xs
xsm
sm
md
lg

พรุ่งนี้รูปหล่อ “จ่าแซม” ถึงถ้ำหลวง ศิลปินยกภาพ “เดอะฮีโร่-นางนอน” ติดตั้งรอแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เชียงราย - สล่าเก๊าเผยศาลาอนุสรณ์ปฏิบัติการถ้ำหลวงคืบแล้ว 95% บอกใช้ดินสีเหลืองทองทำไม่ต้องทาสี ขณะที่ อ.เฉลิมชัย-ศิลปินเชียงรายนำภาพ The Heroes-ภาพนางนอน ติดตั้งแล้ว รอรูปหล่อ “จ่าแซม-วีรบุรุษถ้ำหลวง” ถึงพรุ่งนี้

ขณะนี้ศิลปินชาวเชียงราย ซึ่งได้ร่วมกันวาดภาพปฏิบัติการช่วยเหลือทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมีจำนวน 13 คน ซึ่งติดอยู่ในถ้ำหลวง วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย ระหว่างเดือน มิ.ย.-ก.ค.ที่ผ่านมา หรือภาพ "THE HEROES" ยาว 13 เมตร กว้าง 3 เมตร ได้ช่วยกันขนย้ายภาพดังกล่าวจากวัดร่องขุ่น ต.ป่าอ้อดอนชัย อ.เมืองเชียงราย ไปติดตั้งภายในศาลาอนุสรณ์สถานตั้งอยู่หน้าถ้ำหลวงแล้ว พร้อมกับภาพ "นางนอน" ซึ่งเป็นภาพขนาดยาว 4 เมตร กว้าง 3 เมตร มีเนื้อหาเกี่ยวกับตำนานดอยนางนอนจำนวน 2 ใบไปติดตั้งประกอบด้านข้างด้วย

หลังจากที่อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติชาวเชียงราย ได้สนับสนุนงบประมาณส่วนตัว 10 ล้านบาท พร้อมร่วมกับศิลปินชื่อดังดำเนินการก่อสร้างอาคารศาลาอนุสรณ์สถานปฏิบัติการถ้ำหลวงดังกล่าวเป็นอาคารไม้สักทั้งหลังยาว 20 เมตร และมีห้องน้ำแยกออกเป็นอีกจำนวน 20 ห้อง ใกล้แล้วเสร็จ

อาจารย์สมลักษณ์ ปันติบุญ ศิลปินช่างไม้มือหนึ่ง ซึ่งเป็นแม่งานในการก่อสร้างอาคารศาลาอนุสรณ์สถาน กล่าวว่า ศาลาไม้หลังนี้สร้างมาได้ 4 เดือน แต่คืบหน้ากว่า 95% แล้ว เหลือเพียงงานตกแต่งทั่วไป เพราะทุกคนทุ่มเทแรงกายแรงใจ หากว่าเป็นการก่อสร้างปกติคงใช้ระยะเวลาร่วม 1 ปีครึ่งจึงจะแล้วเสร็จ

ทั้งนี้ ศาลาสร้างด้วยศิลปะให้มีความกลมกลืนกับธรรมชาติมากที่สุด และใช้ศิลปะร่วมสมัย มีช่องระบายอากาศที่มีการฉลุลายไม้เป็นลวดลายของชาวไทใหญ่ ไทลื้อ ฯลฯ ที่เป็นเอกลักษณ์เอาไว้ระหว่างชั้นหลังคาที่มี 2 ชั้น และผนังทุกด้านเพื่อให้มีลมถ่ายเทได้ตลอดทั้งปี ส่วนด้านหน้าใช้กระจก เนื่องจากอาจารย์เฉลิมชัยมีความเป็นห่วงว่าถ้ามีความชื้นมากจะทำให้ภาพเสียหายได้ ซึ่งตนยืนยันว่าเมื่อมีช่องระบายอากาศเช่นนี้จะช่วยลดความชื้นลงได้เพราะในห้องไม่มีเครื่องปรับอากาศ

อาจารย์สมลักษณ์กล่าวอีกว่า การสร้างศาลาที่หน้าถ้ำหลวง เราได้พบสิ่งวิเศษสุดอีกประการคือ ดินที่ใช้ก่อสร้าง ซึ่งได้มาจากการขุดเสาตอม่อบริเวณใต้จุดก่อสร้าง เป็นดินที่ละเอียด นุ่มและมีสีทองด้วย เมื่อนำมาใช้ผสมกับคอนกรีตในอัตรา 15% ต่อ 85% ทำให้เกิดพื้นผิวงานคอนกรีตเทและฉาบที่ผนังมีสีทองที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะโดยที่ไม่ต้องใช้สีทาแต่อย่างใด รวมทั้งยังกลมกลืนเข้ากันได้กับสีไม้สัก หลังคา และธรรมชาติรอบข้างที่เป็นป่าเขาเขียวขจีอีกด้วย

“ผมมีประสบการณ์ในการทำงานดินมายาวนานกว่า 30 ปี ยังไม่เคยพบเห็นดินที่งดงามอย่างนี้มาก่อน เพราะมีส่วนผสมของเหล็กออกไซด์ ทำให้เนื้อดินมีสีทองนุ่มอย่างไม่น่าเชื่อ เหมือนกับโคลนที่ไหลออกมาจากถ้ำช่วงที่เจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือเด็กๆ และคงเป็นชนิดเดียวกันเพราะอยู่ในที่เดียวกัน”

อาจารย์สมลักษณ์กล่าวอีกว่า ส่วนฐานด้านหน้าศาลาอนุสรณ์สถานก็ได้จัดเตรียมให้มีความพร้อมในการรองรับอนุสาวรีย์รูปหล่อ นาวาตรี สมาน กุนัน หรือจ่าแซม ผู้เสียสละชีวิตในปฏิบัติการช่วยเหลือเด็กๆ ในถ้ำแล้ว โดยจะนำไปติดตั้งในวันที่ 13 ธ.ค.นี้ต่อไป





กำลังโหลดความคิดเห็น