xs
xsm
sm
md
lg

ประธานกลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ แนะรัฐต้องใจกว้าง พิสูจน์ฝีมือเอาเสือกลับมาให้วัดดูแลอีกครั้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กาญจนบุรี - ประธานกลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ ลั่น คิดแล้วว่าเสือของกลาง 147 ตัว ที่ขนย้ายไปจากวัดเสือไม่รอด เหตุสิ่งแวดล้อมต่างกัน ขณะที่วัดเลี้ยงเหมือนลูก เสือผูกพันกับคน แต่ จนท.รัฐเลี้ยงแบบราชการ แนะกรมอุทยานฯ ใจกว้าง พิสูจน์ฝีมือเอาเสือกลับมาให้วัดดูแลอีกครั้ง

จากกรณีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ยึดเสือโคร่งของกลาง จำนวน 147 ตัว จากวัดป่าหลวงตาบัว ญาณสัมปันโน หรือวัดเสือ ที่เคยเป็นสถานท่องเที่ยวชื่อดังระดับโลกในอดีต ตั้งอยู่ริมถนนสาย 323 กาญจนบุรี-ไทรโยค หมู่ 5 ต.สิงห์ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี และนำไปดูแลที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง และสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี เมื่อปี พ.ศ.2559 หรือประมาณ 3 ปีที่ผ่านมา

หลังจากที่กรมอุทยานฯ ได้เคลื่อนย้ายเสือจำนวนดังกล่าวไป ทำให้วัดเสือ แหล่งท่องเที่ยวซบเซาลงอย่างเห็นได้ชัด ล่าสุด เสือของกลางได้ทยอยเสียชีวิตลงด้วยโรคอัมพาตลิ้นกล่องเสียง 86 ตัว จากจำนวนเสือของกลางทั้งหมด โดยระบุสาเหตุการตายของเสือว่า เกิดจากการเพาะพันธุ์ในครอบครัวเดียวกันจนเลือดชิดและเป็นโรคติดต่อตั้งแต่เอามาจากวัด

ซึ่งหลังจากเกิดเหตุดังกล่าวขึ้น พระวิสุทธิสารเถร (ภูสิต ขันติธโร) หรือหลวงตาจันทร์ เจ้าอาวาสวัดป่าหลวงตาบัว ญาณสัมปันโน หรือวัดเสือ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเป็นครั้งแรก ภายหลังจากเสือดังกล่าวได้ถูกเจ้าหน้าที่เคลื่อนย้ายออกไปจากวัด กรณีที่กรมอุทยานฯ ระบุสาเหตุการตายนั้น เป็นเพียงข้ออ้างที่โยนความผิดให้แก่วัด พร้อมขอให้นำลูกเสือที่คลอดออกมาใหม่มาเลี้ยงที่วัด

ขณะที่ชาวกาญจนบุรีต่างรู้สึกสะเทือนใจและสงสารเสือเหล่านั้นอย่างมากเช่นกัน จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ปลุกกระแสให้คนเมืองกาญจน์ออกมาเคลื่อนไหวและแสดงความคิดเห็นในโลกโซเชียลกันอย่างกว้างขวาง โดยส่วนใหญ่ต้องการทวงคืนเสือกลับมาให้ทางวัดเป็นผู้ดูแลเหมือนเช่นในอดีต

ล่าสุด วันนี้ (19 ก.ย.) นางภินันทน์ โชติรสเศรณี ประธานกลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ เปิดเผยถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่า ตนคิดตั้งแต่วันที่เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ มาดำเนินการย้ายเสือออกจากวัดแล้วว่า เสือคงจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน ต้องตายแน่ เนื่องจากสิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัยแตกต่างกัน วัดเลี้ยงเสือเหมือนลูกเหมือนหลาน มีความใกล้ชิด โอบกอด ซึ่งทำให้เกิดความผูกพันในจิตใจเสือ คือความอบอุ่นที่เสือเหล่านั้นได้รับ

การที่มีผู้คนจำนวนมากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้าเยี่ยมเยือนเสือที่วัด ทั้งอาหารและเงินจึงมีมากพอที่จะเสริมอาหารให้แก่เสือ ซึ่งตั้งแต่เกิดมาเสือเหล่านั้นได้ทำหน้าที่รับแขก มีความคุ้นชินกับผู้คน การเปลี่ยนที่อยู่ใหม่ ส่งผลให้มันกลายเป็นเสือเหงา ซึมเศร้า มีภาวะเครียด ซึ่งส่งผลทำให้เสือมีสุขภาพที่อ่อนแอ และตายในที่สุด

ส่วนการผสมพันธุ์ในครอบครัวเดียวกันจนเลือดชิด เป็นเหตุให้เสือที่เกิดไม่แข็งแรงก็เป็นไปได้ แต่การตายเป็นจำนวนมากเช่นนี้กรมอุทยานฯ จะต้องตรวจสอบอย่างละเอียด เพื่อที่จะตอบสังคมให้ได้ เพราะหลังจากที่เสือเหล่านั้นตายก็เกิดข้อกังขาตามมามากมายว่าเกิดอะไรขึ้น และการที่ออกมาระบุว่า เสือดังกล่าวเป็นโรคติดต่อตั้งแต่เอามาจากวัด ตนเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่เชื่อ เนื่องจากเสือเหล่านั้นได้ย้ายไปอยู่ในความดูแลของกรมอุทยานฯ มานานกว่า 3 ปีแล้ว จึงมาเกิดเหตุดังกล่าวขึ้น

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐทำตามกฎหมาย คือ ยึดเสือเป็นของกลาง และมาทำการขนย้ายเสือไป แต่ขณะเดียวกัน การดูแลเสือก็ทำแบบราชการเช่นกัน จะพาเงิน พาเวลา พาความอบอุ่นที่ไหนมาดูแลเสือได้เท่าที่วัดดูแลเสือ เปรียบเทียบกรณีที่มีเหตุรถชนกันตำรวจยึดของกลางแล้วเอาไปตากแดดตากฝน กว่าคดีความจะจบบางคันต้องขายซากรถทิ้ง

ตั้งแต่วันที่เห็นข่าวขนย้ายเสือ ก็นึกแล้วว่า เสือเอ๋ยเจ้าจะมีชีวิตได้อีกสักกี่วัน มีผู้คนอีกมากมายที่อยากเลี้ยงสัตว์ พอไม่อยากเลี้ยง เช่น นก เมื่อปล่อยไปก็ตายทันที ไม่ว่ามนุษย์ สัตว์ เลี้ยงแบบไหน สอนอย่างไร สิ่งแวดล้อม ทำให้เป็นแบบนั้น

กรณีที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้นำเสือที่เหลืออยู่กลับมาให้ทางวัดดูแล โดยรัฐและวัดดูแลร่วมกัน ในเรื่องนี้ถ้ากรมอุทยานฯ ใจกว้างก็เป็นการพิสูจน์ฝีมือ ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องที่ดี โดยเอาเสือกลับไปให้วัดดูแล เพื่อรักษาชีวิตเสือที่เหลืออยู่ เพราะไม่ว่าจะมนุษย์หรือสัตว์ต่างก็มีหัวใจ และต่างก็รักชีวิตกันทั้งนั้น ฉะนั้นกรณีนี้ของกลางเป็นสิ่งมีชีวิต หน่วยงานของรัฐก็ควรจะพิจารณาให้รอบคอบถี่ถ้วน เพื่อเสือที่เหลืออยู่จะได้ไม่ต้องมาตายลงเพราะความผิดพลาดที่เกิดจากมนุษย์เป็นผู้กระทำ
กำลังโหลดความคิดเห็น