xs
xsm
sm
md
lg

ฟันธงโค้งสุดท้าย! คนอุบลฯ เลือกพรรคมากกว่าคน “เพื่อไทย” เก้าอี้หด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อุบลราชธานี - ฟันธง! โค้งสุดท้ายหาเสียงเลือกตั้งเมืองดอกบัว ประชาชนผู้ใช้สิทธิฉลาดเลือกมากขึ้น เน้นเลือกผู้แทนจากนโยบายของพรรคที่จับต้องได้-ทำได้จริง ส่งผลให้ พปชร.แรงแซงโค้ง ขณะที่เพื่อไทยเก้าอี้หดหลายเขต ด้าน ปชป.ก็หืดขึ้นคอ


อีสานเป็นภาคที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ มีประชากรที่มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.มากที่สุดของประเทศ จึงเปรียบดังสาวที่หนุ่มๆ หมายปองยึดครอง เพราะยึดเสียงอีสานได้เท่ากับเป็นรัฐบาลไปแล้วครึ่งตัว ที่ผ่านมาเมื่อ 40 ปีก่อนจึงเห็นพฤติกรรมแปลกๆ ของผู้สมัคร ส.ส. ทั้งการแจกปลาทูเค็ม ให้หมากพลูแก่ประชาชนที่ร่วมฟังการปราศรัยของผู้สมัครในแต่ละจุด

นั่นเพราะยังไม่มีกฎหมายเลือกตั้งมาคอยจับผิด แต่ช่วงหลังการแจกเอิกเกริกทำไม่ได้ ก็หันมาใช้เงินแทน กระทั่งมีการประดิษฐ์วาทกรรม "เงินไม่มา กาไม่เป็น" ใช้อย่างกว้างขวางในการเลือกตั้ง

แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ เงินเป็นแค่ปัจจัยหนึ่ง แต่ “นโยบายและการปฏิบัติ” คือแรงจูงใจสำคัญให้คนตัดสินใจเลือกพรรค ก่อนเลือกผู้สมัคร เพราะต้องการเห็นการใช้นโยบายไปสร้างความสุขให้แก่ผู้ที่ลงคะแนนเลือกตั้ง

อันที่จริงมีโพลสำคัญชิ้นหนึ่ง ที่ได้มีการทำไปแล้วเมื่อเดือนสิงหาคม 2559 คือการลงประชามติรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญ โดยครั้งนั้นเป็นการแข่งขันของ 2 ขั้ว คือ พรรครัฐบาล ซึ่งต้องการให้ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อได้บริหารประเทศต่อไป

ส่วนอีกขั้วคือ พรรคเพื่อไทย กับประชาธิปัตย์ ออกมารณรงค์ไม่ให้ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อหวังคว่ำร่างไม่ให้รัฐบาล คสช.เดินหน้าบริหารประเทศต่อไปได้...ผลประชาชนออกมาลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ การรณรงค์ครั้งนั้นถือว่าเป็นการตัดสินใจอย่างบริสุทธิ์ของผู้มีสิทธิ เพราะไม่มีแรงจูงใจอย่างการเลือกตั้ง ส.ส.


ในส่วนของ จ.อุบลราชธานี การลงประชามติมีอำเภอที่ประชาชนไม่รับร่าง 7 อำเภอ ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่เขตเลือกตั้งที่ 10, 9 และ 4 ที่เหลือ 18 อำเภอรับร่างทั้งหมด แสดงว่าในส่วนของจังหวัดอุบลราชธานีครั้งนั้นพรรครัฐบาลเป็นฝ่ายชนะ

ส่วนการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งดุเดือดกว่าการลงประชามติ เพราะเป็นการแข่งขันของผู้สมัครที่ใกล้ชิดกับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และ กกต.คาดจะมีผู้ออกมาใช้สิทธิเกินกว่าร้อยละ 80 มากกว่าคราวเลือกตั้งปี 2554 กว่าร้อยละ 20 และได้เกิดปรากฏการณ์เมื่อการเลือกตั้งล่วงหน้าที่ชาวอุบลฯ ออกมาใช้สิทธิถึงร้อยละ 98 และคนต่างจังหวัดที่มาอยู่ในจังหวัดไปใช้สิทธิถึงร้อยละ 89

จากปรากฏดังกล่าว แสดงว่าผู้มีสิทธิตื่นตัว โดยมีเหตุจากหลายปัจจัย ทั้งการไม่ได้เลือกตั้งมานานหลายปี ต้องการได้พรรคการเมืองดีเข้ามาบริหารประเทศ และมาจากการรณรงค์ของผู้สมัครรับเลือกตั้ง

จ.อุบลราชธานีที่มีเขตเลือกตั้ง 10 เขต เป็นการต่อสู้ของพรรคการเมืองใหญ่ 3 พรรค คือ พรรคเพื่อไทยแชมป์เก่าปี 2554 ที่มีที่นั่งในอดีต 7 เขต (ตอนนั้นมี 11 เขต) ประชาธิปัตย์ 3 เขต และชาติไทยพัฒนา 1 เขต

แต่ครั้งนี้ “พลังประชารัฐ” พรรคน้องใหม่ มาแรงกว่าการออกตัวช่วงแรก ทำให้ต้องจับตาในเขตเลือกตั้งที่ 1 นายวรสิทธิ์ กัลป์ตินันท์ เพื่อไทย ที่นำโด่งอาจไม่แน่นอนซะแล้ว เมื่อนายอดุลย์ นิลเปรม พลังประชารัฐ ไล่ตามมาและมีสิทธิ์เบียดเข้าเส้นชัย 100 เมตรสุดท้าย

เขต 2 นายวุฒิพงษ์ นามบุตร ประชาธิปัตย์ แชมป์หลายสมัย ก็เกิดอาการสะดุด ทำให้โกวิทย์ ธรรมานุชิต พลังประชารัฐ ซึ่งยกต้นไม่มีราคา สามารถแซง นายณรงค์ชัย วีระกุล เพื่อไทย ขึ้นมาบี้แชมป์เก่าจากค่ายประชาธิปัตย์ แต่เชื่อนายวุฒิพงษ์ยังเหนียวแน่น

เขต 3 น.ส.โยธากาญจน์ ฟองงาม พลังประชารัฐ ยังนำโด่งคู่แข่ง น.ส.กิตติ์ธัญญา วาจาดี จากเพื่อไทย, เขต 4 นายเอกชัย ทรงอำนาจเจริญ เพื่อไทย ถ้าไม่แผ่วปลาย ก็มีโอกาสเบียด น.ส.ตวงทิพย์ จินตะเวช พลังประชารัฐ ราคาคู่นี้ 10-9 ขณะที่เขต 5 นายรัฐกิตติ์ ผาลีพัฒน์ เพื่อไทย ที่นำในช่วงแรกของการออกตัว ตอนนี้ นายสิทธิชัย จรูญเนตร พลังประชารัฐ พลิกขึ้นมาแซงแล้ว

เขต 6 นายธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์ พลังประชารัฐ ม้ารองขึ้นนำหน้า นายพิสิษฐ์ สันตะพันธุ์ เพื่อไทย เจ้าของเก้าอี้เดิม แต่ไม่ห่างมากนัก, เขต 7 นายชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ เพื่อไทย กระแสตก ถูกนายเชิดศักดิ์ โภคกุลกานนท์ พลังประชารัฐ ไล่หลังมาติดๆ มีโอกาสพลิกได้

ส่วนเขต 8 นางสาวบุณย์ธิดา สมชัย ประชาธิปัตย์ แผ่วปลาย ถูกนายณรงค์ศักดิ์ โกศัลวัฒน์ พลังประชารัฐ ขึ้นแซง, เขต 9 นางรำพูล ตันติวณิชชานนท์ พลังประชารัฐ ยังนำนายประภูมิศักดิ์ จินตะเวช เพื่อไทย และเขต 10 นายสมคิด เชื้อคง เพื่อไทย ซึ่งเชื่อว่านอนมาแน่นอน แต่เจอนายนาวิน ลาธุลี ประชาธิปัตย์ มาแชร์คะแนน ทำให้นายประจักษ์ แสงคำ พลังประชารัฐ อาจได้สัมผัสที่นั่งในสภาได้ง่ายขึ้น

สาเหตุที่พรรคเพื่อไทยที่เคยครองที่นั่งในจังหวัดได้อย่างมากมายต้องมาเจอกับแรงเสียดทานครั้งนี้ อาจทำให้เหลือที่นั่งน้อยกว่าเดิมมาก นอกจากไม่อยู่ในอำนาจรัฐ โครงการต่างๆ ที่พรรคพลังประชารัฐร่วมกับรัฐบาลเดิมทำออกมา พิสูจน์เป็นผลงานจับต้องได้ ไม่ได้ขายฝัน

ไม่ว่าจะเป็น การออกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ, ชดเชยค่าการผลิต, ขึ้นเงินค่าตอบแทน อสม. และอีกหลายโครงการโดนใจชาวบ้านเพราะได้รับประโยชน์จริง

จึงสิ้นสุดยุค "วาทกรรม" ที่ปั้นแต่งขึ้นมาเพื่อชิงคะแนน แต่เมื่อนำไปปฏิบัติกลับสร้างปัญหาให้มากมาย รวมทั้งชาวบ้าน โดยเฉพาะชนชั้นกลางหรือกลุ่มคนที่มีการศึกษารู้เท่าทันข่าวสารข้อมูล เบื่อการเมืองที่ยึดติดตัวบุคคลใน “ตระกูลชินวัตร” เพราะไม่ได้ให้ประโยชน์อะไรแก่ชาวบ้านเป็นชิ้นเป็นอันมาตลอดกว่า 10 ปี

การเลือกตั้งครั้งนี้ ประชาชนผู้ใช้สิทธิจึงหันมาเลือกนโยบายพรรคที่จับต้องได้ ยึดประโยชน์ประชาชนเป็นสำคัญ โดยจะพากันออกมาใช้สิทธิมากกว่าทุกครั้ง เพื่อเป็นการแสดงประชามติของปวงชนอีกครั้งในวันที่ 24 มี.ค.นี้

อนึ่ง การออกมาใช้สิทธิจำนวนมาก..ทำให้คะแนนจัดตั้งที่พรรคการเมืองเคยมีในมือ ไม่เกิดประสิทธิภาพให้ได้ชัยชนะเหมือนในอดีต


กำลังโหลดความคิดเห็น