xs
xsm
sm
md
lg

งามมาก! เพาะทิวลิปสยาม 4 สายพันธุ์ใหม่ เตรียมโชว์ร่วมอีก 500 พันธุ์ เริ่ม 25 ก.ค.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เชียงราย - เตรียมเปิดศูนย์วิจัยพืชสวนฯ จัดงาน “ทุ่งทิวลิปสยามบาน หลากสีสันพรรณไม้หัว” ยาวเกือบเดือน เริ่ม 25 กรกฎาฯ นี้ เผยเพาะทิวลิปสยามใหม่ออกดอกสุดสวยได้อีก 4 สายพันธุ์ ระบุตลาด ตปท.ต้องการมากถึงปีละ 200 ล้าน แต่ไทยส่งได้ไม่ถึง 1 ใน 4

วันนี้ (22 ก.ค.) นายชวฤทธิ์ กิติรัตน์ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย นำคณะแถลงข่าวเตรียมจัดงาน "ทุ่งทิวลิปสยามบาน หลากสีสันพรรณไม้หัว" ตั้งแต่วันที่ 25 ก.ค.-15 ส.ค.นี้ ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย ต.ป่าอ้อดอนชัย อ.เมืองเชียงราย

โดยทางศูนย์ฯ จะจัดสถานที่ส่วนหนึ่งจากทั้งหมด 1,965 ไร่ จัดแสดงแปลงไม้ดอกไม้ประดับสายพันธุ์ปทุมมาและกระเจียว หรือทิวลิปสยามกว่า 500 สายพันธุ์ รวมทั้งมีดอกไม้ประเภทหัวเมืองร้อนหลากชนิด เช่น หงส์เหิน ดาหลา บัวดิน ว่านสี่ทิศ กล้วยไม้ ฯลฯ เพื่อเปิดให้มีการศึกษาข้อมูล การตลาด สายพันธุ์ และให้ผู้ที่ชื่นชอบรวมถึงนักท่องเที่ยวได้เข้าชม-ถ่ายภาพได้ฟรีตลอดงาน


นายชวฤทธิ์กล่าวว่า ปัจจุบันศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงรายถือเป็นแหล่งพัฒนาสายพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับประเภทเหง้าและอื่นๆ โดยเฉพาะดอกปทุมมาและกระเจียวมีกว่า 500 สายพันธุ์แล้ว ถือเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และที่ผ่านมาได้ให้บริการเกษตรกรด้านวิชาการ-ส่งเสริมการปลูก จนทำให้ดอกปทุมมา-กระเจียว กลายเป็นพืชที่มีการส่งออกถึงปีละกว่า 30-40 ล้านบาท มากเป็นอันดับ 2 รองจากกล้วยไม้ แต่ก็ยังไม่พอกับความต้องการของตลาดต่างประเทศที่มีมากกว่า 200 ล้านบาทต่อปี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นพืชที่มีโอกาสขยายตัวมาก

ล่าสุดในปี 2562 นี้ทางศูนย์ฯ ยังสามารถพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ และได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตรแล้ว 4 สายพันธุ์ คือ เชียงราย 1-4 ซึ่งมีคุณลักษณะเฉพาะที่โดดเด่นต่างกัน ในการจัดงานครั้งนี้ก็จะนำมาจัดแสดงเพื่อทดลองตลาดด้วย นอกจากนี้ยังมีการจัดเสวนาเรื่องเทคโนโลยีการผลิตปทุมมาและพืชหัวโดยไม่ใช้ดิน การสาธิตการทำสบู่พฤกษาโฮมเมด การสาธิตทำน้ำดอกปทุมมา การจัดสวนถ่ายภาพกลางทุ่งดอกไม้ ฯลฯ


ดร.วิชญา ศรีสุข นักวิชาการเกษตรชำนาญการ ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย กล่าวว่า ภายในงานยังจะจัดฐานเรียนรู้การผลิตพืชไฮโดรโปนิกส์ และแอโรโปนิกส์ ซึ่งจะไม่ใช้ดินแต่ใช้วัสดุอื่น เช่น กาบมะพร้าว ฯลฯ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคที่เกิดจากดิน, ฐานการผลิตหัวพันธุ์ปทุมมาและขมิ้นชันปลอดโรคในระบบวัสดุปลูก, ฐานการผลิตเห็ดถั่งเช่าสีทอง และฐานเกษตรทฤษฎีใหม่ และการผลิตสารชีวภัณฑ์ทดแทนสารเคมี ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรปลูกและผู้สนใจเรียนรู้จะนำไปขยายพันธุ์พืชเศรษฐกิจเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี

“ปัจจุบันดอกเหล่านี้มีราคาจำหน่ายดอกละประมาณ 5 บาท และหากเป็นช่วงให้ดอกมากก็จะอยู่ที่ดอกละประมาณ 1-2 บาทแล้วแต่สายพันธุ์ ซึ่งการจัดงานครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของศูนย์ จึงถือเป็นโอกาสอันดีของเกษตรกรและผู้สนใจ รวมทั้งนักท่องเที่ยวที่จะได้ไปชมความงดงามเป็นอย่างยิ่ง”

ด้าน น.ส.ณิชกานต์ นเรวุฒิกุล นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการ ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย กล่าวว่า สายพันธุ์ปทุมมาที่ศูนย์พัฒนาใหม่ทั้ง 4 สายพันธุ์นั้น สายพันธุ์เชียงราย 1 เป็นไม้พุ่มเล็กเหมาะต่อการใส่กระถาง ดอกสีชมพู กลีบประดับเป็นเกลียวอย่างมีระเบียบสวยงามและมีอัตราการแตกกอได้มาก

สายพันธุ์เชียงราย 2 เป็นไม้ที่เหมาะสำหรับตัดดอกที่มีดอกสีชมพูอ่อน กลีบประดับหนาสมส่วน ก้านช่อดอกแข็งแรง, สายพันธุ์เชียงราย 3 เป็นไม้พุ่มที่มีดอกสีขาวบริสุทธิ์และมีขนาดกะทัดรัด และสายพันธุ์เชียงราย 4 เหมาะสำหรับตัดดอกมีกลีบประทับบนเป็นสีชมพู แต่ด้านล่างเป็นสีเขียวแยกชั้นกันและก้านช่อดอกแข็งแรง

ซึ่งเกษตรกรสามารถเข้าไปศึกษาและเรียนรู้เรื่องการขยายสายพันธุ์ดังกล่าวได้โดยตรงภายในงาน เนื่องจากขณะนี้ยังเพาะได้ในจำนวนจำกัด แต่หากตลาดมีความต้องการก็จะสามารถพัฒนาให้ขยายพันธุ์ได้เป็นจำนวนมากต่อไป ส่วนผู้ที่สนใจสายพันธุ์อื่นๆ ทั้ง 500 สายพันธุ์ หรือที่กำลังพัฒนาใหม่อีกเป็นจำนวนมาก สามารถเข้าไปชมภายในงานได้

กำลังโหลดความคิดเห็น