xs
xsm
sm
md
lg

4 มหาวิทยาลัยร่วม จ.อุดรฯ เปิดฟังความเห็นผลกระทบโครงการถไฟความเร็วสูง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อุดรธานี - ม.ราชภัฏนครราชสีมา ร่วมจังหวัดอุดรธานี ม.ราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ม.ราชภัฏอุดรธานี และ ม.ราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น เปิดรับฟังความเห็นโครงการการศึกษาผลกระทบโครงการรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคเส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย

วันนี้ (29 ต.ค.) ที่อาคาร 17 มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เป็นประธานการประชุมเวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการการศึกษาผลกระทบการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคเส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย (ช่วงอุดรธานี-หนองคาย) โดยมีผู้แทนจากส่วนราชการ ภาคเอกชน นักศึกษา ประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียในจังหวัดอุดรธานี หนองคาย เข้าร่วมประชุม

โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.วิเชียร ฝอยพิกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา นายธนพล จรัลวณิชวงศ์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ สนข. และอาจารย์พงศธร แสงลี ดำเนินการชี้แจงเสวนาซักถามรับฟังข้อเสนอแนะและตอบข้อซักถาม

โดยการศึกษาผลกระทบทางสังคมจากการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-หนองคาย ตามนโยบายรัฐบาลที่ทำความร่วมมือพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟระหว่างประเทศไทย และสาธารณรัฐประชาชนจีน เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะทาง 837 กิโลเมตร ที่เป็นการเชื่อมต่อเส้นทางคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งโครงการดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบเชิงบวกและลบ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามเส้นทางที่รถไฟวิ่งผ่าน บริเวณสถานีรถไฟ จังหวัด และอำเภอที่สถานีรถไฟตั้งอยู่


ทั้งนี้ เวทีรับฟังความคิดเห็น ผลกระทบจากการดำเนินโครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-หนองคาย (ช่วงอุดรธานี-หนองคาย) ได้กำหนดกรอบการวิจัยออก 6 ประเด็นหลัก

ประกอบด้วย สถานภาพปัจจุบันของพื้นที่ที่ทางรถไฟวิ่งผ่าน 6 จังหวัด ศึกษาผลกระทบด้านการก่อสร้างและบริบทสังคมที่เปลี่ยนไป ศึกษาผลกระทบด้านการค้าการลงทุนที่มีผลต่อการเพิ่มโอกาสขยายตัวทางเศรษฐกิจ ศึกษาผลกระทบที่มีต่อการท่องเที่ยวบริการและการขยายตัวการใช้พื้นที่ ศึกษาผลกระทบด้านการเคลื่อนย้ายประชากรและจัดทำข้อมูลเสนอแนะเชิงนโยบายจากการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง

โดยจะมีการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อประมวลผลข้อมูลในภาพรวม พร้อมจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายสำหรับรัฐบาล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผน และจัดเตรียมมาตรการรับรองผลกระทบที่เกิดขึ้นในอนาคต


กำลังโหลดความคิดเห็น