xs
xsm
sm
md
lg

รมว.ทรัพยากรฯ คนใหม่ไฟแรงกำชับกู้เรือบรรทุกถ่านหินบริเวณเกาะสีชัง ให้กระทบสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




ศูนย์ข่าวศรีราชา - รมว.ทรัพยากรฯ เป็นห่วงผลกระทบทางทะเลและสิ่งแวดล้อม หลังเรือบรรทุกถ่านหินจมบริเวณเกาะสีชัง จ.ชลบุรี พร้อมกำชับการกู้ซากเรือให้รัดกุมและรอบคอบที่สุด เพื่อไม่ให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล และในอนาคตจะต้องมีการวางแผนที่ชัดเจนต่อไป

จากกรณีมีเรือบาร์จ จำนวน 2 ลำ บรรทุกถ่านหิน จำนวน 1,400 ตัน และจำนวน 900 ตัน ซึ่งเป็นเรือสังกัดของบริษัท พูลสวัสดิ์ จำกัด ส่วนเจ้าของสินค้าคือบริษัท จัมโบ้บาจส์ จอดเทียบด้านข้างและกำลังรับสินค้าเป็นถ่านหินจากเรือ Southampton ช่วงเวลาขณะนั้นได้เกิดมีพายุลมแรง ทำให้เรือบาร์จทั้ง 2 ลำเกิดการกระแทกกันอย่างรุนแรง และจมลงบริเวณด้านตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะสีชัง ในระดับความลึกของน้ำทะเล 15 เมตร ห่างจากเกาะสีชัง ประมาณ 5 กิโลเมตร เหตุเกิดเมื่อเวลา 20.30 น. วันที่ 31 ก.ค.62 ที่ผ่านมา

ล่าสุด วันนี้ (3 ส.ค.) นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เดินทางลงพื้นที่เพื่อไปดูจุดที่เรือจม โดยมี ว่าที่ พ.ต.ชาติชาย ศรีโพธิ์อ่อน นายอำเภอเกาะสีชัง นายนิติ วิวัฒน์วานิช นายอำเภอศรีราชา เจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และหน้าที่สิ่งแวดล้อมจังหวัดชลบุรี เจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อมภาค 13 จ.ชลบุรี ให้การต้อนรับ บริเวณท่าเทียบเรือเกาะลอยศรีราชา

นายจตุพร กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีความเป็นห่วงผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเล และสิ่งแวดล้อม ในด้านคุณภาพน้ำ โดยได้สั่งกำชับว่าในขณะที่จะมีการกู้ซากเรือให้ระมัดระวังและรอบคอบที่สุด เพื่อไม่ให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล และจากผลการตรวจคุณภาพน้ำเบื้องต้นยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ ส่วนค่าโละหนัก ค่าปริมาณสารอาหาร และค่าปริมาณการปนเปื้อนของน้ำมันอยู่ในระหว่างการวิเคราะห์

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 2 ได้ดำเนินการไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันที่ สภ.เกาะสีชัง ตาม ปจว.ข้อ 3 ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2562 เวลา 14.00 น. ในกรณีหากทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้รับความเสียหาย ไว้เป็นหลักฐานเรียบร้อยแล้ว

นายจตุพร กล่าวต่อไปว่า สำหรับขั้นตอนการกู้ซากเรือนั้น จะต้องมีการดำน้ำสำรวจจุดที่เรือจมในเบื้องต้นก่อน จากนั้นทางบริษัทจะต้องส่งแผนงานให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น กรมเจ้าท่า สำนักงานสิ่งแวดล้อม เทศบาลตำบลเกาะสีชัง ดูรายละเอียดทั้งหมด ก่อนจะอนุญาตให้ดำเนินการกู้ซากเรือ เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อท้องทะเลและสิ่งแวดล้อม

ส่วนในอนาคตจะต้องมีการวางแผนในระยะสั้น กลาง ยาว ให้ชัดเจนในช่วงการขนถ่ายสินค้า หากมีคลื่นลมแรง โดยอาจจะต้องหยุดการขนถ่ายหรือมีมาตรการป้องกันที่รัดกุม เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวอีก เพราะในอนาคตจะมีเรือสินค้าเข้ามาขนถ่ายสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

ด้าน นายกเทศมนตรีตำบลเกาะสีชัง กล่าวว่า สิ่งสำคัญในขณะนี้ คือ แผนในการกู้ซากเรือดังกล่าวจะต้องเข้มงวดและวางแผนเป็นอย่างดี โดยจะต้องมีเรือ 2 ลำ ซึ่งเมื่อกู้ซากเรือขึ้นมาแล้วจะต้องหาผ้าใบในการรองรับน้ำดังกล่าวสู่เรืออีก 1 ลำ เพื่อนำไปบำบัดให้ถูกต้อง ส่วนถ่านหินที่นำขึ้นมานั้นต้องใส่เรืออีก 1 ลำ และหากไม่กระทำตามแผนงานดังกล่าว จะยิ่งส่งผลกระทบต่อน้ำทะเลเพิ่มมากขึ้น




กำลังโหลดความคิดเห็น