xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านเชิงเนิน จ.ระยอง ขึ้นป้าย-ลงชื่อค้าน รง.หลอมอะลูมิเนียมขยายกำลังผลิต เหตุส่งกลิ่นเหม็นมานาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ระยอง - ชาวบ้านเชิงเนิน จ.ระยอง กว่า 100 คน รวมตัวขึ้นป้าย-ลงชื่อคัดค้านการขยายกำลังผลิตโรงงานหลอมอะลูมิเนียม บริษัท เคซูโตะ เมทารุ จำกัด หลังได้รับผลกระทบเรื่องกลิ่นมานาน ด้านอุตสาหกรรมจังหวัด ชี้สุ่มตรวจคุณภาพอากาศแล้วแต่ยังไม่รู้ผล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 14.30 น.วันนี้ (26 พ.ค.) ชาวบ้านกว่า 100 คน ในพื้นที่ ม.6 ต.เชิงเนิน อ.เมืองระยอง ได้รวมตัวกันลงชื่อคัดค้านการขยายกำลังการผลิตของโรงงานหลอมอะลูมิเนียม บริษัท เคซูโตะ เมทารุ จำกัด ซึ่งที่ผ่านมาได้สร้างปัญหากลิ่นเหม็นให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่มาโดยตลอด โดยมี นายบุญตา เพ็ชรอาภา สมาชิกสภาเทศบาลตำบลเชิงเนิน เป็นแกนนำในการคัดค้าน และนำชาวบ้านร่วมลงชื่อที่บ้านเลขที่ 72/4 ม.6 ต.เชิงเนิน ซึ่งเป็นบ้านของ นางเยาวภา แซ่ฮ้อ ที่เปิดบ้านตั้งเต็นท์ต้อนรับชาวบ้านในหมู่บ้านนวพร ที่ได้รับความเดือดร้อน

พร้อมขึ้นป้าย “พอเถอะ มลพิษร้ายกลางชุมชน” และ “หยุดสารเคมีอันตราย อะลูมิเนียม โซเดียมซิลิเกต คาร์บอนไดออกไซด์” รวมทั้ง “หยุดทำร้ายลมหายใจ” พร้อมยื่นข้อเสนอต่อโรงงานดังกล่าว 4 ข้อ ประกอบด้วย 1.ให้โรงงานลดแรงม้าให้เหลือ 80.75 แรงม้าเท่าเดิม หลังโรงงานแห่งนี้ได้มีการขอเพิ่มแรงม้าอีก 142.52 แรงม้า 2.ห้องหล่อหลอมและเทแบบให้เป็นระบบปิด และระบบกลั่นกรองอากาศขั้นสูงสุด

3.ให้มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อให้ชุมชนเข้าถึงข้อมูลบันทึกในกรณีเกิดความสงสัย และ 4.ให้เปิดเผยข้อมูลการตรวจสุขภาพพนักงานโรงงานแก่ชุมชน รวมทั้งตรวจวัดคุณภาพอากาศทั้งภาครัฐและเอกชน ที่เป็นการดำเนินงานแบบสุ่มตรวจโดยไม่ต้องแจ้งให้โรงงานทราบล่วงหน้า

โดยการรวมตัวของชาวบ้านในหมู่บ้านดังกล่าว ได้มี นายปิตินันต์ อักษร วิศวกรชำนาญการ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าสังเกตการณ์และชี้แจงทำความเข้าใจกับชาวบ้าน ว่า โรงงานหลอมอะลูมิเนียมดังกล่าวได้ก่อตั้งมานานประมาณ 20 ปีแล้ว และมีกำลังการผลิต 600 กิโลกรัมต่อวัน

ส่วนการคัดค้านเรื่องการขยายโรงงานของ บริษัท เคซูโตะ เมทารุ จำกัด นั้นขณะนี้โรงงานดังกล่าวได้รับใบอนุญาตขยายโรงงานไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังได้ยื่นขอรับใบอนุญาตขยายโรงงานครั้งที่ 1 เมื่อปลายปี 2561 และดำเนินการตามขั้นตอนถูกต้องตามระเบียบวิธีการของกระทรวงอุตสาหกรรม รวมทั้งการจัดรับฟังความคิดเห็นตามระเบียบของกระทรวงอุตสาหกรรม

นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง ยังร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม เข้าตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมจากปล่องโรงงานแห่งนี้ และบริเวณใกล้เคียง รวมทั้งการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อม 3 จุด ซึ่งหากผลการตรวจวัดคุณภาพออกมาเช่นไรจะเร่งแจ้งให้ชาวบ้านรับทราบต่อไป

“หากผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง ก็จะดำเนินคดีตามกฎหมายต่อโรงงานแห่งนี้ต่อไป” นายปิตินันต์ กล่าว

ขณะที่ นางเยาวภา แซ่ฮ้อ ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน กล่าวว่า กรณีที่ชาวบ้านรวมตัวกันคัดค้านการขยายกำลังการผลิตของโรงงานดังกล่าว เนื่องจากปัจจุบันมีชาวบ้านอาศัยอยู่ในชุมชนมากขึ้น จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตเป็นสำคัญ เพราะโรงงานมีอะไหล่เปลี่ยนได้ แต่ปอดของคนในชุมชนไม่สามารถหาอะไหล่มาเปลี่ยนได้







กำลังโหลดความคิดเห็น