xs
xsm
sm
md
lg

เจ้าแม่ฝายมีชีวิตโต้เดือด! ทีมสารคดีบริษัทเอกชนพลาดถ่ายภาพปลากอง กลับโพสต์โยนบาป “ฝายมีชีวิต”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


น่าน - เจ้าแม่ฝายมีชีวิต พร้อมเครือข่ายตั้งโต๊ะแจงที่มา-คุณประโยชน์ “ฝายมีชีวิต” หลังทีมทำสารคดีบริษัทเอกชนพลาดถ่ายภาพปลากองลำน้ำมาง โพสต์ตำหนิฝายทำระบบนิเวศเสียหาย แถมติดแฮชแท็กฝายทำลายชีวิต ยัน “น้ำมาง” ไม่มีฝายแม้แต่ตัวเดียว

วันนี้ (28 ก.พ.) นางสุภาพ สิริบรรสพ เลขานุการศูนย์ประสานงานประชาคมจังหวัดน่าน พร้อมด้วย ดร.ทวน อุปจักร แกนนำชุมชนจิตอาสาและเครือข่ายฝายมีชีวิต อ.บ่อเกลือ และ พ.อ.รัตนะ พัฒนโสภณ ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 32 ร่วมกันชี้แจงข้อเท็จจริงผ่านสื่อมวลชน ที่ห้องประชาคมจังหวัดน่าน

หลังมีการแชร์โพสต์ของผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Hasachai Boonnuang ที่ระบุข้อความตำหนิรุนแรงว่า “ปลากองในลำน้ำมาง อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ไม่ขึ้นมาให้ถ่ายภาพสารคดี เป็นเพราะมีการทำฝายมีชีวิตที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ” และมีการติดแฮชแท็ก “ฝายทำลายชีวิต และต้านฝายมีชีวิต..” รวมไปถึงการแสดงความคิดเห็นจากผู้ติดตามเฟซฯ ดังกล่าวที่ใช้ถ้อยคำรุนแรง

ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของครูฝายและชาวชุมชนที่ร่วมกันทำฝาย ทั้งในพื้นที่อำเภอบ่อเกลือ และทั้งจังหวัดน่าน ที่มีการทำฝายมีชีวิตเพื่อแก้ปัญหาเรื่องน้ำกว่า 60 ตัวกระจายไปตามพื้นที่ขาดแคลนน้ำ โดยมุ่งหวังให้ผู้โพสต์ได้มาร่วมเรียนรู้เรื่องฝายมีชีวิตก่อนวิพากษ์วิจารณ์

ดร.ทวน อุปจักร แกนนำชุมชนจิตอาสาและเครือข่ายฝายมีชีวิต อ.บ่อเกลือ เปิดเผยว่า ผู้โพสต์เป็นกลุ่มที่ถ่ายทำสารคดีจากบริษัทเอกชนที่มาติดต่อสอบถามข้อมูล และขอสัมภาษณ์ตนเกี่ยวกับปลากองในลำน้ำมาง ซึ่งไม่คิดว่าจะมีการโพสต์ในลักษณะตำหนิการทำฝายมีชีวิตที่รุนแรงเนื่องจากไม่เกี่ยวกัน เพราะลำน้ำมางและลำน้ำว้าไม่มีการทำฝายมีชีวิต

ส่วนระบบนิเวศลำน้ำมางที่เสียหายเกิดจากการมาขุดลอกลำน้ำเมื่อปี 2558 ซึ่งครั้งนั้นชาวอำเภอบ่อเกลือ ได้ร่วมกันลุกขึ้นมาปกป้อง แต่ระบบนิเวศก็ได้เสียหายไปแล้ว

“ในฐานะที่ผมเป็นเครือข่ายฝายมีชีวิต ทราบดีว่าฝายเป็นเครื่องมือที่ช่วยแก้ปัญหาน้ำในพื้นที่อำเภอบ่อเกลือได้ และชาวอำเภอบ่อเกลือมีความต้องการฝายมีชีวิตเพื่อจัดการเรื่องน้ำแล้ง-น้ำป่าหลาก ซึ่งข้อความที่โพสต์ก็กระทบจิตใจและความรู้สึกของคนอำเภอบ่อเกลือด้วย”

ตนได้พยายามอธิบายให้ผู้โพสต์รับฟังข้อมูลและข้อเท็จจริงแล้ว เพราะตนได้ทำงานวิจัยเรื่องปลากอง และฝายมีชีวิตระดับพื้นที่อำเภอบ่อเกลือ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย หรือ (สกว.) มาด้วย แต่ผู้โพสต์ก็ยกอ้างงานวิจัยหลายชุดมาอ้างอิง และก็ไม่ได้มีการขอโทษ หรือถอดกระทู้ออกจากโลกโซเชียลฯ

นางสุภาพ สิริบรรสพ เลขานุการศูนย์ประสานงานประชาคมจังหวัดน่าน ผู้ที่ขับเคลื่อนฝายมีชีวิตเพื่อแก้ปัญหาเรื่องน้ำในระดับ 17 จังหวัดภาคเหนือ จนได้ฉายา “เจ้าแม่ฝายมีชีวิต” กล่าวว่า ฝายมีชีวิต มีองค์ประกอบที่เรียกว่า 3 ขา คือ ต้องทำเวทีประชาเข้าใจ ต้องไม่มีค่าแรง และต้องมีกฎกติกาในการใช้และดูแลรักษาฝาย ถึงจะเป็นฝายมีชีวิต ซึ่งกว่าจะได้ฝายแต่ละตัว ต้องเป็นความต้องการและความเข้าใจเพื่อแก้ปัญหาเรื่องน้ำของชุมชนอย่างแท้จริง

นางสุภาพบอกว่า ฝายมีชีวิตเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้กักเก็บน้ำและความชุ่มชื้นให้กับดินโดยรอบตัวฝาย 1 ตารางกิโลเมตร ใช้วัสดุธรรมชาติที่หาได้ง่าย ไม้ไผ่ ทราย ส่วนเรื่องกระสอบพลาสติกและเชือกใยยักษ์ ใช้เพราะคุณสมบัติที่ทนทานในน้ำเพื่อยืดอายุของตัวฝาย ซึ่งกระสอบพลาสติกหากนำไปเผาหรือฝังก็ยังเป็นมลภาวะ จึงนำคุณสมบัติเอามาช่วยทำให้ฝายมีชีวิตแข็งแรง แต่จะไม่เป็นขยะในแหล่งน้ำ เนื่องจากชุมชนมีความรู้ที่สามารถซ่อมแซมฝายได้เอง โดยไม่ต้องหวังพึ่งงบประมาณหรือคนจากนอกชุมชนเลย ซึ่งทางมณฑลทหารบกที่ 38 และกรมทหารพรานที่ 32 ได้สร้างครูฝายมีชีวิตและครูฝายชุมชนเพื่อเป็นการเพิ่มปราชญ์ท้องถิ่นในการบริหารจัดการแหล่งน้ำโดยชุมชนอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ การออกแบบตัวฝายที่ต้องมีบันไดนิเวศทั้งหน้าและหลังตัวฝาย เพื่อจะให้สัตว์น้ำ ปลา เต่า สามารถปีนขึ้นไปวางไข่หรือผสมพันธุ์ได้ จึงทำให้ระบบนิเวศบริเวณตัวฝายสมบูรณ์ขึ้นมา มีหลายฝายที่เห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจน อย่างไรก็ตาม ทางเครือข่ายฝายมีชีวิตยินดีพร้อมรับฟังคำแนะนำและข้อติติง แต่ต้องตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้ด้วย

“การแถลงชี้แจงครั้งนี้เพื่อให้สังคมเข้าใจเรื่องฝายมีชีวิต และต้องการให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน หากผู้โพสต์มีความสนใจเรียนรู้จริง ทางศูนย์ประสานงานประชาคมจังหวัดน่านพร้อมจะนำลงพื้นที่ของชุมชนที่ต้องการทำฝายมีชีวิต”




กำลังโหลดความคิดเห็น