xs
xsm
sm
md
lg

อย่างนี้ก็มีด้วย! ชาวบ้านบุรีรัมย์วอนช่วย ถูกโรงงานปูนปิดประตูขังวัว-ควาย เรียกค่าไถ่ตัวละ 2 พัน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


บุรีรัมย์-ชาวอ.ห้วยราช บุรีรัมย์ วอนช่วยถูกโรงงานผสมปูนปิดประตูขังวัว-ควาย ที่เข้าไปในรง.เรียกค่าไถ่ตัวละ 2,000 บาท เจ้าของแจงถูกวัวควายเข้าไปกัดกินต้นไม้เหยียบย่ำข้าวของเสียหายหลายครั้งจึงติดป้ายปราม ขณะจนท. รุดเจรจาหวั่นบายปลาย

วันนี้ (1 มี.ค.) ชาวบ้านบ้านดวน หมู่ 7 ต.ห้วยราช อ.ห้วยราช จ.บุรีรัมย์ ได้ออกมาร้องขอความช่วยเหลือ หลังวัว ควายที่ปล่อยเลี้ยงไว้ตามทุ่งนา เดินเข้าไปในโรงงานผสมปูนที่ตั้งอยู่ใกล้กับหมู่บ้าน แล้วเจ้าของโรงงานได้ทำการกักขังวัว ควายไว้ ทั้งอ้างว่าถูกเจ้าของโรงงานเรียกค่าไถ่วัว ควายคืนตัวละ 2,000 บาท นอกจากนั้นชาวบ้านยังอ้างอีกว่าทางโรงงานมีการจ้างคนไล่ต้อนวัว ควาย เข้าไป ทำให้ได้รับความเดือดร้อนไม่มีเงินไปจ่ายค่าไถ่วัว ควาย คืนตามที่เจ้าของโรงงานเรียก


ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่ตรวจสอบของผู้สื่อข่าวพบว่าโรงงานผสมปูนซีเมนต์มีการติดป้ายไว้หน้าโรงงานจริง โดยมีข้อความว่า “ห้ามนำวัวควาย เข้าบริเวณโรงงาน เนื่องจากเป็นการบุกรุกทำลายต้นไม้ และกีดขวางทางเข้าออกของรถยนต์ ทางห้างจึงต้องกักขังวัวควายของท่านที่บุกรุกพื้นที่ เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายแจ้งความดำเนินคดี โดยท่านต้องจ่ายค่าไถ่วัวควายตัวละ 2,000 บาท” และยังคงมีวัวถูกกักขังไว้ในโรงงานจำนวน 4 ตัว

เมื่อไปสอบถามชาวบ้านในหมู่บ้านให้ข้อมูลที่ผ่านมามีวัว ควายของชาวบ้านในหมู่บ้านถูกกักขังในโรงงานดังกล่าวรวม 7 ราย และเคยมีชาวบ้านถูกเรียกค่าไถ่วัว ควายตัวละ 2,000 บาท ตามที่ทางโรงงานติดป้ายไว้จริง แต่บางรายถูกปล่อยออกมาโดยไม่ได้เสียค่าไถ่

โดย นางฉลอม เกษมสุข อายุ 63 ปี บอกว่า ตนเลี้ยงวัวทั้งหมด 10 ตัว ปกติจะปล่อยเลี้ยงตามทุ่งนา ซึ่งเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมของเกษตรกรทั่วไปอยู่แล้ว แต่เมื่อวันที่ 26 ก.พ. ที่ผ่านมา ตามหาวัวไม่เจอกระทั่งมีคนมาบอกว่า วัวถูกขังไว้อยู่ในโรงงานผสมปูน ซึ่งคิดว่าวัวที่ปล่อยเลี้ยงอาจจะเดินหากินหญ้าไปทั่ว จนเข้าไปในพื้นที่ของโรงงานจึงถูกกักขังไว้ แต่ยืนยันว่าไม่ทราบว่าทางโรงงานมีการติดป้ายแจ้งเตือนว่าหากวัวควายเข้าไป แล้วจะต้องเสียค่าไถ่คืนตัวละ 2,000 บาท ซึ่งตนเองเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และคงไม่มีเงินที่จะไปจ่ายค่าไถ่วัวคืน ซึ่งเมื่อวานนี้ทางโรงงานได้ยอมปล่อยวัวออกมา 6 ตัว แต่ไม่ได้จ่ายค่าไถ่เนื่องจากเป็นวัวตัวเล็ก ส่วนวัวตัวใหญ่อีก 4 ตัวยังถูกกักขังไว้ในโรงงาน ซึ่งทางโรงงานก็ยืนยันว่าต้องมาจ่ายค่าไถ่จึงจะคืนวัวให้ จึงได้ออกมาร้องขอความช่วยเหลือ


ขณะที่นางสุทธิ กองรัมย์ เจ้าของวัวอีกราย บอกว่า เมื่อประมาณวันที่ 5- 6 ม.ค.ที่ผ่านมา มีควายของตนเองและน้องสาวถูกขังไว้ในโรงงงานจำนวน 14 ตัว ซึ่งทางโรงงานเรียกค่าไถ่ควายคืนเป็นเงิน 28,000 บาท แต่ไม่มีเงินจึงได้ไปกราบขอร้องเจ้าของโรงงานให้ลดให้หน่อย กระทั่งเจ้าของโรงงานยอมตกลงลดให้เหลือ 20,000 บาท จากนั้นจึงได้ไปหยิบเงินญาติพี่น้องมา แล้ววันที่ 9 ม.ค.จึงได้นำเงินไปจ่ายให้ที่โรงงาน 20,000 บาท ซึ่งทางเจ้าของโรงงานได้ให้เงินกลับมาคืน 5,000 บาท บอกว่าให้เอาให้ซื้อขนมให้เด็กในหมู่บ้านกิน จากนั้นได้ควายทั้งหมดคืน สิ่งที่เกิดขึ้นยอมรับว่าวัวอาจจะเข้าไปในโรงงานจริง เพราะคงไม่มีเวลาไปตามดูทั้งวันต้องไปทำมาหากิน แต่ทางโรงงานไม่น่าจะปรับแพงถึงตัวละ 2,000 น่าจะปรับแค่ตัวละ 100 - 200 บาทก็พอ และหากเป็นไปได้ก็อยากให้คืนบ้าง

ขณะที่ นายพิสิษฐ์ ว่องโชติกุล เจ้าของโรงงานผสมปูนดังกล่าว ก็ออกมาชี้แจงว่า ไม่ได้มีเจตนาจะกักขังวัว ควายหรือเรียกเงินค่าปรับจากชาวบ้าน แต่ที่ผ่านมาได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาวัว ควาย เข้ามาในโรงงานแล้วกักกินต้นไม้ทั้งกล้วย มะพร้าว และเหยียบย่ำทำลายข้าวของเช่น ท่อน้ำเสียหายหลายครั้ง ซึ่งเคยไปแจ้งความ และเตือนชาวบ้านแล้วหลายครั้ง แต่ยังมีวัว ควายเข้ามาสร้างความเดือดร้อนอีกเรื่อยๆ จึงตัดสินใจทำป้ายติดไว้เพื่อปรามให้ชาวบ้าน เกษตรกรดูแลวัว ควายของตัวเองให้ดี ซึ่งได้ติดป้ายมาประมาณ 7 เดือนแล้ว แต่ยังมีวัว ควาย เข้ามาอีก จึงได้ทำคอกขังวัว ควาย ไว้เพื่อไม่ให้ไปเดินเหยียบย่ำทำลายข้าวของหรือขี้เรี่ยราวในโรงงาน พร้อมทั้งได้ไปแจ้งความไว้เพราะเป็นการละเมิดสิทธิ์และทำลายทรัพย์สินคนอื่น ซึ่งตนไม่ได้อยากมีปัญหาหรือเรียกเงินจากชาวบ้าน แต่ก็อยากให้เห็นใจกันบ้าง

ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ห้วยราช พร้อมด้วยตัวแทนทหาร เจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ และเจ้าหน้าที่จากยุติธรรมจังหวัด ได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมได้เจรจาไกล่เกลี่ยแก้ไขปัญหาเกิดขึ้น ซึ่งเบื้องต้นทางโรงงานยอมปล่อยวัวของนางฉลอม ที่ยังถูกขังไว้ 4 ตัวสุดท้ายโดยไม่ได้เอาเงินค่าไถ่จากชาวบ้าน พร้อมทั้งจะได้ร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งบานปลายต่อไป






กำลังโหลดความคิดเห็น