xs
xsm
sm
md
lg

แม่โจ้โพลล์ เผยผลสำรวจ พบนักเรียนเลือกเรียน เพื่อสู่ก้าวสู่อาชีพในอนาคต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

​ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) สำรวจความคิดเห็นของนักเรียนมัธยมศึกษาทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,168 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 1- 12 สิงหาคม 2560 ในหัวข้อ “สายอาชีวศึกษาและสายสามัญศึกษา...ความจริงที่ต้องเลือก” มีวัตถุประสงค์เพื่อ สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการศึกษาต่อและปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกเข้าเรียนของนักเรียนทั่วประเทศ ผลการสำรวจ พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่ ร้อยละ 77.82 เลือกเรียนต่อสายสามัญศึกษา และมีเพียง ร้อยละ 22.18 เลือกเรียนต่อสายอาชีวศึกษา

เมื่อสอบถามถึงการได้รับข้อมูลข่าวสารการศึกษาต่อและการแนะแนวการศึกษาต่อ พบว่า สายสามัญศึกษาได้รับข้อมูลข่าวสารและการแนะแนวการศึกษาต่อ อยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย 3.70) และสายอาชีวศึกษาได้รับข้อมูลข่าวสารและการแนะแนวการศึกษาต่อ อยู่ในระดับปานกลาง (ค่าเฉลี่ย 3.09)

​เมื่อสอบถามถึงปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกเข้าเรียนต่อของนักเรียน พบว่า อันดับ 1 คือ เป้าหมายอาชีพในอนาคตที่ตนเองตั้งไว้ (ร้อยละ 65.84) รองลงมาคือ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของตนเอง (ร้อยละ 47.35) มีความถนัดและความชอบทางวิชาชีพ (ร้อยละ 47.26) เงินเดือน/รายได้จากอาชีพหลังจบการศึกษา (ร้อยละ 42.89) และเรียนจบแล้วมีงานรองรับไม่ตกงานแน่นอน (ร้อยละ 42.21)

เมื่อแยกพิจารณาตามระดับช่วงชั้น พบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกเข้าเรียนต่อของนักเรียนที่อยู่ในระดับช่วงชั้นที่ 3 (ม.1 – ม.3) อันดับ 1 เป้าหมายอาชีพในอนาคตที่ตนเองตั้งไว้ (ร้อยละ 68.67) อันดับ 2 มีความถนัดและความชอบทางวิชาชีพ (ร้อยละ 47.38) อันดับ 3 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของตนเอง (ร้อยละ 44.38) อันดับ 4 เงินเดือน/รายได้จากอาชีพหลังจบการศึกษา (ร้อยละ 42.73) และอันดับ 5 ผู้ปกครองแนะนำ/เลือกให้ (ร้อยละ 40.93)

​ส่วนปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกเข้าเรียนต่อของนักเรียนที่อยู่ในระดับระดับช่วงชั้นที่ 4 (ม.4 - ม.6) พบว่า อันดับ 1 เป้าหมายอาชีพในอนาคตที่ตัวเองตั้งไว้ (ร้อยละ 62.77) อันดับ 2 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของตัวเอง (ร้อยละ 51.06) อันดับ 3 มีความถนัดและความชอบทางวิชาชีพ (ร้อยละ 48.09) อันดับ 4 เรียนจบแล้วมีงานรองรับไม่ตกงานแน่นอน (ร้อยละ 46.17) และอันดับ 5 เงินเดือน/รายได้จากอาชีพหลังจบการศึกษา (ร้อยละ 42.98)

​เมื่อมีการแยกพิจารณาปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกเข้าเรียนต่อตามระดับช่วงชั้นจะเห็นได้ว่า ผู้เรียนทั้งสองช่วงชั้นให้ความสำคัญกับปัจจัยเป้าหมายอาชีพในอนาคตที่ตัวเองตั้งไว้ มากที่สุดเหมือนกัน ส่วนปัจจัยที่มีความสำคัญรองลงมาในลำดับที่ 2, 3 และ 4 คล้ายๆ กัน แต่ปัจจัยมีลำดับความสำคัญแตกต่างกันมากที่สุดคือ ผู้ปกครองแนะนำ/เลือกให้ โดยผู้เรียนที่อยู่ในระดับช่วงชั้นที่ 3 (ม.1 – ม.3) ให้ปัจจัยผู้ปกครองแนะนำ/เลือกให้ อยู่ในลำดับที่ 5 ส่วน ผู้เรียนที่อยู่ในระดับช่วงชั้นที่ 4 (ม.4 - ม.6) อยู่ในลำดับที่ 9 แสดงให้เห็นว่าผู้ปกครองมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกเข้าศึกษาต่อ

สำหรับกลุ่มผู้เรียนที่อยู่ในระดับช่วงชั้นที่ 3 (ม.1 – ม.3) มากกว่าผู้เรียนที่อยู่ในระดับช่วงชั้นที่ 4 (ม.4 - ม.6)
​และจากการสอบถามถึงการศึกษาหาข้อมูลสำหรับการศึกษาต่อ พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 75.81 มีการศึกษาและหาข้อมูลเป็นอย่างดีแล้ว โดยให้เหตุผลว่า การตัดสินใจเลือกสายการเรียนเป็นการชี้อนาคตของตัวเอง รองลงมา ร้อยละ 21.75 ยังไม่แน่ใจว่าได้ศึกษาและหาข้อมูลเป็นอย่างดีแล้ว โดยให้เหตุผลว่า ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาต่อที่เพียงพอยังต้องศึกษาข้อมูลเรื่อยๆ จนกว่าถึงเวลาเลือกเรียนจริงๆ และมีเพียงร้อยละ 2.45 ไม่ได้มีการศึกษาหาข้อมูลสำหรับเรียนต่อ โดยให้เหตุผลว่า คิดว่ายังเหลือเวลาตัดสินใจอีกนาน
กำลังโหลดความคิดเห็น