลลิ่งที่พัฒนาขึ้นมาเองและใช้รถอัตโนมัติของตัวเอง อีกทั้งยังถือเป็นก้าวแรกของนิสสันสู่สนามบริการรถอัตโนมัติระดับพรีเมียมแข่งกับอูเบอร์และบริษัทเทคโนโลยีอื่นๆ

นอกจากนั้นเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ นิสสันยังตกลงกับสมาชิกกลุ่มพันธมิตร เรโนลต์และมิตซูบิชิ มอเตอร์ สำรวจความเป็นไปได้ในการจัดหารถไฟฟ้าสำหรับบริการคาร์แชริ่งในจีนและอาจรวมถึงเทคโนโลยีแท็กซี่ไร้คนขับให้ดีดี ชูซิง กลุ่มกิจการบริการขนส่งยักษ์ใหญ่แดนมังกร

โอกี้ เรดซิก ผู้รับผิดชอบแผนกคอนเน็กเต็ดคาร์และบริการโมบิลิตี้ของนิสสัน หวังว่า เทคโนโลยีที่ได้รับจากอีซี่ ไรด์จะช่วยยกระดับศักยภาพของกลุ่มพันธมิตร
ขณะเดียวกัน การสร้างบริการโรโบแท็กซี่ระดับบนแทนที่จะพยายามตัดราคาสู้กับคู่แข่งเท่ากับว่า นิสสันกำลังท้าทายผู้เล่นเบอร์ใหญ่อย่างอูเบอร์

ปัจจุบัน บริษัทรถต่างมองหาช่องทางทำกำไรจากบริการไรด์เฮลลิ่งควบคู่กับรถไร้คนขับ ซึ่งในทางกลับกันกระแสนี้กลายเป็นการส่งเสริมให้ผู้บริโภคต้องการซื้อรถน้อยลง ส่งผลย้อนกลับทำให้กำไรของผู้ผลิตรถลดลง และหนึ่งในทางออกสำหรับปัญหานี้คือ การขายรถให้ผู้ให้บริการไรด์เฮลลิ่ง

ไอเอชเอส มาร์กิตคาดว่า ยอดขายรถอัตโนมัติทั่วโลกจะเพิ่มเป็นกว่า 33 ล้านคันในปี 2040 จากแค่ 51,000 คันในปี 2021 ขณะที่โกลด์แมน แซคส์ทำนายว่า ตลาดไรด์เฮลลิ่งจะโตถึง 8 เท่าในปี 2030 กระทั่งมีขนาดใหญ่กว่าตลาดแท็กซี่ปัจจุบันถึง 5 เท่า

สำหรับนิสสันนั้นอ้าแขนรับเทคโนโลยีใหม่อยู่เสมอ อาทิ เปิดตัวลีฟ รถไฟฟ้าสำหรับตลาดมวลชนรุ่นแรกของโลกในปี 2010 สามปีต่อมา นิสสันประกาศแผนการทำตลาดรถอัตโนมัติในปี 2020

อย่างไรก็ตาม แม้นิสสันติดตั้งฟังก์ชันการขับขี่อัตโนมัติบนทางหลวงและการจอดอัตโนมัติในรถหลายรุ่น แต่ทุกวันนี้ฟีเจอร์การขับขี่อัตโนมัติขั้นสูงแทบเรียกได้ว่า เป็นออปชั่นมาตรฐานในรถของบริษัทต่างๆ ตั้งแต่เทสลาจนถึงซูบารุ

ขณะเดียวกัน เจเนอรัล มอเตอร์ (จีเอ็ม) และเดมเลอร์ กำลังสร้างและขยายบริการไรด์เฮลลิ่ง และจีเอ็มเตรียมเปิดตัวบริการโรโบแท็กซี่ในปีหน้า

ด้านอูเบอร์มีแผนให้บริการโรโบแท็กซี่ในอเมริกาเช่นกัน โดยปลายปีที่แล้วเพิ่งทำสัญญาซื้อรถอัตโนมัติ 24,000 คันจากวอลโว่

ทั้งนี้ ผลการวิจัยระบุว่า โรโบแท็กซี่สามารถให้บริการในราคาต่ำกว่าแท็กซี่ปัจจุบันถึง 80%

ตลาดแท็กซี่อัตโนมัติวันนี้จึงสู้กันมันหยด เฉพาะในเอเชียนั้นมีการฟาดฟันระหว่างดีดี ชูซิง, แกร็บของสิงคโปร์ และโอลาจากอินเดีย ไม่นับรวมผู้เล่นจากซิลลิคอนแวลลีย์ของอเมริกา โดยต่างฝ่ายต่างพยายามพัฒนาบริการแท็กซี่ไร้คนขับในแบบฉบับของตัวเอง

ปลายเดือนที่แล้ว ซีเอ็นบีซีรายงานว่า อูเบอร์เตรียมเลหลังธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แลกกับการถือหุ้นในแกร็บ แต่ต่อมา ดารา คอสราวชาฮี ซีอีโอที่เป็นความหวังใหม่ของบริษัท ยืนยันว่า อูเบอร์จะยังคงทุ่มลงทุนในภูมิภาคนี้แม้ยังสะกดคำว่ากำไรไม่เป็นก็ตาม มิหนำซ้ำคอสราวชาฮียังบินไปพบเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่น ส่งสัญญาณว่า อูเบอร์อาจเล็งหาพันธมิตรในอุตสาหกรรมแท็กซี่แดนปลาดิบ

ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ดีดี ชูซิงและซอฟต์แบงก์ บริษัทเทคโนโลยีแถวหน้าของญี่ปุ่น เผยว่า จะร่วมกันให้บริการไรด์เฮลลิ่ง ตอกย้ำความทะเยอทะยานของดีดีในการขยายตลาดออกไปทั่วโลก

นอกจากนั้นนิสสันยังต้องเผชิญการแข่งขันภายในบ้าน เพราะเมื่อเร็วๆ นี้โซนี่เพิ่งประกาศลงสนามไรด์เฮลลิ่งด้วยแพล็ตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ของตัวเอง โดยจะร่วมเป็นพันธมิตรกับไดวา มอเตอร์ ทรานสปอร์เตชัน และบริษัทแท็กซี่ท้องถิ่นอีก 8 แห่ง สร้างบริการไรด์เฮลลิ่งที่อิงกับเอไอ


กำลังโหลดความคิดเห็น