เชียงราย - กรมเจรจาการค้าฯ เร่งพัฒนาเกษตรกร ผู้ผลิต ผู้ค้าชาไทย ใช้เอฟทีเอดันยอดส่งออก หลังทำสถิติติดอันดับ 4 ของโลก ขณะที่ “เชียงราย” ปลูกกันเยอะสุด กลุ่มบุญรอดฯ จับมือญี่ปุ่นผลิตชาเขียวแบบต้นตำรับเจ้าแรกของอาเซียนแล้ว
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้จัดกิจกรรมสัมมนาและศึกษาดูงานเรื่อง ต่อยอดตลาดสินค้าชาไทยโดยใช้เอฟทีเอในพื้นที่ จ.เชียงราย ขึ้นตั้งแต่ 19 ก.พ. จนถึงวันนี้ (21 ก.พ.) โดยนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ, นางวนิดา ทิพย์ศักดิ์ พาณิชย์ จ.เชียงราย และคณะ ได้ตระเวนพบปะผู้ประกอบการ-เกษตรกรผู้ปลูกและผลิตชาหลายแห่ง
เช่น ร้าน Ryokancake อ.แม่ลาว บริษัทสิงห์ปาร์ค เชียงราย จำกัด อ.เมืองเชียงราย ศึกษากระบวนการผลิตชาญี่ปุ่น ณ สิงห์ปาร์ค, ร้านสวรรค์บนดินฟาร์ม แอนด์ โฮมสเตย์ อ.เมืองเชียงราย, ไร่ชาสุวิรุฬห์ชาไทย อ.แม่ลาว ฯลฯ
และในวันนี้ยังมีกำหนดจัดเสวนาหัวข้อ “ต่อยอดตลาดสินค้าชาไทยโดยใช้เอฟทีเอ” และ “การใช้เอฟทีเอในการยกระดับสินค้าสู่ตลาดเฉพาะ” ณ ไร่เชิญตะวัน ต.ห้วยสัก อ.เมืองเชียงราย โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากกรมการค้าฯ, มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, พาณิชย์ จ.เชียงราย, ผู้ประกอบการ เกษตรกร ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล ทิศทางการพัฒนาตลาดและผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย
นางอรมนเปิดเผยว่า ชาเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย มียอดส่งออกเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากแคนาดา สหรัฐอเมริกา และจีน โดยในปี 2561 มีผลผลิตชาสดประมาณ 93,309 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 27.45 แบ่งเป็นชาอัสสัม 84,231 ตัน คิดเป็นร้อยละ 90.27 ของผลผลิตชาทั้งหมด และชาจีน 9,078 ตัน คิดเป็นร้อยละ 9.73 ในปีเดียวกัน ไทยนำเข้าชา 11,639 ตัน จากจีน ร้อยละ 49 เวียดนาม ร้อยละ 25 และพม่า ร้อยละ 11
ซึ่งตามข้อตกลงเอฟทีเอไทยได้ลดภาษีนำเข้าใบชาจากอาเซียนเหลือร้อยละ 0 แล้ว ส่วนประเทศคู่ค้าเอฟทีเออื่นๆ เช่น จีนยังไม่ได้ลดภาษีใบชาให้ โดยเก็บอัตราภาษีนำเข้าร้อยละ 30 ในปริมาณ 625 ตันต่อปี และหากเกินโควตาจะต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 90 แต่ถ้าเป็นผลิตภัณฑ์ชาได้ยกเว้นการเก็บภาษีเหมือนทุกประเทศในอาเซียนแล้ว ยกเว้นพม่า ที่ยังมีการเก็บภาษีนำเข้าสำหรับใบชาอยู่ที่ร้อยละ 5 กรมจึงพยายามผลักดันเปิดตลาดภายใต้เอฟทีเอต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่เชียงราย เป็นแหล่งปลูกใบชาและผลิตผลิตภัณฑ์ชามากที่สุดในประเทศไทย รวมทั้งในปี 2563 ไทยก็จะเปิดเอฟทีเอสินค้าผลิตภัณฑ์ชากับประเทศออสเตรเลียด้วย จึงต้องเตรียมตัวรองรับ แม้ว่าจะไม่มีผลกระทบเพราะออสเตรเลียไม่ใช่ผู้ผลิต-ส่งออกชารายใหญ่ แต่เกษตรกรและผู้ประกอบการก็ต้องพัฒนาคุณภาพ
และผลจากการศึกษาดูงานในพื้นที่ จ.เชียงรายแล้วพบว่าตลาดใบชายังคงหลากหลายและป้อนอุตสาหกรรมต่างๆ ได้อีกมาก ดังนั้น หากสามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าและใช้ประโยชน์จากตลาดที่มีอยู่ ก็จะช่วยทำให้ผลผลิตสามารถป้อนตลาดในประเทศอย่างเพียงพอ และส่งออกไปยังต่างประเทศได้มากขึ้น
ทั้งนี้ จากการศึกษาดูงานดังกล่าวพบว่า บริษัท มารุเซ็น ฟู้ด (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างกลุ่มทุนญี่ปุ่นกับบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด มีการผลิตชาเขียวแบบต้นตำรับญี่ปุ่นออกสู่ตลาดได้เป็นแห่งเดียวของอาเซียน มีกำลังผลิตเดือนละประมาณ 5 ตัน และกำลังมีแผนเพิ่มผลผลิตให้ได้ 15 ตัน เพราะตลาดมีความต้องการสูง ขณะที่บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ก็ปลูกชาอู่หลงกว่า 600 ไร่
ส่วนที่ร้านสวรรค์บนดินฟาร์ม แอนด์ โฮมสเตย์ อ.เมืองเชียงราย พบว่าผู้ประกอบการได้พัฒนาการชงชาให้มีรูปแบบต่างๆ หลากหลายกว่า 50 ชนิด มีผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อ 2 แบรนด์ คือ "นมัสการ" และ "ภาวนา" ซึ่งเป็นการผสมกับสมุนไพรท้องถิ่น ส่วนที่ไร่ชาสุวิรุฬห์ชาไทย พบว่ามีเนื้อที่กว้างขวางกว่า 260 ไร่ ทำผลิตภัณฑ์ชาจำหน่ายทั้งภายในและต่างประเทศด้วยการพัฒนาถุงชาสามเหลี่ยมที่ทำจากใบข้าวโพดเพื่อความปลอดภัยและย่อยสลายได้ จนเป็นที่ยอมรับของตลาดนานาชาติด้วย
อนึ่ง ปี 2560 ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์ชา 10,775 ตัน คิดเป็นมูลค่า 958 ล้านบาท แยกเป็นส่งไปพม่า ร้อยละ 46 สหรัฐฯ ร้อยละ 27 และลาว ร้อยละ 7 ส่วนใบชามีการส่งออกในปริมาณ 2,710 ตัน คิดเป็นมูลค่า 436 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 49 เป็นการส่งออกไปยังอินโดนีเซีย ร้อยละ 25 กัมพูชา ร้อยละ 19 และจีน ร้อยละ 18