xs
xsm
sm
md
lg

ผวาโรคระบาด! พบหมูฟาร์มชายแดนตายปริศนา-ต้องฆ่าทิ้งกว่าร้อย คุมเข้มอีก 6 เดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เชียงราย - ข่าวแพร่สะพัดว่อนโซเชียลฯ พบหมูในฟาร์มห่างชายแดนเชียงราย 15 กม.ตายปริศนา-ต้องเชือดหมูรัศมี 1 กม.แล้วกว่าร้อยตัว ทำผวาโรคระบาดกันทั่ว หลังอหิวาต์หมูระบาดท่าขี้เหล็กมาก่อน ขณะที่จังหวัดฯ ยันตายแค่ไม่กี่ตัว แต่คุมเข้มพื้นที่ยาว 6 เดือน

วันนี้ (16 ก.ย.) นายภาษเดช หงส์ลดารมภ์ รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร จ.เชียงราย เพื่อสรุปสถานการณ์ว่า จ.เชียงรายได้กำหนดพื้นที่เฝ้าระวังพิเศษจำนวน 8 อำเภอ คือ อ.แม่ฟ้าหลวง แม่จัน แม่สาย เชียงแสน เชียงของ ดอยหลวง เวียงแก่น และเวียงเชียงรุ้ง โดยในเขตดังกล่าวห้ามเคลื่อนย้ายหมูโดยไม่ได้รับอนุญาตโดยมีการตั้งด่านตรวจ 24 ชั่วโมง ส่วนพื้นที่อีก 10 อำเภอที่เหลือของ จ.เชียงราย มีด่านชุมชนคอยสนับสนุนเพิ่มเติม

หลังพบหมูในฟาร์มของชาวบ้านพื้นที่หมู่ 9 ต.แม่คำ อ.แม่จัน ซึ่งอยู่ลึกเข้ามาจากชายแดนไทย-พม่า มากกว่า 15 กิโลเมตร ตายลงจำนวนมากเมื่อเช้าวันที่ 15 ก.ย.ที่ผ่านมา รวมทั้งมีการนำภาพเผยแพร่ผ่านโซเชียลฯ พร้อมระบุว่ามีหมูตายเป็นเบือเกือบร้อยตัว จนตื่นตระหนกกันทั่ว

นายภาษเดชกล่าวว่า หลังจากกรมปศุสัตว์ได้ประกาศให้พื้นที่จังหวัดเชียงรายเป็นหนึ่งในจังหวัดชายแดนเขตเฝ้าระวังเชื้ออหิวาต์แอฟฟริกาในสุกรหรือหมู และต่อมาทางจังหวัดฯ ได้มีประกาศกำหนดเขตเฝ้าระวัง เนื่องจากพบโรคในหมูเขตประเทศเพื่อนบ้านตั้งแต่เดือนสิงหาคม 62 ที่ผ่านมาแล้ว

ขณะนี้เชียงรายได้ใช้มาตรการตามประกาศจังหวัดครอบคลุมทั้ง 18 อำเภอ แต่จะดำเนินการอย่างเข้มงวดในเขต 8 อำเภอดังกล่าว ซึ่งจากกรณีข่าวการพบหมูตายบางอำเภอนั้นตนเห็นว่าก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ตามปกติ แต่จะด้วยเหตุผลใดนั้นต้องรอผลการตรวจสอบก่อน ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ที่จะให้คำตอบ ส่วนการจะขนย้ายหรือทำให้ซากกระจายออกไปในช่วงนี้นั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะหากทำไม่ได้รับอนุญาตก็จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 40,000 บาท

นายสัตวแพทย์กฤษณิ์ พิมพ์งาม นักวิชาการชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนปศุสัตว์ จ.เชียงราย กล่าวว่า กรณีหมูตายในพื้นที่ อ.แม่จัน ณ ขณะนี้พบเพียงจุดเดียวของเชียงราย แต่ไม่ได้มีจำนวนมากตามที่ปรากฏในโซเชียลมีเดียที่ปรากฏภาพหมูจำนวนมาก โดยพบการตายแบบไม่ทราบสาเหตุเพียง 2 ราย รายละประมาณ 1-2 ตัว จึงได้นำซากไปตรวจพิสูจน์ที่ลำปางแล้ว แต่ยังไม่ได้รับแจ้งผลการตรวจว่าจะใช้เวลานานเท่าไหร ซึ่งก็ไม่ควรตื่นตระหนก เพราะไม่ได้ติดสู่คนและไม่ได้มีการตายจำนวนมากอย่างที่เผยแพร่กันในสื่อออนไลน์

ด้านนายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ ปลัด จ.เชียงราย กล่วว่า จ.เชียงรายได้กำหนดมาตรการดำเนินการแบ่งเป็น 3 มาตรการ คือ 1. มาตรการควบคุมโรค โดยหากพบมีการตายต้องสงสัยในพื้นที่ใดก็ให้เก็บตัวอย่างไปตรวจและกำจัดหมูต้องสงสัยในรัศมี 3-5 กิโลเมตร และใช้น้ำยาฆ่าเชื้อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดออกไป

2. มาตรการเฝ้าระวังด้วยการออกประกาศให้เป็นเขตเฝ้าระวังดังกล่าว โดยมีการห้ามขนย้ายสุกรเข้าออกพื้นที่ทั้ง 8 อำเภอดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาต ตั้งศูนย์ปฏิบัติการของคณะกรรมการฯ ครั้งนี้ เพื่อเฝ้าติดตามสถานการณ์ และมาตรการที่ 3 กำหนดพื้นที่เฝ้าระวังซึ่งคือ 8 อำเภอดังกล่าว จัดประชุมและกำหนดการทำงานให้ทุกหน่วยงานในพื้นที่ตั้งแต่ระดับอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน

ส่วนด่านตรวจนั้นมีด่านบูรณาการร่วมหน่วยงานต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นด่านตรวจยาเสพติดบนถนนสายหลักตามปกติรวมจำนวน 12 ด่าน คือ ด่านหงาว อ.เทิง ด่านป่าแดด อ.ป่าแดด ด่านแม่โถ และด่านพร้าว อ.เวียงป่าเป้า ด่านฝาง อ.แม่สรวย ด่านแม่ลาว อ.แม่ลาว ด่านถ้ำปลา และด่านทุ่งเกลี้ยง อ.แม่สาย ด่านกิ่วสะไต ด่านกิ่วทัพยั้ง และด่านท่าข้าวเปลือก อ.แม่จัน ด่านปูแกง อ.พาน และเมื่อรวมกับด่านตรวจของปศุสัตว์ก็จะมีอยู่รวมกันทั้งหมด 18 ด่าน ซึ่งมาตรการทั้งหมดจะดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 6 เดือนตั้งแต่เดือน ก.ย. 2562-ก.พ. 2563

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับพื้นที่ที่พบหมูตายเขตหมู่ 9 ต.แม่คำ อ.แม่จัน นั้น ทางนายพลวัต วงค์คำ ผู้ใหญ่บ้านดังกล่าวระบุว่า ได้เกิดเหตุหมูตายไม่ทราบสาเหตุได้ประมาณ 1 สัปดาห์มาแล้ว โดยคนเลี้ยงไม่แจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ แต่กลับใช้ยาฆ่าเชื้อและวัคซีนเข้าไปควบคุมโรค กระทั่งพบว่าหมูทยอยตายไปเรื่อยๆ ล่าสุดได้มีการทำลายหมูที่เลี้ยงในรัศมี 1 กิโลเมตร ประมาณ 120 ตัว และเจ้าหน้าที่ได้ฆ่าเชื้อโรงเลี้ยงและฝังพื้นที่เรียบร้อยแล้ว โดยหมูที่ตายชาวบ้านได้รับการชดเชยร้อยละ 75 ของราคาปัจจุบัน

ทั้งนี้ เชื่อว่าการที่หมูตายเกิดจากเชื้อโรคที่ติดมากับกระสอบอาหารหรือรถยนต์หรือผู้ที่นำอาหารมาส่ง รวมทั้งหมูที่ชาวบ้านเลี้ยงเป็นแบบฟาร์มเปิดหรือเลี้ยงกันเองตามโรงเรือนทำให้ไม่มีระบบป้องกันเหมือนฟาร์มใหญ่ๆ

สำหรับจังหวัดเชียงรายมีฟาร์มหมูและโรงเลี้ยงรวมกันจำนวนประมาณ 7,600 แห่ง และได้เข้าตรวจสอบแล้วจำนวน 4,902 แห่ง มีหมูทั้งหมด 169,216 ตัว และพบมีฟาร์มที่มีความเสี่ยงสูงต่อโรคจำนวน 87 ฟาร์ม 937 ตัว

ขณะที่ในฝั่งท่าขี้เหล็ก ซึ่งเกิดเหตุหมูในเขตบ้านแก้วแกลงกูร บ้านกาน่า บ้านแม่อง 1 บ้านแม่อง 2 และบ้านป่าแหน่ ต.เมืองไฮ จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า ตายเป็นจำนวนมากช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และมีการนำซากหมูทิ้งลงลำน้ำสะโท่ง ซึ่งเป็นต้นแม่น้ำแม่ขาวที่ไหลลงสู่ลำน้ำสายชายแดนไทย-พม่า บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-พม่า ข้ามลำน้ำสายแห่งที่ 2 บ้านสันผักฮี้ หมู่ 3 ต.แม่สาย ก่อนไหลเป็นลำน้ำรวกในเขต ต.เกาะช้าง อ.แม่สาย

และจนถึงขณะนี้ในฝั่ง จ.ท่าขี้เหล็กได้มีการกำจัดหมูไปแล้วไม่น้อยกว่า 500 ตัว พร้อมปิดฟาร์มทั้งขนาดใหญ่และผู้เลี้ยงรายย่อยในบริเวณดังกล่าวแล้วทั้งหมด

ขณะที่ ดร.จ่อจ่อโซ รอง ผอ.การเพาะพันธุ์ปศุสัตว์และสัตวแพทย์ จ.ท่าขี้เหล็ก ได้มีการนำตัวอย่างชิ้นเนื้อหมูที่ตายไปส่งตรวจที่กรุงย่างกุ้ง ซึ่งมีห้องแล็บที่ทันสมัยแล้ว แต่ยังไม่ได้รับแจ้งผลมาอย่างเป็นทางการ แต่ก็เชื่อกันว่าการที่มีหมูจำนวนมากตายพร้อมกันดังกล่าวคงหนีไม่พ้นจะมาจากโรคอหิวาต์หมู เพราะมีการแพร่ระบาดอย่างหนักทั้งในจีน สปป.ลาว ที่อยู่ใกล้เคียงกันมาแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น