xs
xsm
sm
md
lg

แนะสร้างรั้วไฟฟ้า ขุดร่อง เลี้ยงผึ้งเป็นแนวป้องกันช้างป่ากับพื้นที่เกษตร หลังออกอาละวาดทุกวัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กาญจนบุรี - ปลัดจังหวัดกาญจนบุรี แนะสร้างรั้วไฟฟ้า ขุดร่อง เลี้ยงผึ้งเป็นแนวป้องกันช้างป่ากับพื้นที่เกษตร หลังช้างป่าออกมาอาละวาดทุกวัน

วันนี้ (16 ธ.ค.) นายอนันต์ นาคนิยม ปลัดจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า วันนี้ได้รับรายงานว่า เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ จำนวน 5 นาย โดยมีนายเกรียงไกร วิธินันทกิตต์ เป็นหัวหน้าชุด ร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอทองผาภูมิ พร้อมราษฎร และชุดจิตอาสาท้องที่ หมู่ 1-2 ต.ท่าขนุน ได้ร่วมกันปฏิบัติงานคุ้มครอง เฝ้าระวัง ติดตาม สังเกตการณ์พฤติกรรมช้างป่าในท้องที่ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี

โดยเวลาประมาณ 16.00 น.ของวันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมา คณะเจ้าหน้าที่ได้เฝ้าระวังสังเกตการณ์ช้างป่าบริเวณป่าบ้านหนองแดง ต.ท่าขนุน ค่าพิกัดที่ 47P 0462246E 1624640N และบริเวณบ้านเสาหงษ์ ต.ท่าขนุน ค่าพิกัดที่ 47P 0462731E 1626321N

เวลา 20.00 น. คณะเจ้าหน้าที่ชุดเฝ้าระวังบริเวณบ้านเสาหงษ์ ม.2 ต.ท่าขนุน ตรวจพบช้างป่า จำนวน 9 ตัว ค่าพิกัดที่ 47P 0463086E 1626183N จึงทำการผลักดันออกจากไร่มันสำปะหลังให้กลับข้ามถนนกลับเข้าป่า และเฝ้าระวังสังเกตการณ์บริเวณดังกล่าว

และล่าสุด วันนี้ (16 ธ.ค.) คณะเจ้าหน้าที่ติดตามตรวจสอบร่องรอยช้างป่ามุ่งหน้าหากินเข้าหลบพักอาศัยบริเวณค่าพิกัดที่ 47P 0462522E 1625887N จำนวน 35-40 ตัว โดยแหล่งที่หลบพักอาศัยของช้างป่าอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ

จากรายงานได้มีการเสนอแนะถึงปัญหาว่า ช้างป่าติดใจรสชาติอาหารพืชไร่ที่ปลูก เช่น ข้าวโพด กล้วย มะพร้าว โดยช้างป่าไม่ได้อยู่รวมกันเป็นโขลงใหญ่ แต่ได้แยกกระจายกันออกไปหากินพืชไร่ โดยคณะเจ้าหน้าที่และราษฎรเริ่มอ่อนล้าจากการเฝ้าระวังติดต่อกันเป็นเวลาหลายวันแล้ว

นายอนันต์ นาคนิยม ปลัดจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า ปัญหาช้างป่า เราจะเชื่อว่าเป็นเพราะคนเข้าไปบุกรุกทำการเกษตรในพื้นที่ป่าหรือพื้นที่ที่ช้างป่าเคยหากินอยู่ก่อน แต่ผมเชื่อว่าส่วนหนึ่งมาจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนช้างป่าที่ตกลูกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปี ทำให้ช้างมีความต้องการอาหาร และพื้นที่ในการหาอาหารเพิ่มขึ้น พื้นที่เกษตรกรรมเป็นพื้นที่ที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์มากกว่าอาหารช้างตามธรรมชาติในป่า

การแก้ไขควรใช้มาตรการหลายๆ มาตรการประกอบกัน เช่น 1.การสร้างแนวป้องกันพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตรกรรม เช่น แนวรั้วไฟฟ้า การขุดร่องเพื่อป้องกันช้างป่า เป็นต้น 2.การเพิ่มอาหารช้างในป่า โดยการปลูกพืชอาหารช้าง การสร้างฝายชะลอน้ำ เพื่อให้มีแหล่งน้ำในป่า การสร้างโป่งเทียม เป็นต้น

3.การใช้วิธีการอื่นๆ เช่น การเลี้ยงผึ้ง ซึ่งมีการทดลองเลี้ยงแล้วพบว่าบริเวณที่มีผึ้งอยู่ช้างจะไม่เข้าไปหากิน 4.ทำอย่างไรให้ชาวบ้านมีรายได้จากการที่ช้างป่าออกมาอยู่ในชุมชน ซึ่งเป็นเรื่องยากแต่ก็เป็นเรื่องที่น่าคิด เพราะอย่างไรก็ตามช้างยังต้องการอาหาร ส่วนคนก็ต้องการพื้นที่ในการเพาะปลูกเพื่อสร้างรายได้

สุดท้ายคือ ทำอย่างไรให้คนอยู่กับช้างให้ได้ หรือช้างอยู่กับคนให้ได้ โดยคนไม่ทำร้ายช้างและช้างไม่รบกวนคน หรือลดการรบกวนให้อยู่ด้วยกันได้อย่างยั่งยืนตลอดไป




กำลังโหลดความคิดเห็น