xs
xsm
sm
md
lg

ชี้สร้างเขื่อนกั้นโขงผลิตไฟฟ้ากระทบคนท้ายน้ำ จี้รัฐเจรจาประเทศต้นน้ำก่อนโขงวิกฤตหนัก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

สถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงปีนี้ ลดต่ำสุดในรอบหลายสิบปี
อุบลราชธานี-วิเคราะห์สถานการณ์แม่น้ำโขง เหตุน้ำลดต่ำสุดรอบหลายปี จากสร้างเขื่อนกั้นน้ำโขงผลิตไฟฟ้ากว่า 39 แห่ง กระทบชีวิตคนลุ่มน้ำ และความหลากหลายพันธุ์ปลาและพันธุ์สัตว์น้ำ จี้รัฐทำความเข้าใจกับประเทศต้นน้ำ ก่อนวิกฤตกว่านี้

วันนี้ (27ก.ค.62) ที่ห้องประชุมดอกจาน 3 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ศูนย์วิจัยสังคมอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดเวทีเสวนาวิกฤตแม่น้ำโขง เสียงสะท้อนจากคน นาค ปลา เขื่อน พรมแดนและรัฐ โดยมีผู้เข้าร่วมวงเสวนาจากหลายภาคส่วน เพื่อร่วมกันสะท้อนปัญหาระดับแม่น้ำโขงปี 2562 ที่ลดลงมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา

ผู้ร่วมเสวนาหลายคนมีความเห็นปัญหาที่ทำให้แม่น้ำโขงแล้งกว่าปกติ นอกจากมีปัญหาด้านธรรมชาติ จากสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงแล้ว ยังมีสาเหตุมาจากฝีมือของมนุษย์คือ การสร้างเขื่อนถึง 39 แห่ง ประตูปิดกั้นลุ่มน้ำสาขาไม่ไห้ไหลลงสู่แม่น้ำโขง ส่งผลกระทบกับคนที่อาศัยอยู่ตามลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะกับคนที่อยู่ท้ายน้ำของแม่น้ำโขง เช่น ประเทศไทย เวียดนาม และกัมพูชา

ที่ประชุมต้องการให้รัฐบาลได้เจรจากับประเทศที่อยู่ต้นน้ำ เช่น ประเทศจีนและลาวให้ปล่อยน้ำออกจากเขื่อนมาหล่อเลี้ยงระบบนิเวศของลุ่มน้ำ ก่อนจะเสียหายไปมากกว่านี้ เพราะแม่น้ำโขงแห้งขนาดนี้ ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของคนลุ่มน้ำตลอดทั้งสายที่มีมากว่า 200 สายพันธุ์ ทำให้ความหลากหลายของพันธุ์ปลาและพันธุ์สัตว์น้ำเกือบ 1,000 สายพันธุ์หายไปจากลุ่มน้ำ รวมทั้งเกษตรกรไม่มีน้ำใช้ทำเกษตรกรรมริมฝั่งแม่น้ำโขงที่ทำสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ซึ่งกระทบไปถึงด้านศิลปวัฒนธรรมต่างๆของคนลุ่มน้ำโขงด้วย

ดร.ชัยวุฒิ กรุดพันธ์ อาจารย์ภาควิชาประมง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่ศึกษาพันธุ์ปลาและพันธุ์สัตว์น้ำร่วมกับกลุ่มประเทศที่อยู่ตามลุ่มแม่น้ำโขงกล่าวว่า แม่น้ำโขงมีความหลากหลายทั้งคนและพันธุ์สัตว์น้ำ เฉพาะปลาที่พบในแม่น้ำโขงตอนล่างในเขต 4 ประเทศ มีมากกว่า 800-1,000 สายพันธุ์ เมื่อแม่น้ำเกิดความเปลี่ยนแปลงด้านภูมิศาสตร์ตามธรรมชาติ หรือการเปลี่ยนแปลงจากฝีมือมนุษย์ ทั้งการใช้ประโยชน์ที่ดินหรือการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงผลิตกระแสไฟฟ้า ได้ส่งผลกระทบโดยตรงกับแม่น้ำโขง
ดร.ชัยวุฒิ กรุดพันธ์ อาจารย์ภาควิชาประมง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
นางสาวนิภาภรณ์ ปุลา ชาวบ้านตามุย ต.ห้วยไผ่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี
ทำให้ปลาต้องมีการเปลี่ยนแปลง คนก็ต้องเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน สิ่งที่ต้องทำคือ ทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลของความเปลี่ยนแปลงมากที่สุด เพื่อเตรียมรับมือกับแม่น้ำโขงที่เปลี่ยนไปในขณะนี้

ด้านนางสาวนิภาภรณ์ ปุลา ชาวบ้านตามุย ต.ห้วยไผ่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ซึ่งหากินอยู่กับแม่น้ำโขงมาทั้งชีวิต กล่าวว่าทุกวันนี้ ชาวบ้านต้องปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ของแม่น้ำที่เปลี่ยนแปลง ในอดีตคนบ้านตามุยจะมีอาชีพจับปลาแม่น้ำขาย และปลูกพืชอายุสั้นตามริมแม่น้ำโขง แต่ทุกวันนี้ ต้องหากินไว้ก่อน เหลือมากจริงๆจึงขาย ชาวบ้านก็หมุนเวียนไปหาของป่ามาขาย และทำอาชีพอื่นประกอบด้วย เพื่อเป็นทางออกให้กับชาวบ้านช่วงที่แม่น้ำโขงมีการเปลี่ยนแปลง

ในห้วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งช่วงแรกที่แม่น้ำโขง มีการเปลี่ยนแปลงก็เริ่มปรับตัว แต่ช่วงนี้หนักขึ้น ทุกวันนี้ฤดูน้ำหลากคนในหมู่บ้านตื่นขึ้นมา จะต้องดูการขึ้นลงของแม่น้ำโขง และหาข้อมูล เพื่อคาดคะเนระดับน้ำว่า จะสามารถนำเรือออกวางตาข่ายจับปลาในช่วง 1-2 วันได้หรือไม่ ซึ่งเป็นการปรับตัวของชาวบ้านที่หากินอยู่ตามริมแม่น้ำโขงช่วงที่ผ่านมา

ด้านระดับแม่น้ำโขงที่สถานีวัดน้ำอำเภอโขงเจียม วันนี้วัดได้ที่ระดับ 3.70 เมตร โดยมีน้ำเพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 62 เซนติเมตร แต่ยังคงต่ำกว่าตลิ่ง 10.80 เมตร ซึ่งปกติในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นฤดูฝน แม่น้ำโขงที่จุดดังกล่าว จะมีระดับน้ำเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 5 เมตร


กำลังโหลดความคิดเห็น